การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกของบังกลาเทศมีความหวังมากขึ้นจากการได้รับข้อเสนอเงินกู้ 395 ล้านยูโรจากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (the European Investment Bank-EIB) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้กู้ยืมของสหภาพยุโรป เงินกู้ดังกล่าวจะสนับสนุนโครงการพลังงานสีเขียวที่จะช่วยให้บังกลาเทศลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากจำนวนเงินทั้งหมด 45 ล้านยูโรจะได้รับการสนับสนุนแบบให้เปล่า และส่วนที่เหลืออีก 350 ล้านยูโรจะเป็นเงินกู้
ข้อตกลงอย่างเป็นทางการมีกำหนดลงนามในเบลเยียมระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคม 2566 โดยนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา Md Habibur Rahman เลขาธิการอาวุโสฝ่ายพลังงานได้แถลงข่าวว่า “รัฐบาลบังกลาเทศได้เพิ่มการมุ่งเน้นไปที่พลังงานทดแทน และเงินทุนของสหภาพยุโรปจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศ”
บังกลาเทศมีความคืบหน้าในการนำแหล่งพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนมาใช้และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทร่วมทุนที่นำโดย ACWA Power Company จากซาอุดีอาระเบีย พร้อมด้วยบริษัทท้องถิ่น 2 แห่ง ตกลงที่จะจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศในตำบล Rampal อำเภอ Bagerhat ด้วยเงินลงทุน 430 ล้านดอลลาร์
ในเดือนเดียวกันนั้น ปีเตอร์ ฮาส เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำบังกลาเทศเปิดเผยว่าบริษัทการลงทุนสัญชาติอเมริกัน Blackstone กำลังสำรวจโอกาสในการลงทุนในภาคพลังงานแสงอาทิตย์ของบังกลาเทศอย่างแข็งขัน
กำลังการผลิตพลังงานสะอาดของบังกลาเทศ
จากข้อมูลของหน่วยงานพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนและทดแทน (Sustainable and Renewable Energy Development Authority) ปัจจุบันบังกลาเทศผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกหรือหมุนเวียนได้ 825.45 เมกะวัตต์ จากระบบออนกริด และ 369.16 เมกะวัตต์ จากระบบออฟกริด รวมเป็น 1,194.63 เมกะวัตต์ และจากจำนวนพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Cell) จำนวน 960.64 เมกะวัตต์ จากพลังงานลม 2.9 เมกะวัตต์ และจากพลังน้ำ 230 เมกะวัตต์
ตามรายงานของสำนักงานพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแตปี 2556 บังกลาเทศผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพียง 329 เมกะวัตต์หรือประมาณร้อยละ 2.9 ของพลังงานทั้งหมด และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 775 เมกะวัตต์ ในปี 2565
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี พ.ศ. 2584 และจะนำเข้าประมาณ 9,000 เมกะวัตต์ ภายใต้ความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคจากประเทศเพื่อนบ้าน
ปัจจุบัน บังกลาเทศมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 27,361 เมกะวัตต์ เทียบกับความต้องการ 15,500-16,000 เมกะวัตต์
แผนแม่บทสำหรับพลังงานสีเขียว
บังกลาเทศก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่ได้พัฒนาแผนแม่บทสำหรับพลังงานหมุนเวียน รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 4,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573
นอกจากการผลิตพัฒนาแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วไปแล้ว แผนแม่บทยังกำหนดแผนและเป้าหมายการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งหมุนเวียนและการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศภายใต้การค้ากระแสไฟฟ้าข้ามพรมแดน
การลงทุนใหม่ๆ ในด้านพลังงานหมุนเวียน
ในเดือนสิงหาคมของปีนี้ นายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา ได้เปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Teesta ขนาด 200 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในบังกลาเทศ
ในเดือนเดียวกันนี้ ยังมีการติดตั้งแผง Solar Cell บนพื้นที่ 350 เอเคอร์ใน Rampal โดย Energy Renewables ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Orion Group มีกำลังการผลิต 134.3 เมกะวัตต์
ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า
จากข้อมูลจากคณะกรรมการพัฒนาพลังงานของบังกลาเทศ (BPDB) ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าดีเซลอยู่ที่ 22 ตากา (ประมาณ 7.2 บาท)
ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อยู่ที่ 10 ตากาต่อหน่วย (ประมาณ 3.3 บาท) จากถ่านหินท้องถิ่นใน Barapukuria อยู่ที่ 4 ตากาต่อหน่วย (ประมาณ 3.3 บาท) จากถ่านหินนำเข้า อยู่ที่ 6 ตากาต่อหน่วย (ประมาณ 1.9 บาท)และจากน้ำมันเตา 12 ตากาต่อหน่วย (ประมาณ 3.9 บาท) อย่างไรก็ตามแหล่งไฟฟ้าเหล่านี้ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยพลังงานแสงอาทิตย์ในบังกลาเทศอยู่ที่ 8-10 ตากาต่อหน่วย (ประมาณ 2.6-3.3 บาท) ค่าใช้จ่ายของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งเดียวของประเทศใน Kaptai อยู่ระหว่าง 0.30-1 ตากาต่อหน่วย (ประมาณ 0.3 บาท) ขึ้นอยู่กับฤดูกาล
ความเห็นสำนักงาน
ที่ผ่านมาบังกลาเทศประสบปัญหากระแสไฟฟ้าขาดแคลนจากปัญหาจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศทำให้ไม่มีเงินซื้อถ่านหินที่ต้องนำเข้า ต้องมีการระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่เป็นช่วงๆ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระทบต่อการภาคการผลิตของประเทศ ทางการบังกลาเทศจึงพยายามแสวงหาพลังงานทางเลือกในการเป็นแหล่งไฟฟ้าสำรอง ในขณะเดียวกัน บังกลาเทศอยู่ระหว่างการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยใช้เทคโนโลยีจากรัสเซีย ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2567
บังกลาเทศส่งเสริมการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานทางเลือก โดยผู้ลงทุนต้องจัดหาที่ดิน สร้างระบบพลังงานและจำหน่ายให้กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งต้องมีการร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่นในการจัดหาที่ดินและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมาย ดังนั้น การลงทุนในบังกลาเทศในภาคพลังงานทางเลือกจึงเป็นโอกาสของผู้ลงทุนรายใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุน บุคลากรและเทคโนโลยี