สภานครแวนคูเวอร์กำหนดอาคารที่พักอาศัยสร้างใหม่ต้องมีระบบทำความเย็น

จากสภาพภูมิอากาศในแคนาดาที่ร้อนขึ้นและความเสี่ยงที่หลายพื้นที่ในประเทศจะเผชิญคลื่นความร้อนที่รุนแรงเป็นเวลานานขึ้น โดยเห็นได้จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่า อุณหภูมิในบางรัฐของประเทศพุ่งสูงเกือบ 50 องศา-เซลเซียสที่ถือว่าอยู่ในระดับอันตราย จนมีผู้เสียชีวิตจากการที่ร่างกายไม่สามารถทนความร้อนจัดได้

จากสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้สภาเมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ได้มีการอนุมัติระเบียบสำหรับการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยหลังใหม่ โดยกำหนดให้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป อาคารก่อสร้างประเภทอยู่อาศัยรวม (Multi family) เช่น คอนโดมีเนียม/อพาร์ตเมนต์ ที่มีความสูงเกิน 3 ชั้น หรือมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 600 ตารางเมตรตั้งอยู่ในเขตแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย จะต้องมีการติดตั้งระบบทำความเย็นภายในอาคาร เพื่อเป็นการบรรเทาสภาพอากาศในฤดูร้อน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือสูญเสียชีวิตจากการเกิดความร้อนสะสมในอาคารได้

สภานครแวนคูเวอร์กำหนดอาคารที่พักอาศัยสร้างใหม่ต้องมีระบบทำความเย็น

คณะทำงานฯ กล่าวว่า แม้ระบบทำความเย็นจะเพิ่มต้นทุนค่าก่อสร้างประมาณร้อยละ 3.5 แต่ก็ถือว่าเป็นมาตรการป้องกันสภาพอากาศร้อนจัดที่อาจตามมาให้กับชาวแวนคูเวอร์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และผู้มีโรคประจำตัวได้ อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้อาคารก่อสร้างรุ่นใหม่ส่วนมากจะพบการติดตั้งระบบทำความเย็นไว้อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความสบายและเป็นผลดีต่อสุขภาพผู้อยู่อาศัยมากขึ้น นอกจากนั้น สภาเมืองแวนคูเวอร์ยังกำหนดให้อาคารสร้างใหม่ต้องมีการติดตั้งแผ่นกรองอากาศ MERV 13 เพื่อป้องกันฝุ่นจากควันไฟป่าและ PM2.5 จากยานยนต์เช่นกัน

 

ด้านคุณซีซีเลีย เฮเรเดีย อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ประจำมหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ออกมาแสดงความเห็นด้วยกับระเบียบการก่อสร้างอาคารใหม่ที่จะต้องมีระบบทำความเย็น โดยอ้างถึงเหตุการณ์คลื่นความร้อนสูง (Heat Wave) เมื่อปี 2564 ได้คร่าชีวิตชาวบริติชโคลัมเบียนับหลายร้อยราย และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตกับประชาชนบางราย ซึ่งแม้ว่าระเบียบจะออกช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการป้องกันความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยที่อาจตามมา โดยเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐแวนคูเวอร์ยังสามารถศึกษาข้อมูลจากกรณีรัฐออนทาริโอ เพราะได้มีการบังคับให้อาคารที่พักอาศัยใหม่ต้องติดตั้งระบบทำความเย็นไปแล้ว

 

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงผลที่ตามมาด้านสิ่งแวดล้อม สภาเมืองแวนคูเวอร์ยังเดินหน้าให้ชาวแวนคูเวอร์หันมาติดตั้งระบบทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ นโยบายเงินช่วยเหลือสำหรับการติดตั้งระบบฮีทปั๊ม (Heat Pump) เพราะถือเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษ พร้อมกันนี้ คณะทำงานยังได้ประกาศเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากอาคารให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2573 และสามารถแตะระดับศูนย์ให้ได้ภายในปี 2583

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ แน่นอนว่า การที่ทางหน่วยงานภาครัฐจะบังคับให้อาคารที่พักอาศัยต้องมีการติดตั้งระบบทำความเย็นนั้น ย่อมสร้างโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไทยมีโอกาสส่งออกมาแคนาดามากขึ้น ซึ่งไทยเองถือว่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องปรับอากาศชั้นนำของโลกอยู่แล้ว จึงมีความได้เปรียบในการแข่งขันกว่าชาติอื่นๆ ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตควรคำนึงถึงความต้องการของตลาด ทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่สามารถช่วยแก้ปัญหา PM 2.5  รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน เพื่อจะได้สามาถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศไทยยังเดินหน้าต่อไปได้ดี


ที่มาของบทความ https://dailyhive.com/vancouver/vancouver-building-home-air-conditioning-requirement

โดย…สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา

thThai