อินเดียอนุญาตส่งออกข้าว 75,000 ตันให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังห้ามส่งออกก่อนหน้านี้

โฆษกกรมการค้าต่างประเทศ (Directorate General of Foreign Trade :DGFT) ภายใต้กระทรวง พาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย แถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (25 ก.ย.) ที่ผ่านมาว่า เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่พิเศษแล้ว รัฐบาลได้ตัดสินใจอนุญาตส่งออกข้าวให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นการเฉพาะ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศและรักษาความมั่นคงทางอาหาร โดยจะส่งออกข้าวปริมาณ 75,000 ตัน

ข้อยกเว้นการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย

การส่งออกข้าวของอินเดีย (ยกเว้นพันธุ์ Basmati) ให้ยูเออีครั้งนี้ผ่านการเห็นชอบจาก National Cooperative Exports Ltd (NCEL)  ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566  รัฐบาลอินเดียประกาศคำสั่งห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่   พันธุ์บาสมาติ ซึ่งเป็นข้าวที่มีการบริโภคกันอย่างแพร่หลาย หลังจากเพิ่งสั่งห้ามส่งออกข้าวหักไปเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของอินเดีย

ทั้งนี้เมื่อปี 2565 อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับ 1 ของโลกในปริมาณกว่า 22 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 40 ของโลก จึงเป็นที่คาดการณ์ว่ามาตรการห้ามส่งออกข้าวครั้งนี้จะกระทบต่อปริมาณข้าวในตลาดโลกราว 10 ล้านตัน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกข้าวของอินเดียในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ อินเดียยังเพิ่มการควบคุมการส่งออกข้าว โดยเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการจัดเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่งร้อยละ 20 โดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 15 ต.ค. 2566 เพื่อสกัดเงินเฟ้อภายในประเทศ ก่อนถึงกำหนดการเลือกตั้งระดับรัฐในช่วงต่อไปของปีนี้ แม้จะมีการห้ามเพิ่มขึ้น แต่อินเดียยังอนุญาตให้ส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติและธัญพืชอื่นๆ ไปยังประเทศที่เป็นมิตรและมีความเปราะบางด้านอาหารตามคําขอ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศเหล่านั้น โดยอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (DGFT) แถลงข่าวว่ารัฐบาลอนุญาตให้ส่งออกข้าวสาลี 3 แสนตันไปยังเนปาลเมื่อ วันที่ 21  ก.ค. และ 14,184 ตันไปยังภูฏาน นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติกไปยังภูฏาน (79,000 ตัน) มอริเชียส (14,000 ตัน) และสิงคโปร์ (50,000 ตัน) ผ่านความเห็นชอบของ NCEL

GCC ตลาดนำเข้าข้าวสำคัญ

ประเทศสมาชิกกลุ่ม GCC อาทิ ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี คูเวต รวมไปถึงเยเมน เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวจากอินเดียมากเป็นอันดับต้นๆ อินเดียจึงเป็นผู้เล่นสำคัญที่มีผลต่อการแปรผันของราคาข้าว ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบเสริมสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งย่อมได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้

ในขณะเดียวกัน หลายประเทศเริ่มดำเนินมาตรการรับมือผลกระทบจากปัญหาราคาอาหารโลกที่พุ่งสูง และวิกฤตการขาดแคลนอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ยูเออี ซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารที่จำเป็นเกือบร้อยละ 90 ออกคำสั่งระงับการส่งออกข้าว และการส่งออกต่อ (Reexport) ข้าวไปนอกประเทศ เป็นเวลาอย่างน้อย 4 เดือน ตั้งแต่           วันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมเขตอุตสาหกรรมพิเศษปลอดอากร (Free Zones) ในประเทศ และบังคับใช้กับข้าวทุกประเภท ซึ่งรวมถึงข้าวกล้อง ข้าวขาว และปลายข้าว

ผลกระทบต่อตลาดโลก 

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า การที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งข้าวออกรายใหญ่ที่สุด หายไปจากตลาดข้าวโลก        จะส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อข้าว ทั้งยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ต้องหันไปซื้อข้าวกับไทย เวียดนาม และประเทศผู้ส่งออกข้าวรายอื่น ด้วยราคาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

ปัจจุบันยูเออีเป็นตลาดการส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสามของอินเดีย รองจากสหรัฐอเมริกา และจีน    โดยการค้าระหว่างทั้งสองประเทศคิดเป็นมูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้อินเดียและยูเออีได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีเพื่อกระตุ้นศรษฐกิจ อาทิ ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement:CEPA) เมื่อเดือน ก.พ. 2566  ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากแต่ก่อน ที่อินเดียมักจะ ใช้เวลานานในการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ และใช้อัตรากำแพงภาษีที่สูงเพื่อปกป้องเศรษฐกิจหลายภาคส่วนของประเทศ ในขณะที่ยูเออีหวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ตนมีสถานะเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งหนึ่ง

———————————————

ที่มา : Gulfbusiness

thThai