เวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนของผู้ค้าปลีก

เวียดนามมีประชากรเกือบ 100 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนของผู้ค้าปลีกทั่วโลก ดังนั้น ผู้ค้าปลีกต่างชาติจำนวนมากจึงเพิ่มการลงทุนในภาคส่วนนี้มากขึ้น

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระบุว่า ตลาดค้าปลีกของเวียดนามมีมูลค่ามากกว่า 142,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยร้อยละ 16 มาจาก        อีคอมเมิร์ซ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 350,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568

การค้าปลีกในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเติบโตเช่นเดียวกัน ในปี 2565 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเวียดนามมีรายได้ 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะมีรายได้ถึง 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดค้าปลีกของเวียดนามสำหรับผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซูเปอร์มาร์เก็ตยังคงถือเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดในเวียดนาม ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีคุณภาพ คาดว่า ในปี 2566 รายได้ของซูเปอร์มาร์เก็ตจะสูงถึงประมาณ 110 ล้านล้านด่ง (4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเวียดนาม

ตลาดค้าปลีกในเวียดนามเติบโตเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนแรกของปี 2566 เมื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ จากต่างประเทศในอุตสาหกรรมค้าปลีกได้ประกาศเพิ่มเงินลงทุนในภาคส่วนนี้ โดย MUJI ซึ่งเป็นแบรนด์ค้าปลีกที่มีชื่อเสียงสำหรับไลฟ์สไตล์ เครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์สำนักงานจากญี่ปุ่น ได้ขยายระบบการค้าปลีกในฮานอยและเมืองโฮจิมินห์เป็น 11 แห่ง

ในขณะเดียวกัน Uniqlo ซึ่งเป็นแบรนด์ใหญ่อีกแบรนด์จากญี่ปุ่นเปิดร้านสาขาที่ 19 ในกรุงฮานอย ซึ่งเป็นร้านใหม่แห่งที่ 4 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทไทยขนาดใหญ่หลายแห่งยังได้ประเมินว่าตลาดค้าปลีกของเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพและน่าดึงดูดที่สุด ดังนั้น กลุ่ม Central Retail ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกของไทยจึงได้ประกาศแผนเพิ่มเงินลงทุนในเวียดนามเป็น 1,450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2566 – 2570 พร้อมตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านค้าเป็น 2 เท่า และซูเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม 600 แห่งใน 57 จาก 63 จังหวัดในเวียดนาม ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดที่ Central Retail เคยประกาศไว้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ในปี 2566 บริษัทได้ลงทุน 4.1 ล้านล้านด่งในตลาดเวียดนาม โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจอาหาร การรักษาเสถียรภาพราคา และการปรับโครงสร้างร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์

Central Retail ยังตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ค้าปลีกในหลายช่องทางรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมอาหาร และเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ในกลุ่มศูนย์การค้าในเวียดนามภายในปี 2570

ในขณะเดียวกันผู้ค้าปลีกในประเทศยังคงครองตลาดมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 70 – 80 ของจุดขายปลีกทั้งหมดทั่วประเทศ มีแบรนด์ใหญ่ที่มีจุดขายมากสุด ได้แก่ WinMart, Co.op Mart และ Bach Hoa Xanh

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของผู้ค้าปลีกต่างชาติในตลาดเวียดนามยังสร้างแรงกดดันต่อผู้ค้าปลีกในประเทศด้วย สถานการณ์ดังกล่าวส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศต้องหาช่องทางแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศมากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการของเวียดนามได้ขยายส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกอย่างมากในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ ในช่วงกลางปี ​​2561 Saigon Co.op ได้เข้าซื้อระบบการค้าปลีกทั้งหมดของ Auchan (ฝรั่งเศส) ในเวียดนาม ในปี 2562 Shop&Go ของสิงคโปร์ได้ขายธุรกิจในเวียดนามให้กับ VinCommerce เช่นกัน นอกจากการดำเนินกิจกรรมในประเทศแล้ว ผู้ค้าปลีกในประเทศจำนวนมากยังได้ขยายระบบการค้าปลีกในตลาดภายในประเทศอีกด้วย

โดยเฉพาะ ระบบ Vincom Retail ของ Vingroup เป็นเจ้าของศูนย์การค้ามากกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ เครือร้านค้าปลีก WinMart และ WinMart ซึ่งมีร้านสะดวกซื้อมากกว่า 3,500 แห่ง กำลังเปิดจุดขายใหม่อย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าตลาดจะมีการแข่งขันสูง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ยังคงเชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกของเวียดนามจะมีฐานที่มั่นคงในตลาดค้าปลีกในประเทศ เนื่องจากการบริโภคของชาวเวียดนามเติบโตในเชิงบวก การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการปรับโครงสร้างทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด ผู้ประกอบการในเวียดนามจำเป็นต้องปรับปรุงในทุกด้าน ตั้งแต่การฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ระดับมืออาชีพไปจนถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ​​ตอบสนองความต้องการของยุคดิจิทัล เพื่อพัฒนาต่อไปในภาคการค้าปลีก

ผู้ประกอบการค้าปลีกจะต้องเชื่อมโยงกับผู้ผลิตสินค้าเวียดนาม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหาร เพื่อให้มั่นใจถึงเสถียรภาพในระบบการกระจายสินค้า นอกจากนี้ ผู้ค้าปลีกในประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดย่อม และไม่มีกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องร่วมทุนกับผู้ค้าปลีกต่างประเทศ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และในปี 2567

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ายังกล่าวว่า ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นปี 2566 กระทรวงฯ จะทำงานร่วมคณะกรรมการประชาชนของเมืองต่างๆ และกรมอุตสาหกรรมและการค้าอย่างไกล้ชิดมากขึ้น เพื่อส่งเสริมโครงการกระตุ้นการบริโภคที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพของตลาดสินค้าสำหรับเทศกาล “เต๊ด” ปีใหม่ 2567 และจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและเพิ่มกำลังซื้อ

นโยบายหลายประการของรัฐบาล เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่มและการเพิ่มเงินเดือนพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566    คาดว่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งมีส่วนช่วยในการฟื้นตัวของ GDP ในปี 2566 ความพยายามของรัฐในการส่งเสริมการบริโภคและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่หลากหลายของผู้ประกอบการกำลังช่วยให้อุตสาหกรรมค้าปลีกดีขึ้นในช่วงหลังของปี 2566

                                         (จาก https://vietnamnews.vn/)

 

ข้อคิดเห็น สคต

เวียดนามได้กลายเป็นหนึ่งในตลาดค้าปลีกที่น่าดึงดูดผู้ค้าปลีกในทั่วโลกและอยู่ในกลุ่ม 30 ประเทศที่มีกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ในปัจจุบันตลาดค้าปลีกในเวียดนามมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูง (เฉลี่ยร้อยละ 11.5 ต่อปี) โดยมีสัดส่วนยอดค้าปลีกรวมใน GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ซึ่งมีส่วนช่วยในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่การเพิ่มสัดส่วนของอุตสาหกรรมและบริการ และเกี่ยวข้องกับการพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของเวียดนามด้วย อัตราการจำหน่ายสินค้าเวียดนามผ่านระบบการจำหน่ายปลีกสูงกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะ สัดส่วนของสินค้าเวียดนามที่จำหน่ายผ่านระบบการกระจายสินค้าค้าปลีกสมัยใหม่มีสัดส่วนสูงอยู่เสมอ โดยเฉพาะระบบการกระจายสินค้าของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ สำหรับแนวโน้มการบริโภค การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางทำให้ความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นและมีความต้องการผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงมากขึ้น ผู้บริโภคชาวเวียดนามเต็มใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้นกับผลิตภัณฑ์ประจำวันของตน โดยเฉพาะสินค้าและบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ในขณะที่เวียดนามกำลังเปิดกว้าง ชาวต่างชาติจำนวนมาก เลือกเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางในการทำงาน ส่งผลให้ความต้องการสินค้านำเข้าสูงขึ้น

ตลาดค้าปลีกของเวียดนามเป็นตลาดที่น่าดึงดูด แต่ก็มีการแข่งขันสูง แม้ว่าผู้เล่นในประเทศอย่าง Saigon Co.op จะยังคงครองตลาดอยู่ แต่ได้รับแรงกดดันจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น (เช่น Central Retail Viet Nam, Aeon Mall, Lotte, เป็นต้น) คาดว่าสำหรับกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต/ไฮเปอร์มาร์เก็ต จะมีการเติบโตมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากผู้เล่นจำนวนมากเริ่มก่อตั้งธุรกิจในเวียดนาม ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการลงทุนการค้าปลีกในเวียดนาม

 

thThai