การค้าปลีกอาหารทะเลทุกประเภทในสหรัฐฯตกต่ำ

 

แม้ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯแสดงแนวโน้มว่าบรรเทาลง และราคาอาหารทะเลทุกประเภทในเดือนสิงหาคม 2023 ลดต่ำกว่าในเดือนสิงหาคม 2022 ในระดับที่ต่ำกว่าระดับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งถือได้ว่าเป็นราคาที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากกว่าเดิม แต่รายงานยอดขายและปริมาณขายปลีกสินค้าอาหารทะเลในเดือนสิงหาคม 2023 แสดงผลว่าตกต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สร้างความงุนงงให้กับผู้เกี่ยวข้องในวงการอาหารทะเลสหรัฐฯที่ไม่สามารถหาเหตุผลได้ว่าทำไมยอดขายและปริมาณขายถึงลดลง

 

สถานการณ์อาหารทะเลในตลาดปลีกสหรัฐฯในเดือนสิงหาคม 2023 สรุปได้ ดังนี้

สินค้าอาหารทะเลสด แม้ว่าราคาขายจะลดลงร้อยละ 0.9 แต่ปริมาณขายลดลงร้อยละ 6.6 และยอดขายลดลงร้อยละ 7.4 เหลือ 595 ล้านเหรียญฯ ทั้งนี้ ราคาอาหารทะเลที่มีเปลือกลดลงร้อยละ 3.6 ปูสดราคาลดลงถึงร้อยละ 17.5 แม้ว่าปริมาณขายปูสดจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 แต่ยอดขายลดลงร้อยละ 6.5 ปลาแซลมอนสด ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ปริมาณขายลดลงร้อยละ 4.8 ยอดขายลดลงร้อยละ 4.1 ปลาแซลมอนแช่เยือกแข็งราคาลดลงร้อยละ 1.9

 

สินค้าอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง การค้าปลีกอาหารทะเลทุกประเภทในสหรัฐอเมริกาตกต่ำราคาโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เป็นอัตราการเติบโตของราคาที่ต่ำกว่าเดือนกรกฏาคมก่อนหน้า แต่ปริมาณขายลดลงร้อยละ 8.1 ยอดขายลดลงร้อยละ 7.7 เหลือ 619 ล้านเหรียญฯ

 

สินค้าอาหารทะเลประเภท shelf-stable ราคาโดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 0.8 ปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ยอดขายเติบโตร้อยละ 1.9

 

ที่มา: SeafoodSource: “US retail seafood sales plummeted in August, defying deflationary price trends”, by Ch ristine Blank, Sept. 19, 2023

 

ข้อมูลเพิ่มเติม ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สคต ลอสแอนเจลิส

1. ภาพรวมตลาดอาหารทะเลสหรัฐฯในปัจจุบัน (ที่มา: Mordor Intelligence):
1.1 ประมาณการณ์มูลค่าตลาดอาหารทะเลสหรัฐฯในปี 2023 ว่าจะเท่ากับ 24.51 พันล้านเหรียญฯ คาดการณ์อัตราเติบโตของตลาดในระหว่างปี 2023 – 2028 ที่ร้อยละ 0.77 และในปี 2028 มูลค่าตลาดจะบรรลุ 25.46 พันล้านเหรียญฯ

 

1.2 ประเภทของอาหารทะเลที่เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือ อาหารทะเลประเภทปลา นำโดยปลาแช่เยือกแข็ง เนื่องจากเป็นอาหารทะเลที่พร้อมรับประทาน มีราคาไม่แพง และมีอายุเก็บไว้ได้นาน

 

1.3 รูปแบบ (format) ของอาหารทะเลที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดคือ อาหารทะเลแช่เยือกแข็งและอาหารทะเลกระป๋อง เนื่องจากมีอายุเก็บไว้ได้นานและมีการเพิ่มคุณค่าอาหารไว้ในสินค้า

 

1.4 อาหารทะเลประเภทที่มีการเติบโตของตลาดรวดเร็วที่สุดคือ กุ้ง

 

1.5 รูปแบบอาหารทะเลที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดคือ อาหารทะเลมูลค่าเพิ่ม (processed seafood) ในรูปของอาหารทะเลพร้อมรับประทานหรือพร้อมที่จะนำไปปรุงแต่งได้อย่างรวดเร็ว ที่ตอบสนองรูปแบบการดำรงชีวิตของคนอเมริกันในปัจจุบันได้ดีที่สุด

 

2. สหรัฐฯมีอุตสาหกรรมประมงและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทะเล แต่ผลผลิตไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศและลดความสามารถของสินค้าอาหารทะเลสหรัฐฯในการแข่งขันในตลาดการค้าโลก ส่งผลให้สหรัฐฯเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารทะเลอย่างแท้จริง และเป็นผู้นำเข้าปลาและปลามูลค่าเพิ่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณการณ์ว่าระหว่างร้อยละ 70 – 85 ของอาหารทะเลที่บริโภคในสหรัฐฯเป็นอาหารทะเลนำเข้าและเกินกว่าครึ่งหนึ่งของอาหารทะเลนำเข้าสหรัฐฯเป็นอาหารทะเลจากฟาร์มเลี้ยง

 

รัฐบาลสหรัฐฯทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับมลรัฐผลิตอาหารทะเล ได้พยายามดำเนินการทุกวิถีทางที่จะเพิ่มอำนาจการแข่งขันในตลาดการค้าภายในประเทศและในตลาดการค้าโลกให้แก่ผู้ผลิตสหรัฐฯ และเพิ่มการบริโภคอาหารทะเลที่ผลิตได้ในสหรัฐฯ แต่ประสบความสำเร็จน้อยมาก

 

ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารทะเลสหรัฐฯกำลังวางแผนดำเนินกลยุทธใหม่ที่เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มอำนาจการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมอาหารทะเลสหรัฐฯ กล่าวคือ ธุรกิจค้าอาหารทะเลรายใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Trident Seafoods และ Pacific Seafood องค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการประมง เช่น National Fisheries Institute (NFI) และวุฒิสมาชิกจากรัฐ Alaska ที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลมีความสำคัญสูงสุดต่อเศรษฐกิจของรัฐ ร่วมมือกันดำเนินการเพื่อให้รัฐสภาสหรัฐฯพิจารณาจัดทำนโยบายอาหารทะเลบรรจุไว้ในกฎหมาย 2023 Farm Bil lเพื่อให้เกิดโปรแกรมต่างๆที่เป็นการสนับสนุนจากภาครัฐฯ รวมถึงการสนับสนุนทางการเงิน ที่จะสร้างโอกาสการแข่งขันในตลาดการค้า ทั้งในสหรัฐฯและในต่างประเทศ ให้แก่ชาวประมงและผู้ประกอบการอาหารทะเลสหรัฐฯ ที่รวมถึงให้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นในกระทรวงเกษตรสหรัฐฯเพื่อทำงานเรื่องอาหารทะเลโดยเฉพาะ โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมและตลาดอาหารทะเลสหรัฐฯกำลังเปลี่ยนรูป ผู้ประกอบการมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ระบบห่วงโซ่อุปทานไม่มั่นคง และสินค้าต่างชาติจำนวนมากกำลังเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ส่งผลให้ในปี 2022 สินค้าที่ผลิตได้ในสหรัฐฯจำนวนมากเหลือค้างสต๊อก ความต้องการบริโภคในประเทศอ่อนตัว ราคาสินค้าปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำที่สุดในหลายรอบทศวรรษที่กำลังทำให้ราคาในตลาดค้าส่งอยู่ในสภาวะล่มสลาย

 

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารทะเลสหรัฐฯ เป็นการสนับสนุนร่างกฎหมาย National Seafood Supply Act of 2023 ของวุฒิสมาชิก Dan Sullivan จากรัฐ Alaska ที่เสนอให้จัดตั้ง Office of Seafood Policy and Program Integration ขึ้นใน Office of the Chief Economist, U.S. Department of Agriculture เพื่อทำงานประสานกับ U.S. Department of Commerce และ U.S. Trade Representative ในการส่งเสริมอาหารทะเลสหรัฐฯ ทั้งนี้วุฒิสมาชิก Debbie Stabenow จากรัฐ Michigan ที่เป็นหนึ่งในวุฒิสมาชิกที่ทำหน้าที่ต่อรองงบประมาณการใช้จ่ายเงินใน Farm Bill ระบุว่า จะเร่งให้กฎหมาย 2023 Farm Bill ผ่านออกมาให้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2023 หรือสามเดือนหลังจากที่ Farm Bill ฉบับปัจจุบันหมดอายุลงในวันที่ 30 กันยายน 2023

 

3. สรุปการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากประเทศไทย: มูลค่านำเข้าอาหารทะเลจากประเทศไทยของสหรัฐฯส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าอาหารทะเลแปรรูป รหัสศุลกากรสหรัฐฯ HS16 ในปี 2022 มูลค่านำเข้าจากประเทศไทยรวมกัน 1,065,393,939 เหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ร้อยละ 16.88 มูลค่านำเข้าจากประเทศไทยในระหว่าง 7 เดือนแรก (มกราคม – กรกฏาคม 2023) รวมกัน 506,917,977 เหรียญฯ ลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2022 ร้อยละ 16.98

 

การนำเข้าอาหารทะเลสดและแช่เยือกแข็ง รหัสศุลกากรสหรัฐฯ HS03 ในปี 2022 มูลค่านำเข้าจากประเทศไทยรวมกัน 287,461,664 เหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ร้อยละ 8.35 มูลค่านำเข้าในระหว่าง 7 เดือนแรก (มกราคม – กรกฏาคม 2023) รวมกัน 125,757,900 เหรียญฯ ลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2022 ร้อยละ 21.66 สินค้ากุ้งมีมูลค่านำเข้าสหรัฐฯสูงที่สุดแต่แสดงแนวโน้มลดลงต่อเนื่องติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2018 และในระหว่าง 7 เดือนแรก (มกราคม – กรกฏาคม) 2023 มูลค่านำเข้ากุ้งไทยยังคงลดลงร้อยละ 33.05

 

ในระหว่าง 7 เดือนแรก (มกราคม – กรกฏาคม 2023) มูลค่านำเข้าอาหารทะเลทุกรายการ ทั้งที่เป็นอาหารทะเลสดและอาหารทะเลแปรรูป ลดลงทั้งสิ้น ยกเว้น อาหารเนื้อปลาสด แช่เย็น หรือแช่เยือกแข็ง รหัสศุลกากรสหรัฐฯ HS0304 ที่มีมูลค่านำเข้า 41,322,169 เหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.66

 

4. สคต ลอสแอนเจลิสมีความเห็นว่า มีแนวโน้มสูงที่มูลค่านำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากประเทศไทยในปี 2023 จะลดลง นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวของภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลในสหรัฐฯในปัจจุบันที่พยายามจะบรรจุอาหารทะเลเข้าไว้ใน 2023 Farm Bill หากประสบความสำเร็จ อาจจะหมายถึงการเพิ่มขึ้นของเงื่อนไขต่างๆที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการส่งออกอาหารทะเลของไทย

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส

 

หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

thThai