การวิเคราะห์ตลาดผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ

การวิเคราะห์ตลาดผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ

ที่มาภาพ: https://ncp.patentstar.com.cn/Report/Report11

 

ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ผู้คนได้เริ่มตระหนักด้านความปลอดภัยและการรักษาสุขภาพ อีกทั้งทางฝั่งรัฐบาลจีนจึงให้ความสำคัญกับการดูแลทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานและสาธารณสุขมากขึ้นเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมสร้างนิสัยประชาชนชาวจีนให้ความใส่ใจเรื่องความสะอาดและใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อเพิ่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการจับจ่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 25.9 ของชาวจีนทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในบ้านด้วยความถี่ 3-5 วัน/ครั้ง นักวิเคราะห์ของ iiMedia Consulting เชื่อว่าเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดและนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อจึงมีศักยภาพในการพัฒนาในอนาคต

 

ตลาดผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อในประเทศจีน

ข้อมูลจาก iiMedia Research แสดงให้เห็นว่าเนื่องจากการแพร่ระบาด ตลาดยาฆ่าเชื้อของจีนจึงมีขนาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2563 ถึง 2565 โดยขนาดของตลาดนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าแตะ 48.55 พันล้านหยวน (ประมาณ 242.75 พันล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมูลค่าจะลดลงเหลือ 23.73 พันล้านหยวน (ประมาณ 118.65 พันล้านบาท) ในปี 2566 นักวิเคราะห์เชื่อว่าหลังการแพร่ระบาด ความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการคุ้มครองสุขภาพเพิ่มมากขึ้น พวกเขาได้เสนอข้อกำหนดที่สูงขึ้นสำหรับมาตรฐานด้านสุขภาพในที่สาธารณะ และให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของบุคคลและครอบครัวมากขึ้น ความต้องการของตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อจะยังคงมีอยู่ ช่วยให้องค์กรต่างๆ นำโอกาสและพื้นที่การพัฒนามากขึ้น

 

การวิเคราะห์ตลาดผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c400/94905.html

การวิเคราะห์ตลาดผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c400/94905.html

 

หมวดหมู่ของผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่ผู้บริโภคชาวจีนเลือกซื้อ

ข้อมูลจาก iiMedia Research แสดงให้เห็นว่าในปี 2566 หลังสถานการณ์โรคระบาดได้คลีคลายลง ชาวจีนที่ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 90 ยังคงเชื่อว่าการฆ่าเชื้อที่บ้านเป็นประจำยังคงมีความจำเป็น และมีเพียงร้อยละ 0.6 ของชาวจีนคิดว่าไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อในบ้านของตนเองอีกต่อไป โดยร้อยละ 25.9 ของชาวจีนฆ่าเชื้อในบ้านด้วยความถี่ 3-5 วัน/ครั้ง และด้วยการสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพของประชาชน ทำให้ความต้องการสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยข้อมูลจากการสำรวจ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ที่ผู้ตอบแบบสอบถามชาวจีนมากกว่าครึ่งหนึ่งเลือกซื้อ ได้แก่ น้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ ทิชชู่เปียกฆ่าเชื้อโรค โดยคิดเป็นร้อยละ 69.3 ร้อยละ 69.2 และร้อยละ 60.6 ตามลำดับ และสินค้าที่ได้รับความนิยมลองลงมา ได้แก่ เครื่องฆ่าเชื้อเครื่องฟอกอากาศ ตู้ฆ่าเชื้อ และหลอดยูวีฆ่าเชื้อ ตามลำดับ

 

การวิเคราะห์ตลาดผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1020/96084.html

 

สำรวจช่องทางการซื้อและปัจจัยที่ชาวจีนใช้ในการเลือกซื้อน้ำยาฆ่าเชื้อ

ข้อมูลจากการสำรวจด้วยแบบสอบถามของทีม iiMedia Research ระบุว่าในปี 2566 ช่องทางหลักที่ผู้บริโภคชาวจีนจะเลือกซื้อยาฆ่าเชื้อคือร้านค้าบนแพลตฟอร์ม e-commerce ร้านขายยาทั่วไป และซุปเปอร์มาเก็ต ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 63.0 ร้อยละ 60.9 และร้อยละ 53.6 ตามลำดับ นักวิเคราะห์เชื่อว่าแบรนด์ต่าง ๆ ควรใช้รูปแบบ Omni-channel โดยจัดจำหน่ายทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ และผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

 

และจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง ปัจจัยที่ผู้บริโภคชาวจีนใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อ ได้แก่ ส่วนผสมและความปลอดภัยของส่วนผสมเป็นหลัก โดยคิดเป็นร้อยละ 71.2 และร้อยละ 61.5 ตามลำดับ และตามด้วย ราคา ยี่ห้อ กลิ่น การพกพา รูปลักษณ์ของตัวสินค้า

 

การวิเคราะห์ตลาดผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1020/96084.html

 

ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องความตระหนักรู้ด้านสุขภาพของผู้บริโภคชาวจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความต้องการใช้งานผลิตภัณฑ์ก็เริ่มมีความแตกต่างกันของแต่ละบุคคลมากขึ้นเช่นกัน ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อจะถูกแบ่งกลุ่มตามลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน เช่นการฆ่าเชื้อตะเกียบ การฆ่าเชื้อมีด หรือการฆ่าเชื้อแปรงสีฟัน ฆ่าเชื้อชั้นวาง เป็นต้น ด้วยการความหลากหลายของการแบ่งกลุ่มตามความต้องการใช้งานนี้จะสร้างแรงผลักดันใหม่ในการส่งเสริมและพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อในครัวเรือน

 

การวิเคราะห์ตลาดผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c400/94905.html

 

เอกสารที่ใช้ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ

  1. แบบคำขอใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ
  2. รายงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์
  3. สูตรผลิตภัณฑ์
  4. คำอธิบายโดยย่อและแผนภาพของกระบวนการผลิต
  5. มาตรฐานคุณภาพ
  6. บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ (รวมถึงฉลากผลิตภัณฑ์)
  7. คู่มืออธิบายผลิตภัณฑ์
  8. เอกสารที่พิสูจน์ว่าประเทศ (ภูมิภาค) ที่ผลิตผลิตภัณฑ์อนุญาตให้มีการผลิตและจำหน่าย
  9. หากรายงานในนามของตัวแทน ควรจัดเตรียมหลักฐานการมอบหมายจากหน่วยงาน
  10. ข้อมูลอื่น ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ในการทบทวน
  11. รายงานการตรวจสอบและข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่ออกโดยหน่วยงานตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองโดยจัดเรียงตามลำดับดังต่อไปนี้
    • แบบฟอร์มคำขอตรวจสอบ
    • ประกาศการยอมรับการตรวจสอบ
    • คู่มือผลิตภัณฑ์
    • รายงานการตรวจสอบทางกายภาพและเคมี
    • รายงานผลการทดสอบผลการฆ่าจุลินทรีย์
    • รายงานผลการทดสอบความปลอดภัยด้านพิษวิทยา
    • รายงานการตรวจสอบอื่น ๆ ที่กำหนดโดยกฎการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ

 

ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้

จากสถิติและการสำรวจชาวจีนเกี่ยวกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 พฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก รวมถึงชาวจีนเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนตระหนักถึงการรักษาความสะอาดมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกลายเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน และถือเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่และที่มีศักยภาพในการเติบโต อีกทั้งยังมีฐานลูกค้าค่อนข้างกว้างทุกเพศทุกวัย โดยประเภทที่มีปริมาณการซื้อมากที่สุด ได้แก่ น้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ และเจลทำความสะอาดมือ และในปัจจุบันมีแบรนด์ทั้งของจีนและแบรนด์นำเข้ามากมายที่จัดจำหน่ายในตลาดจีน โดยผู้บริโภคชาวจีนค่อนข้างกังวลและให้ความสำคัญคือส่วนผสมและความปลอดภัยของส่วนผสมในตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกซื้อที่สำคัญมากกว่าราคาและแบรนด์ ซึ่งหากธุรกิจของไทยมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เข้ามาจำหน่ายยังประเทศจีน ควรเน้นด้านความปลอดภัยของส่วนผสมเป็นหลัก รวมถึงใช้จุดเด่นด้านความปลอดภัยในการโฆษณา นอกจากนี้ หนึ่งในวิธีการลดต้นทุนและความเสี่ยงได้แก่การเริ่มจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางที่ชาวจีนนิยมใช้ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้สามารถตั้งราคาของผลิตภัณฑ์ที่ไม่สูงเกินไป และไม่สูงเกินกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันของแบรนด์ตามท้องตลาดของจีน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดจีนได้

________________________________________________________________________________

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

วันที่ 6 ตุลาคม 2566

 

แหล่งที่มา

https://www.iimedia.cn/c1020/96084.html

https://www.iimedia.cn/c400/94905.html

https://www.gov.cn/govweb/fwxx/bw/wsb/content_821555.htm

thThai