ตุรกีเตรียมยกเครื่อง เร่งผลักดันการค้าระหว่างประเทศผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

สำนักนโยบายและงบประมาณแห่งสำนักงานประธานาธิบดีสาธารณรัฐตุรกี ได้เสนอแผนพัฒนาประเทศปี 2024-2028 ต่อรัฐสภา โดยภายในแผนฉบับดังกล่าวได้มีการให้ความสำคัญกับเรื่องการค้าและพิธีการศุลกากรอยู่ด้วย โดยตั้งเป้าหมายที่จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการจดจัดตั้งธุรกิจค้าปลีก การประกอบกิจการ และการยื่นเรื่องขอปิดกิจการต่างๆ และรวมถึงการยื่นเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบและอนุมัติสามารถทำได้จากศูนย์ข้อมูลเดียวกันซึ่งก็คือ “ระบบข้อมูลการค้าปลีก (PERBİS)” และจะมีการจัดทำระบบติดตามความต้องการของตลาด รวมทั้งราคาสินค้าแบบเรียลไทม์อีกด้วย นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังมุ่งเน้นในเรื่องการเพิ่มช่องทางการส่งออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Export) โดยให้การสนับสนุนผู้ประกอบการและเว็บไซต์ออนไลน์ต่างๆ เพื่อเพิ่มการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

รายละเอียดสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านการค้าถูกระบุไว้ในแผนอย่างชัดเจน อาทิ แผนการจัดการกับการค้าที่ไม่เป็นธรรมโดยเริ่มจากการเพิ่มโทษต่อผู้ค้าที่ขึ้นราคาสินค้าสูงเกินไปรวมทั้งพวกที่กักตุนสินค้าอีกด้วย โดยการขอขึ้นราคาสินค้าจะต้องมีการยื่นคำร้องและเหตุผลต่อกรรมการประเมินราคาสินค้าและจะเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและการให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์จะต้องเพิ่มขึ้น การศึกษาเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ในตลาดการค้าออนไลน์จะได้รับการสนับสนุน

 

การเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับการทำการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศใกล้เคียงหรือมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับ e-Commerce ให้ทันสมัยและเข้ากับรูปแบธุรกิจต่างๆ ในปัจจุบัน รวมถึงการให้ข้อมูลและความรู้ การฝึกอบรม การส่งเสริม และการเพิ่มความรู้เกี่ยวกับ e-Commerce ให้กับพื้นที่เมืองที่ยังที่มีสัดส่วน e-Commerce ต่ำ

 

ในส่วนของการเพิ่มปริมาณการส่งออกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Export นั้น จะมีจัดทำแพลตฟอร์ม e-Export และผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการ e-Commerce รวมทั้งให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการค้าออนไลน์ให้สามารถทำการค้าได้เพิ่มมากขึ้นทั้งผ่านช่องทางการส่งออกตามปกติ และช่องทางการค้าออนไลน์ ทั้งนี้ ในแผนดังกล่าวระบุว่า ในการเพิ่มปริมาณ e-Export นั้น จะต้องมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเป็นประเทศที่มีความใกล้เคียงกันทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะต้องมีการทำวิจัยแบบภาคสนามอย่างจริงจัง ซึ่งรูปแบบขนส่งของ e-Commerce และระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นและแปลกไปจากเดิมนี้ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของตลาดแรงงานภายในประเทศ รวมถึงประเด็นต่างๆ ด้านโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มและการเตรียมสถานที่จัดเก็บสินค้า การขนส่งที่รวดเร็วและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ตุรกีมองว่าตนมีความได้เปรียบในการแข่งขันในภูมิภาคนี้ โดยการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด e-Commerce ของตุรกีสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกผ่านการทำข้อตงลงร่วมกันทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาระบบข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีข้อมูลที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้ส่งออก รวมทั้งข้อมูลของตลาดการค้าในต่างประเทศ รวมถึงการร้องเรียนตรวจสอบความไม่เป็นธรรมทาง e-Commerce อีกด้วย และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญก็คือ การปรับปรุงและเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายและพิธีการศุลกากรเพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในกระบวนการส่งคืนสินค้าในระบบ e-Commerce

 

ในกระบวนการค้าระหว่างประเทศ จะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น ระบบบล็อกเชนและเทคโนโลยีตรวจจับตัวอักษร (OCR) มาใช้ เพื่อลดการจัดเก็บเอกสารแบบกระดาษ และทำให้ขั้นตอนของพิธีการศุลกากรรวดเร็วขึ้น โดยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศและศุลกากรแบบเดิมจะได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าในปัจจุบัน เช่น การเจรจาความร่วมมือแบบทวิภาคีโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของ e-Export เพิ่มมากขึ้น จะมีการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยให้ความรู้ในเรื่อง e-Export หรือแพลตฟอร์มธุรกิจแบบ B2B ซึ่งจะทำให้ธุรกิจและผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลผู้ซื้อทั่วโลกได้

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ

 

โดยทำเลที่ตั้งของประเทศตุรกีที่เชื่อมประสานทั้งฝั่งยุโรปและเอเชียเข้าไว้ด้วยกันทำให้ต้องถือว่าตุรกีเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้าของทั้งสองภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าตุรกีจะยังไม่สามารถใช้ข้อได้เปรียบนี้แสดงศักยภาพในด้านการค้าระหว่างประเทศได้อย่างเต็มที่นัก ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลภายในประเทศเองอย่างเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาทางการเมืองและศาสนา ปัญหาคอร์รัปชั่น และอื่นๆ และปัญหาภายนอกอย่างเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาค ประกอบกับการเลือกดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างเป็นไปในแนวทางอนุรักษ์นิยม (Conservative) เพิ่มมากขึ้นของรัฐบาลตุรกีในช่วงหลังๆ

 

จากผลการเลือกตั้งทั่วไปของตุรกีในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะได้ผู้นำคนเดิมคือประธานาธิบดีเรเยป ทายยิป แอรโดก์อาน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาแล้วร่วมยี่สิบปี แต่ผลคะแนนที่ออกมาใกล้เคียงกับฝ่ายผู้ท้าชิงมากจนต้องมีการเลือกตั้งรอบ 2 จึงจะชนะ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองถึงการทบทวนในระดับนโยบายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจการค้าที่มีการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมด และมีท่าทีที่เป็นไปในแนวทางเสรีนิยมเพิ่มมากขึ้น การเสนอแผนพัฒนาประเทศต่อรัฐสภาในครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่ารัฐบาลตุรกีชุดนี้จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ขณะนี้อยู่ในภาวะที่ค่อนข้างวิกฤตให้ผ่านพ้นและสามารถขยายตัวได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดในภูมิภาคนี้ซึ่งตุรกีก็ยังถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่จะสามารถขยายตัวได้อีกมาก ทั้งโดยการค้ากับตุรกีโดยตรงและการอาศัยตุรกีเป็นแหล่งเชื่อมโยงการค้าไปยังประเทศอื่นที่ใกล้เคียงได้ต่อไป

thThai