การประชุม Qingdao Multinationals Summit ครั้งที่ 4 ซึ่งมีกระทรวงพาณิชย์ของจีนเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2566 ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีการกำหนดหัวข้อหารือหลัก 6 ประเด็น ได้แก่ 1) มุ่งเน้นความพยายามในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ 2)แนวปฏิบัติการพัฒนาบริษัทข้ามชาติในประเทศจีน 3) แนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ 4) ผลลัพธ์ใหม่ในการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ 5) ความร่วมมือระหว่างประเทศในเศรษฐกิจดิจิทัล และ 6) การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ
Qingdao Multinationals Summit ได้กลายเป็นเวทีสำคัญของจีนในการเปิดประตู่สู่ความร่วมมือระหว่างจีนและบริษัทข้ามชาติ อีกทั้งเป็นเวทีสำคัญสำหรับมณฑลซานตงในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยในการประชุมดังกล่าวประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ และภาคเอกชนที่เป็นบริษัทชั้นนำ ซึ่งมีบริษัทผู้เข้าร่วมจำนวนกว่า 800 คน โดยมีผู้แทนบริษัทราว 416 ราย ที่มีรายชื่ออยู่ใน Fortune Global 500* (*การจัดอันดับประจำปีของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งทั่วโลกโดยวัดจากรายได้รวม โดยนิตยสารฟอร์จูน) ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 จำนวน 234 แห่ง ที่มีการลงทุน 917 โครงการในมณฑลซานตง คิดเป็นเงินลงทุนสะสม 32,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม”นวัตกรรม การพัฒนา และความร่วมมือแบบ win-win” ให้ข้อมูลนโยบายการลงทุนของจีน พร้อมนี้ ในช่วงของการเปิดงานได้มีการลงนามโครงการความร่วมมือสำคัญ จำนวน 24 โครงการ มูลค่ารวม 6,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโดยภาพรวมของการจัดงานระบุว่า มณฑลซานตงได้มีการผลักดันข้อตกลงความร่วมมือทำโครงการกับบริษัทข้ามชาติหลายโครงการ และส่งเสริมการเจรจาและการลงนามโครงการลงทุนต่างประเทศ 194 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนทั้งหมดราว 20,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ จีนมองมองว่าปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง มีการปรับเปลี่ยนสมดุลของประเทศขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ ประกอบกับทั่วโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง และปัจจัยสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงควรต้องแสวงหาความร่วมมือระหว่างมิตรประเทศที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมืองชิงต่าวตั้งอยู่บนยุทธศาสตร์ทางทะเลจีนตะวันออกที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของเขตสาธิตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและประเทศสมาชิก China-Shanghai Cooperation Organization (SCO) และกำลังถูกยกระดับให้เทียบเท่าเมืองที่ทันสมัยอื่นๆ ของโลก
ในการนี้ รัฐบาลท้องถิ่นได้มีการประกาศ ‘แผนปฏิบัติการของชิงต่าวเพื่อเสริมสร้างเมืองด้วยอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง (พ.ศ.2566-2568)’ ซึ่งมีเนื้อหา อาทิ (1) เป้าหมายเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมการผลิต ให้มีสัดส่วนร้อยละ 29 ของ GDP ของเมือง และมูลค่าอุตสาหกรรมสนับสนุน ให้มีสัดส่วนร้อยละ 30 ของ GDP ของเมือง โดยมุ่งเน้นการผลิตระดับไฮเอนด์ อุตสาหกรรมอัจฉริยะ อุตสาหกรรมสีเขียว และธุรกิจบริการ บนพื้นฐานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) ส่งเสริมการยกระดับการลงทุนสูนวัตกรรมการผลิตระดับสูง เช่น การให้สิทธิพิเศษการนำเข้าซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรม การสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเป้าหมายศักยภาพเดิม 7 ประเภท ได้แก่ เครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะ อุปกรณ์การขนส่งทางรถไฟ ยานพาหนะพลังงานใหม่ เคมีภัณฑ์คุณภาพสูง อุปกรณ์ทางทะเล อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและเสื้อผ้า รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 10 ประเภท ได้แก่ แผงวงจรรวม จอแสดงผล เทคโนโลยีเสมือนจริง ปัญญาประดิษฐ์ ชีวการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะ โพลีเมอร์ขั้นสูงและวัสดุโลหะ เครื่องมือวัดที่แม่นยำ การบิน พลังงานไฮโดรเจนและพลังงานสำรอง (3) การบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผ่านการให้รางวัล “Qingdao Golden Flower” การเพิ่มการผลิตแรงงานทักษะเป้าหมายที่ 50,000 คน ต่อปี (4) สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลและการสื่อสารใหม่ที่ทันสมัย โดยการพัฒนาเครือข่าย 5G การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรดิจิทัล (6) เพิ่มความพยายามในการยกระดับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเป้าหมายการสร้างโรงงานสีเขียวแห่งใหม่กว่า 30 แห่ง รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตคาร์บอนต่ำและการประหยัดพลังงาน (7) “ผลิตภัณฑ์ + บริการ” พัฒนาการผลิตควบคู่การบริการอย่างจริงจัง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว และ (8) การเชื่อมต่ออุปสงค์และอุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กระชับความร่วมมือทางอุตสาหกรรมกับลุ่มแม่น้ำเหลืองและภูมิภาคปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย รวมถึงผลักดันความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว:
การพัฒนาในมณฑลต่างๆ ของจีน รวมทั้งเมืองชิงต่าว กำลังมุ่งไปสู่การยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูง ความเป็นดิจิทัล และการสร้างความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานทั้งภายในและภายนอกประเทศ เมืองชิงต่าวซึ่งเดิมเป็นที่รู้จักโดดเด่นในฐานะเมืองท่า และเป้าหมายการท่องเที่ยว กำลังมุ่งไปสู่การขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 7 + 10 ซึ่งถือเป็นโอกาสในการเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่เพิ่มมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวของชิงต่าว ก็มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม ไบโอเทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งถึงเป็นโอกาสของไทยในการขยายขอบเขตการค้าสินค้าศักยภาพของไทยจากสินค้าขั้นต้นไปสู่สินค้าที่มีนวัตกรรมสูงขึ้น ซึ่งไทยควรเร่งใช้โอกาสในการพัฒนาสินค้าเป้าหมาย และใช้ประโยชน์จากความตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเกาะเกี่ยวโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกต่อไปได้
————-
ที่มา:
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1779444886972664312&wfr=spider&for=pc
https://m.thepaper.cn/baijiahao_24920112
http://www.qingdao.gov.cn/zwgk/zdgk/fgwj/zcwj/swgw/2023swgw/202309/t20230901_7445912.shtml