ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 16-20 ตุลาคม 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการค้าสำหรับทั้งสองฝ่าย และอาจส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ในโลก โดยผู้แทนรัฐบาลจีนและเซอร์เบีย ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) โดยมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีเซอร์เบีย อเล็กซานดาร์ วูชิช (Aleksander Vučić) เป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีครั้งนี้
ข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว เป็นข้อตกลงฉบับแรกที่จีนทำกับประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออก และเป็นการทำความตกลงการค้าเสรีฉบับที่ 22 ของจีนกับประเทศต่างๆ ทั้งนี้ รัฐบาลเซอร์เบียคาดว่าความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน 2567 อันจะส่งผลกระทบต่ออัตราภาษีสินค้าเซอร์เบียที่ส่งออกไปจีน 10,412 รายการสินค้า และสินค้าที่จีนที่ส่งออกมาเซอร์เบีย 8,930 รายการ
นอกเหนือจากข้อตกลงการค้าเสรีแล้ว ในระดับรัฐบาล เซอร์เบียยังได้รับการสนับสนุนจากจีนอีก 4 ฉบับ ได้แก่
- โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สาย Osmeh Vojvodine 🛣️ เชื่อมภาคตะวันตกและภาคตะวันออกของเซอร์เบีย ตัดผ่านภาคเหนือของประเทศในแคว้นวอยโวดินา เป็นระยะทาง 164.392 กิโลเมตร โดยใช้เงินกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (EXIM Bank) ประมาณ 220 ล้านยูโร
รูปภาพที่ 1: เส้นทางมอเตอร์เวย์สาย Osmeh Vojvodine ในภาคเหนือของเซอร์เบีย
ที่มาของข้อมูล: Biznis Vesti
- โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 🛣️ เชื่อมเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจในเซอร์เบียตอนบน ระหว่างเมือง Zrenjanin ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก กับเมือง Novi Sad และกรุงเบลเกรด รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนในวงเงินประมาณ 4 พันล้านยูโร มีกำหนดเริ่มการก่อสร้างปี 2567 เมื่อสร้างเสร็จ จะเชื่อมกับมอเตอร์เวย์เซอร์เบียสาย A1 ที่ตัดผ่านกลางประเทศ จากเหนือสุด (ติดชายแดนฮังการี) จนถึงใต้สุดของประเทศ (ติดชายแดนมาซิโดเนียเหนือ)
รูปภาพที่ 2: เส้นทางมอเตอร์เวย์ของเซอร์เบีย สีเขียวคือเส้นทางที่สร้างเสร็จแล้ว สีแดงคือกำลังก่อสร้าง ส่วนสีเทาคืออยู่ในแผนการก่อสร้างเฟสถัดไป
ที่มาของข้อมูล: Wikipedia
- โครงการจัดซื้อหัวจักรรถไฟความเร็วสูงจากจีน จำนวน 5 คัน สำหรับเตรียมใช้ในเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ระหว่างกรุงบูดาเปสต์ (ประเทศฮังการี – กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย) 🚄 ใช้เงินลงทุนในวงเงินประมาณ 54 ล้านยูโร
- ความตกลงในการอำนวยความสะดวกทางการค้า สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เซอร์เบียต้องการส่งออกไปยังจีน ได้แก่ แอปเปิ้ล 🍎 โดยเซอร์เบียจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าของจีนอย่างเคร่งครัด ได้แก่ ต้องเป็นพันธุ์แอปเปิ้ลที่สามารถส่งออกได้ ผ่านการตรวจสอบมาตรการควบคุมโรคพืชและศัตรูพืช รวมถึงข้อกำหนดด้านบรรจุภัณฑ์และการติดฉลากสินค้า เพื่อส่งเสริมแอปเปิ้ลจากเซอร์เบียมีศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดจีนมากขึ้น
ในระดับภาคเอกชน ผู้แทนบริษัท Huawei ของจีน และบริษัท Telekom Srbija ของเซอร์เบีย ได้ลงนามในความตกลงโครงการปรับปรุงระบบเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานและบรอดแบนด์ เฟสที่สาม ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการปรับปรุงระบบเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของเซอร์เบียให้ทันสมัย ทัดเทียมกับระบบของประเทศเพื่อนบ้านในสหภาพยุโรป 🌐📡📶
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงว่า ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างจีนและเซอร์เบียจะช่วยให้เกิดการค้าแบบเสรีอย่างมีประสิทธิภาพและมารฐานมากขึ้น เป็นกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคีรูปแบบใหม่ สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่อำนวยความสะดวก โปร่งใส และมั่นคงยิ่งขึ้น สำหรับบริษัทเอกชนระหว่างทั้งสองประเทศ รวมทั้ง ยังส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือภายใต้การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) หรือ One Belt One Road (OBOR) ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ในระดับหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีนและเซอร์เบียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ด้านประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูชิช กล่าวว่า เซอร์เบียให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆ มากขึ้น ผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น การดำเนินงานในกรอบข้อตกลงการค้าเสรียุโรปกลาง (CEFTA[1]) และการเสนอความริเริ่ม Open Balkan เพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจและการเมืองร่วมกันกับมาซิโดเนียเหนือและแอลเบเนีย ตลอดจนเร่งดำเนินการตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรปในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพฯ เนื่องจากเซอร์เบียเห็นว่าการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับนานาประเทศ ถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม อันจะเป็นการสนับสนุนให้เซอร์เบียก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคคาบสมุทรบอลข่าน
ข้อมูลล่าสุดประจำปี 2565 โดย International Trade Center ระบุว่า การค้าทวิภาคีระหว่างเซอร์เบียและจีน มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 6.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.31 แสนล้านบาท) แบ่งเป็น เซอร์เบียส่งออกไปยังจีน มูลค่าประมาณ 1.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.273 หมื่นล้านบาท) ขยายตัว 23% (YoY) สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ที่เซอร์เบียส่งไปจีน อาทิ แร่ทองแดงและเงิน ไม้ เครื่องสูบ มอเตอร์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอุปกรณ์ทำความเย็น/ทำความอบอุ่น และเนื้อสัตว์แช่แข็ง เป็นต้น ขณะที่เซอร์เบียมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 5.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.873 แสนล้านบาท) ขยายตัว 19% (YoY) โดยสินค้านําเข้าจากจีนส่วนมากเป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องโทรศัพท์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก และชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้จีนเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับสองของเซอร์เบีย รองจากเยอรมนี ในขณะเดียวกัน จีนก็เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าจากเซอร์เบียรายใหญ่ที่สุดอีกด้วย คิดเป็น 12% ของการนำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญในการค้าระหว่างสองประเทศ ได้แก่ ระยะห่างทางภูมิศาสตร์ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม และการขาดเส้นทางการขนส่งสินค้า/ผู้โดยสารโดยตรง ดังนั้น จีนจึงเร่งลงทุนการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงให้มาถึงภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออกโดยเร็ว โดยหมายมั่นว่าเซอร์เบียจะเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนนโยบายของจีนในภูมิภาคบอลข่าน ในขณะที่เซอร์เบียก็คาดหวังจะเป็นประตูการค้าระหว่างจีนกับประเทศในภูมิภาคบอลข่าน
ข้อคิดเห็นของ สคต.
- การลงนามข้อตกลงนี้ นอกจากจะมีความสำคัญในด้านการค้าระหว่างเซอร์เบียและจีนแล้ว ในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้ง การพัฒนาระบบเครือข่ายโทรศัพท์ในเซอร์เบีย จะทำให้การสื่อสารและการคมนาคมขนส่งสินค้าเป็นไปได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และประเด็นสำคัญที่จีนต้องการจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ คือ จีนพยายามลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเศรษฐกิจกับบางประเทศมากเกินไป เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ ในประเทศนั้นๆ จะส่งผลกระทบมายังจีน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จีนจึงต้องสร้างเครือข่ายที่หลากหลาย และรักษาบทบาทของตนในระบบห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
- ปัจจุบัน เซอร์เบียมีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ รวมจำนวน 8 ฉบับ อาทิ สหภาพยุโรป สหพันธรัฐรัสเซีย (สำหรับสินค้าเกษตรกรรม สิ่งทอ รถแทรกเตอร์ คอมเพรสเซอร์ และรถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้แล้ว) สหรัฐอเมริกา (ได้สิทธิ์ GSP สำหรับประเทศกำลังพัฒนาราว 4,650 รายการ) คาซักสถาน (ยกเว้นเนื้อสัตว์ ชีส ไวน์ และเครื่องยนต์) ตุรกี และเบลารุส (ยกเว้นน้ำตาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ รถยนต์และยางรถยนต์ใช้แล้ว) สิ่งเหล่านี้เอง ที่เป็นโอกาสสำคัญที่เซอร์เบียสามารถพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน และเป็นประตูสู่การค้าของประเทศในภูมิภาคบอลข่าน และยุโรปตะวันออก
- เมื่อ FTA ระหว่างจีนกับเซอร์เบียมีผลบังคับใช้กลางปี 2567 อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมายังเซอร์เบียจะลดลง แล้วแต่ประเภทสินค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยมายังเซอร์เบีย เนื่องจากจีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมใกล้เคียงกับไทย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ลิเธียม อุปกรณ์โทรศัพท์ เครื่องจักร พลาสติก และผลิตภัณฑ์จากยาง เป็นต้น
เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติการค้าประจำเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 เซอร์เบียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 121 ของไทย มียอดมูลค่าการค้ารวม 1,278.90 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 71.48% (YoY) มูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ที่ 909.44 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 369.46 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเซอร์เบีย อาทิ ปลาแปรรูป ยางธรรมชาติ แบบหล่อ (Mould) อุปกรณ์กีฬา และแผงวงจรรวมสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากเซอร์เบียมาไทย ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องสูบ และของปรุงแต่งชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จะติดตามความคืบหน้ารายละเอียดของชนิดสินค้าที่คาดว่าจะบรรจุในข้อตกลง FTA ระหว่างจีนกับเซอร์เบีย เมื่อมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เพื่อนำเสนอต่อผู้ประกอบการไทยเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ที่มาของข้อมูล
- https://balkaninsight.com/2023/10/17/serbia-and-china-sign-free-trade-deal-in-beijing/
- https://chinaobservers.eu/how-did-china-become-the-largest-investor-in-serbia/
- https://english.www.gov.cn/news/202310/17/content_WS652ea75cc6d0868f4e8e051d.html
- https://www.ekapija.com/en/news/4423211/what-serbia-will-export-to-china-without-customs-and-which-chinese-products
- https://www.politico.eu/article/serbia-and-china-sign-free-trade-deal/
- https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3238529/china-serbia-slash-tariffs-landmark-trade-deal
- International Trade Centre
[1] ข้อตกลงการค้าเสรียุโรปกลาง (Central European Free Trade Agreement หรือ CEFTA) ประกอบด้วย แอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มาซิโดเนียเหนือ มอลโดวา มอนเตเนโกร เซอร์เบีย และโคโซโว มีจุดประสงค์เพื่อยกระดับการค้าสินค้าและบริการ ขจัดอุปสรรคทางการค้าทวิภาคีและพหุภาคี ตลอดจนดึงดูดการลงทุนสู่ภูมิภาคผ่านกฎการค้าที่เป็นสากลยุติธรรม มีเสถียรภาพ และคาดการณ์ได้ ข้อตกลงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กรอบการกำกับดูแลของภาคีสอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพยุโรป และครอบคลุมการดำเนินงานประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การคุ้มครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา กฎการแข่งขัน และงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล
สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
16-20 ตุลาคม 2566