ธนาคารแห่งชาติแทนซาเนียเตือนภัยเงินดอลลาร์ปลอมระบาด

ธนาคารแห่งชาติประเทศแทนซาเนีย (Bank of Tanzania) ได้ประกาศกฎระเบียบด้านการเงินใหม่ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 แทน กฎระเบียบเดิมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562 เพื่อควบคุมการซื้อ-ขาย เงินตราต่างประเทศอย่างเข้มงวด อันเนื่องมาจากการขาดแคลนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (USD) และได้เตือนให้ผู้ค้า ผู้นำเข้าส่งออกใช้ความระมัดระวังเงินดอลลาร์สหรัฐปลอม ตามแหล่งข่าวระบุว่า รัฐบาลได้รับข้อมูลจากหน่วยงานด้านความมั่นคงว่า มีการยึดธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมจำนวนมากในต่างประเทศ ซึ่งหากหลุดรอดออกไปได้จุดหมายปลายทางของธนบัตรปลอมเหล่านี้ คือส่งมายังประเทศในแอฟริกา ทางธนาคารแห่งชาติแทนซาเนียได้แนะนำให้ผู้ค้าเงินตราต่างประเทศใช้มาตรการป้องกันที่จำเป็นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเงินดอลลาร์สหรัฐปลอมเข้ามาในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 

เนื้อหาของกฎระเบียบที่ปรับปรุงใหม่นั้น สำนักงาน/ตัวแทน การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ อันได้แก่ โครงสร้างสำนักงานหรือบริษัทและการเป็นเจ้าของ กำหนดโดยเงินทุนขั้นต่ำ และขอบเขตการดำเนินงาน

 

จากรายงานการทบทวนเศรษฐกิจรายเดือนล่าสุดเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ธนาคารแห่งชาติแทนซาเนียแถลงว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของแทนซาเนียลดลงเล็กน้อยจาก 5.246 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือ 5.208 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา แม้ว่าตัวเลขทุนสำรองจะลดลงแต่ปริมาณเงินสำรองปัจจุบันยังคงเพียงพอที่จะครอบคลุมการนำเข้าสินค้าได้ 4.7 เดือน ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้งเกณฑ์ที่กำหนดในประเทศ และตามเกณฑ์ที่กำหนดโดย East African Community ซึ่งกำหนดไว้ว่าเงินสำรองของประเทศสมาชิกควรอยู่ในระดับเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าได้ไม่น้อยกว่า 4 – 4.5 เดือน ตามลำดับ

 

ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศระหว่างธนาคารยังคงมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 52.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเดือนกรกฎาคม เพิ่มเป็น 73.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากธนาคารกลางยังคงต้องต่อสู้กับการเรียกเก็บเงินนำเข้าที่สูงขึ้นและความต้องการสกุลเงินต่างประเทศที่สูงในตลาดค้าปลีกภายในประเทศแทนซาเนีย

 

ความเห็นของ สคต.

 

ภาวะการขาดแคลนเงินตราระหว่างประเทศของประเทศในแอฟริกานั้น เริ่มมีความกังวลในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการระบาดของ COVID19 จนมาถึงภาวะสงครามทั้งในยูเครนและอิสราเอลในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของโลกเงินภาวะเงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพสูงขึ้น และเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เอธิโอเปีย แทนซาเนีย หรือ อียิปต์ มีมาตรการในควบคุมการแลกเงินหรือการหาเงินตราระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสกุล USD จนทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสินค้าในหลายประเทศมีจำนวนสูงขึ้น

 

ในส่วนของไทยนั้น ผู้ส่งออกควรใช้ความระมัดระวังในการชื้อขายให้เหมาะสมกับสภาพตลาดและความเข้าใจความยากลำบากของคู่ค้าในแอฟริกาหรือแทนซาเนีย ที่จะหาเงินมาชำระค่าสินค้าได้ยากขึ้น และใช้เวลานานขึ้น เพื่อจะได้ปรับการทำการค้าระหว่างกันให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น สคต. มีความเห็นว่า หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายปัญหานี้ จะเป็นอุปสรรคในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและไทยในอนาคตในปี 2567 ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี ประเทศในแอฟริกาหลายประเทศยังต้องมีการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าค่อนข้างมาก ทำให้แม้จะยากลำบากอย่างไรก็ยังมีการนำเข้าสินค้าอยู่ดี เพียงแต่ความเสี่ยงในการชำระเงินตามระยะเวลาที่ตกลงกันนั้น อาจทำได้ยากขึ้น จากสถานการณ์ดังที่เกิดขึ้นในแทนซาเนียดังกล่าว ที่รัฐบาลเริ่มเข้ามาควบคุมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนที่แลกหรือโอนเข้า-ออกในแต่ละวัน ทำให้ผู้ส่งออกควรสอบถามผู้นำเข้าให้ชัดเจนว่า สถานการณ์แท้จริงของเขานั้นเป็นอย่างไร ซึ่ง สคต. จะได้ติดตามสถานการณ์ในเรื่องอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะมีแนวโน้มว่าปัญหานี้ จะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นในปี 2567 ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าของไทยกับประเทศในแอฟริกาอย่างแน่นอน

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : The EastAfrican

thThai