รัฐบาลเวียดนามกล่าวว่า เวียดนามมีแผนที่จะขยายการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการผลิตภายในประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซา
การลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 8 ยังต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาเวียดนาม ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 เดือนกรกฎาคม 2566 และมีกำหนดจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 การประชุมของรัฐสภาครั้งถัดไปมีกําหนดจะเริ่มในสัปดาห์หน้า การลดภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 8 ไม่ครอบคลุมถึงบริการและผลิตภัณฑ์ด้านการธนาคาร การเงิน โทรคมนาคม และอสังหาริมทรัพย์ การลดภาษีซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ จะทำให้รายรับงบประมาณของรัฐบาลลดลง 25,000 พันล้านเวียดนามด่ง (1.02
พันล้านเหรียญสหรัฐ)
การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.33 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 4.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 ในขณะที่ การเติบโตทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การบริโภคภายในประเทศที่ยังคงซบเซาและการเติบโตของสินเชื่อยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนในประเทศที่อ่อนแอ และความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ลดลง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเวียดนาม ระบุว่า ยอดขายปลีกสินค้าและบริการเวียดนามในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565
(แหล่งที่มา https://e.vnexpress.net/ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2566)
วิเคราะห์ผลกระทบ
การปรับลดลดภาษีมูลค่าเพิ่มในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของเวียดนามประสบกับภาวะชะลอตัวลง โดยในปี 2565 GDP ที่แท้จริงของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในภูมิภาค โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.02 เมื่อเทียบกับปี 2564 แต่ในปี 2566 อัตราการเติบโตชะลอตัวลงเหลือแค่ร้อยละ 3.32 เมื่อกับปี 2565 รัฐบาลเวียดนามคาดว่า การปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวทำให้ราคาสินค้าและบริการที่ประชาชนต้องจ่ายลดลง กระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค ส่งเสริมการผลิตและธุรกิจ ซึ่งนับเป็นแรงขับเคลื่อนในการเติบโตของการบริโภคในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ของเวียดนาม
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
ด้วยความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามจึงขยายการปรับใช้นโยบายลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 8 ต่อไปในปี 2567 ภายหลังมีการใช้นโยบายลดภาษีมาตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2566 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นปัจจัยทางอุปสงค์ ส่งผลให้เกิดกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ เพื่อนำไปสู่กิจกรรมต่อเนื่องทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การลงทุนหรือเพิ่มกำลังการผลิตของภาคธุรกิจ ทำให้เกิดวงจรการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และหากมาตรการลดภาษีดังกล่าวประสบผลสำเร็จเป็นทวีคูณ หรือเมื่อประชาชนบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ จึงเป็นโอกาสของสินค้าและบริการของไทย ในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกทั้งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต และสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังตลาดเวียดนาม
ซึ่งสินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในด้านคุณภาพ การออกแบบ มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวเวียดนาม ปัจจุบันสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยอย่าง อาหารและเครื่องดื่ม ขนม และเครื่องใช้ภายในบ้านได้รับความนิยมจากชาวเวียดนามอย่างมาก นอกจากนี้นักท่องเที่ยวเวียดนามทีเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย จะนิยมบริโภคสินค้าไทยและซื้อสินค้ากลับประเทศเป็นจำนวนมาก และเมื่อบอกกันปากต่อปาก จึงส่งผลให้เกิดกระแสความนิยมในสินค้าไทยในตลาดเวียดนามขึ้น ทั้งนี้คำว่า Made in Thailand หรือ Product of Thailand จึงเป็นเครื่องการันตีสำคัญที่ผู้บริโภคชาวเวียดนามมองหาในการเลือกซื้อสินค้า
สคต. ณ นครโฮจิมินห์