ละครหรือซีรีส์ออนไลน์ในประเทศจีน หมายถึง บทละครที่ผลิตและได้รับอนุญาตให้ออกอากาศได้เฉพาะบนแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น ไม่รวมถึงบทละครที่ได้รับอนุญาตแผยแพร่ทางโทรทัศน์ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ Copyright Series (ละครที่อาศัยค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์ในการทำกำไร) Customized Series (การผลิตบทละครตามความต้องการของผู้ใช้หรือผู้จัดจำหน่าย) Own-made Series (บทละครที่ผลิต ถ่ายทำ และออกอากาศผ่านแพลตฟอร์มของตนเอง) และ Account sharing Series (ละครที่ได้รับค่าธรรมเนียมจากปริมาณและเวลาการรับชมของสมาชิก และโฆษณา)
การพัฒนาอุตสาหกรรมละครออนไลน์ในจีน ข้อมูลจาก Guanyan Report Network ระบุว่า รูปแบบภาพยนตร์และละครแบบดั้งเดิม จำเป็นต้องใช้ต้นทุนในการซื้อเนื้อหาละครค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าลิขสิทธิ์ หรือแพลตฟอร์มการเผยแพร่ต่าง ๆ ทำให้บริษัทจำเป็นต้องรับความเสี่ยงในการลงทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตละคร จึงหันมาให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ที่ครอบคลุมถึงด้านการลงทุน การพัฒนาระบบและจัดจำหน่าย นอกจากนี้ รูปแบบการผลิตละครแบบ Customized Series ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรม เนื่องจาก มีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ ต่ำ บริษัทผู้ผลิตรับผิดชอบเพียงการผลิตตามความต้องการของผู้จัดจำหน่าย และเก็บค่าธรรมเนียมที่สอดคล้องเท่านั้น ละครในปัจจุบันมีการปรับปรุงให้พัฒนาขึ้นในรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ประสิทธิภาพของละคร การสร้างกระแสแบบ “บอกปากต่อปาก” รวมไปถึงการสร้างรูปแบบลิขสิทธิ์ที่มีความโดดเด่น
ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 อุปทานในตลาดมีความต้องการประเภทละครที่เน้นถึงการสะท้อนความเป็นจริงของสังคม แนวตำนานย้อนยุค สืบสวนสอบสวน และแฟนตาซีไซไฟ เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างละครจีนที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมชาวจีน ได้แก่ The Knockout, Three-Body, Youths and Golden Coffin และ Forbidden love เป็นต้น ละครแนวสะท้อนถึงความเป็นจริงของสังคม มีพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาอุตสาหกรรมละครออนไลน์ในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันยังเป็นการสะท้อนถึงวิถีชีวิต อุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ทำให้เห็นถึงกระบวนการพัฒนาความก้าวหน้าของยุคสมัย กระตุ้นให้ผู้คนเกิดการรับรู้ ตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม
การขับเคลื่อนและพัฒนาของละครออนไลน์ของจีน กำลังเข้าสู่ยุค “ยิ่งสั้นยิ่งดี” จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง Kuaishou และ Tiktok จีน (โต้วอิน) พบว่า ผู้คนนิยมค้นหาละครที่มีเนื้อหาสั้นกว่า ดูสบายกว่า และมีการแยกสัดส่วนเนื้อหามากกว่า การสร้างละครสั้นจะกลายเป็นทิศทางแนวโน้มการพัฒนาของแพลตฟอร์มและผู้ผลิตละครในอนาคต ในปี 2564 จำนวนละครสั้นเริ่มพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเริ่มเข้าสู่ยุคของละครสั้นในปี 2565 ข้อมูลจากระบบการจัดเก็บข้อมูลละครและภาพยนตร์ออนไลน์ของหน่วยงานบริหารกิจการวิทยุ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์แห่งรัฐ ระบุว่า ในปี 2565 จำนวนของละครสั้นที่ผลิตโดยบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงาน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 500 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า นอกจากแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง Tiktok จีน (โต้วอิน) และ Bilibili จะให้ความสำคัญกับละครสั้นแล้ว แพลตฟอร์มละครทั่วไปอย่าง iQIYI, Youku, Mango TV, Tencent Video ก็หันมาเข้าสู่วงการละครสั้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้วยละครสั้นมีวงจรการผลิตที่สั้นและใช้ต้นทุนที่ต่ำ จึงดึงดูดผู้ผลิตและนักลงทุนเข้าสู่อุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมละครออนไลน์ของจีนยังมีการเร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI Empowerment เข้าใช้กับอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรม โดยในกระบวนการสร้างเนื้อหาละครด้วย AI ที่จะสามารถช่วยผู้เขียนสามารถจำลองความแม่นยำของเนื้อหา บท ภาพ ฉาก และตัวละครเสมือนจริงได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มความมั่นใจในการปรับปรุงและดัดแปลงบทละครได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตคาดว่า AI จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตละครในด้านต่างๆ มากขึ้น ที่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเนื้อหาอย่างครอบคลุม เพิ่มความสมบูรณ์และจินตนาการของการนำเสนอเนื้อหาได้อย่างสมบูรณ์
ตั้งแต่ปี 2558 อุตสาหกรรมละครออนไลน์ของจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตละครและภาพยนตร์เริ่มหลั่งไหลการลงทุนจำนวนมากเข้าสู่อุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตาม คุณภาพของละครออนไลน์เริ่มไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร มีเนื้อหาไม่เหมาะสม รุนแรง ไม่สุภาพ และ ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2559-2561 มีละครมากว่า 20 เรื่องถูกลบออกจากอินเตอร์เน็ต ภาครัฐจึงมีมาตรการตรวจสอบเนื้อหาละครก่อนจะถูกเผยแพร่ไปสู่ผู้ชม โดยเนื้อหาละครจำเป็นต้องผ่านการลงทะเบียนและการประชาสัมพันธ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ได้หมายเลขการลงทะเบียนและผ่านการตรวจสอบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงจะสามารถเผยแพร่ผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ได้
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ละครหรือภาพยนตร์ นับว่าเป็นช่องทางสะท้อนให้เห็นถึงด้านวัฒนธรรม ประเพณี สังคม วิถีชีวิตของประเทศนั้นๆ ด้วยพลังของละครและภาพยนตร์ ที่ถือเป็นหนึ่งใน Soft power ในการสร้างการรับรู้ และสร้างภาพลักษณ์ในด้านต่าง ๆ จีนจึงมีการเข้มงวดในการตรวจสอบเนื้อหาที่มีความรุนแรงและไม่เหมาะสม ก่อนได้รับอนุญาตเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตาม ละครและภาพยนตร์ไทยก็ได้รับความนิยมในประเทศจีนจำนวนไม่น้อย อาทิ องค์บาก แฟนฉัน รักแห่งสยาม สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก และ Friend Zone เป็นต้น ที่สร้างภาพจำของนักแสดง วัฒนธรรม วิถีชีวิต เอกลักษณ์ความเป็นไทยในประเทศจีน
จากข้อมูลของอุตสาหกรรมละครออนไลน์ของจีนข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการ ช่องทาง และความชอบของผู้คนชาวจีน ที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในการพัฒนาคุณภาพ ช่องทาง และเนื้อหาของละครให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มกระแสละครสั้นที่คาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น การนำความชอบและช่องทางการรับรู้ของคนจีน มาปรับใช้สร้างกลยุทธ์ Soft power ของละครไทย จะเป็นส่วนช่วยในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ที่ไม่เพียงแต่ สร้างการรับรู้ด้านวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ต่างๆ ผ่านการรับชมละครและภาพยนตร์ เท่านั้น แต่จะเชื่อมโยงไปสู่การรับรู้ด้านการท่องเที่ยว อาหาร และสินค้าต่าง ๆ ของไทยอีกด้วย
ที่มา:
https://www.chinabaogao.com/free/202304/631578.html
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
27 ตุลาคม 2566