(ที่มา : สำนักข่าว Korea Times ฉบับวันที่ 16 ตุลาคม 2566)

หน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุน (Financial Services Commission: FSC) และกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท สาธารณรัฐเกาหลีใต้ วางแผนปรับปรุงนโยบายการรักษา และประกันภัยสำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการทุกขั้นตอนให้เจ้าของสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่การลงทะเบียนที่โรงพยาบาลสัตว์ จนถึงการเคลมค่าใช้จ่ายในการรักษากับบริษัทประกันภัย

จำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามจำนวนครัวเรือนคนเดียวและประชากรผู้สูงอายุ ตลอดจนความสนใจในการคุ้มครองสัตว์ที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลของ FSC จำนวนสัตว์เลี้ยงในเกาหลีเพิ่มขึ้น 25.8% จาก 6.35 ล้านตัว เป็น 7.99 ล้านตัว ในช่วงปี 2561-2564 ทว่าอัตราการสมัครแผนประกันสัตว์เลี้ยงมีเพียงร้อยละ 0.9 ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่มีอัตราการซื้อแผนประกันสัตว์เลี้ยง 25% 12.5% และ 2.5% ตามลำดับ ไม่เพียงเท่านั้น การตรวจและรักษาสัตว์เลี้ยงยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงส่งผลให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงรู้สึกกังวลกับภาระค่ารักษา ภาครัฐมองเห็นว่า แผนประกันภัยสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นอีกหนึ่งวิธี ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาสัตว์เลี้ยงได้ จึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงโครงสร้าง และริเริ่มนโยบายดังกล่าว

ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยวินาศภัย 11 แห่งในเกาหลีใต้ที่เสนอขายแผนประกันสำหรับสัตว์เลี้ยง แต่บริษัทส่วนใหญ่มีวงเงินคุ้มครอง และเบี้ยประกันที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาแผนประกันภัย และผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทประกันรายใหม่เข้าสู่ตลาดท้องถิ่น

หนึ่งในแผนปรับโครงสร้างของรัฐบาลคือ การปรับปรุงระบบการลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง ซึ่งต้องลงข้อมูลที่สามารถยืนยันตัวตนของสัตว์เลี้ยงได้ลงในระบบ เช่น รอยย่นจมูก หรือม่านตาของสุนัขและแมว นอกจากนั้น ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จะประกาศให้แผนประกันครอบคลุมค่ารักษาโรคหลักที่อาจเกิดขึ้นได้ในสัตว์ เช่น หูอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ การผ่าตัดทำหมัน ฯลฯ รวมถึงขยายตลาดสินค้าที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทุกชนิด

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า ครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น จนในปัจจุบันก็ถือได้ว่าเข้าสู่ยุคที่สัตว์เลี้ยงคือสมาชิกครอบครัว (Pet humanization) แม้ว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ผู้บริโภคก็สามารถลงทุนได้ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียบกับมนุษย์ และต้องการให้สัตว์เลี้ยงได้บริโภคอาหารที่ดี ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีสุด ทำให้ตลาดสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกาหลีใต้

สำหรับประเทศไทย ตลาดสินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพ ควรเร่งให้ผู้ประกอบไทยส่งออกสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น อาหาร ขนมขบเคี้ยว อาหารเสริม ของเล่น บ้านและที่นอน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด รวมถึงสินค้าที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถใช้คู่กับสัตว์เลี้ยงได้ อย่างเช่น เสื้อผ้า หรือสินค้าแฟชั่นอื่นๆ เพื่อรองรับตลาดสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้ ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากรัฐบาลเกาหลีประกาศนโยบายเกี่ยวกับประกันสัตว์เลี้ยงอย่างเป็นทางการในปีหน้า

********************************************************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

                                                                                                                                                                                                                                                                                   จัดทำโดย นางสาวกวิตา อนันต์นับ

ตรวจทานโดย นางสาวปิยพิชญ์ พัฒนาสุวรรณ

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ. สคต. ณ กรุงโซล

thThai