การส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือนต.ค. เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Times และ Korea herald ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566)

การส่งออกของเกาหลีใต้เริ่มแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัว โดยในเดือนตุลาคม 2566 การส่งออกเกาหลีใต้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน เกาหลีใต้ระบุว่า ในเดือนตุลาคม 2566 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 5.1% เป็น 5.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าลดลง 9.7% คิดเป็นมูลค่า 5.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกาหลีใต้ได้ดุลการค้า 1.64 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการได้ดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

การส่งออกของเกาหลีใต้ลดลงนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เนื่องจากการซบเซาของอุตสาหกรรมชิป และการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของเกาหลีใต้ที่ลดลง จนถึงปัจจุบัน การส่งออกไปยังจีนแม้จะยังไม่ได้ฟื้นคืน 100% แต่มีความเชื่อที่ว่าได้ผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว ทั้งนี้ การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้ลดลง 3.1% ในเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นการลดลงที่น้อยที่สุด ตั้งแต่สิงหาคม 2565 ในขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญ     3 รายการมีการเพิ่มขึ้น ได้แก่ รถยนต์ (+19.8%) เรือ (+101.4%) และสินค้าปิโตรเคมี (+18%) โดยการส่งออกรถยนต์ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 15 เดือน และเป็นตัวนำให้การส่งออกเกาหลีใต้กลับมาฟื้นตัว

ในส่วนของดุลการค้า ราคาพลังงานที่ลดลงเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ได้ดุลการค้า โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าพลังงานอย่างอื่น เช่น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ลดลง 54.3% และ 26.1% ตามลำดับ

นายคิม วาน กี หัวหน้าส่วนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน เกาหลีใต้ กล่าวว่า ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และฮามาส ยังอยู่ในวงจำกัดสำหรับเกาหลีใต้ ในขณะที่ความต้องการก๊าซธรรมชาติและถ่านหินอาจส่งผลกระทบดุลการค้าในบางระยะเวลา เช่น ในฤดูหนาว หรือเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เกาหลีใต้จะได้เผชิญกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สงครามยูเครน-รัสเซีย สงครามอิสราเอล-ฮามาสและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญของจีน ส่งผลให้เกาหลีใต้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ราคาเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้การส่งออกของเกาหลีใต้มีมูลค่าลดลงติดต่อกัน 12 เดือน

อย่างไรก็ตาม เดือนตุลาคมที่ผ่านมาการส่งออกของเกาหลีใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้ประกอบการที่ส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์มายังเกาหลี ซึ่งเกาหลีใต้จะมีความต้องการในสินค้าดังกล่าวมากขึ้น นอกจากนี้ การส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวจะส่งผลถึงรายรับของประเทศและจำนวนเงินในกระเป๋าสตางค์ของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคจะมีแนวโน้มที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เป็นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าและบริการใหม่ๆ สู่ตลาดเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด และเตรียมพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง

********************************************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

                                                                                                                                                                      จัดทำโดย นางสาวกวิตา อนันต์นับ

ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

thThai