ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคเนื้อสุกรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2565 ปริมาณการผลิตเนื้อสุกรของจีนอยู่ที่ 55.41 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์ทั้งหมดของจีน ได้แก่ เนื้อสุกร สัตว์ปีก เนื้อวัว และเนื้อแพะ ขณะเดียวกัน ปริมาณการผลิตเนื้อสุกรของจีนคิดเป็นร้อยละ 48.61 ของปริมาณการผลิตเนื้อสุกรทั้งหมดของทั่วโลก
เนื้อสุกรเป็นเนื้อสัตว์หลักที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน โดยปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรของชาวจีนคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรของจีนยังคงค่อนข้างคงที่ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 53.60 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2565 ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรของจีนรวมแล้วอยู่ที่ 56.948 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 50.6 ของการบริโภคเนื้อสุกรทั้งหมดของโลก หากพิจารณาในด้านการบริโภคเนื้อสุกรต่อหัวในประเทศต่างๆ พบว่า ในปี 2565 จีนอยู่ในอันดับที่สามในโลกด้วยปริมาณ 25.39 กิโลกรัม/คน รองจากเกาหลีใต้และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม นับว่ายังสูงกว่าปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรเฉลี่ยต่อหัวของทั่วโลกที่ 11.09 กิโลกรัม/คน
ปัจจุบัน เนื้อสุกรที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมบริโภคส่วนใหญ่ยังคงเป็นเนื้อสุกรสด คิดเป็นร้อยละ 70 ของการบริโภคเนื้อสุกรทั้งหมด ส่วนเหลือก็จะเป็นการบริโภคเนื้อสุกรแช่เย็น/แช่แข็ง อย่างไรก็ตาม ด้วยอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ชและระบบโลจิสติกส์แบบแช่เย็นของจีนได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงทําให้เนื้อสุกรแช่แข็งที่มีคุณภาพกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค คาดว่า ในอนาคต เนื้อสุกรแช่แข็งจะกลายเป็นทางเลือกที่สําคัญในการบริโภคเนื้อสัตว์ของผู้บริโภคชาวจีน
สถานการณ์การนำเข้าเนื้อสุกรของจีน
เนื้อสุกรนำเข้าของจีนส่วนใหญ่เป็นเนื้อแช่แข็งเป็นหลัก และประเภทผลิตภัณฑ์นำเข้าหลัก ได้แก่ เนื้อสุกรแช่แข็ง ขาหน้าสุกรติดกระดูกแช่แข็ง ขาหลังสุกรแช่แข็ง และเนื้อหั่นชิ้น
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การนำเข้าเนื้อสุกรของจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงเวลาระหว่างปี 2557 ถึง 2561 ปริมาณการนำเข้าเนื้อสุกรของจีนอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ต่อมาเนื่องจากโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน (African Swine Fever) มีการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศในช่วงปี 2562 – 2563 จึงทำให้อุปทานเนื้อสุกรภายในประเทศในช่วงเวลานั้นเกิดสถานการณ์ขาดแคลน และต้องหันไปนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าเนื้อสุกรของจีนเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ที่ 4.39 ล้านตันในปี 2563 หลังจากนั้น กำลังการผลิตสุกรของจีนเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง (ในปี 2565 ผลผลิตสุกรที่มีชีวิตของจีนอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน) ประกอบด้วยการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสัตว์ทั่วโลกทำให้ต้นทุนการนำเข้าเนื้อสุกรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ในปี 2565 ปริมาณการนำเข้าเนื้อสุกรของจีนลดลงเป็น 1.76 ล้านตัน ซึ่งลดลงร้อยละ 52.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลสถิติล่าสุดที่เปิดเผยโดย Zhongshang Industry Research Institute ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 2566 ปริมาณการนำเข้าเนื้อสุกรของจีนอยู่ที่ 1.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 2,976.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เนื้อสุกรนำเข้าของจีนส่วนใหญ่มาจากยุโรปและอเมริกา ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2566 แหล่งการนำเข้าเนื้อสุกร (รวมถึงเครื่องใน) หลักๆ ของจีนหลัก ได้แก่ สเปน สหรัฐอเมริกา บราซิล เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ แคนาดา เป็นต้น โดยมีการนำเข้าเนื้อสุกรจากสเปน สหรัฐอเมริกา และบราซิลปริมาณมากที่สุด คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของจีน ส่วนมณฑลการนำเข้าเนื้อสุกรหลักของจีน ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง มณฑลซานตง มณฑลอานฮุย นครเทียนจิน และสถานที่อื่นๆ
ในส่วนของราคาเฉลี่ยขายปลีกเนื้อสุกรของจีนจะเปลี่ยนทุกวันตามสภาพตลาด และแต่ละพื้นที่ยังมีราคาแตกต่างกัน ตามข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ราคาขายปลีกเนื้อสุกรของมณฑลเสฉวนอยู่ที่ 23.50 หยวนต่อกิโลกรัม
(ที่มา : www.jinrizhujia.top/sichuan)
ช่องทางการจำหน่ายเนื้อสุกรในตลาดจีนมีรูปแบบทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 1) การจําหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Taobao, Tmall.com, JD.com, Pindoudou และ Meituan นอกจากนี้ Applications ต่างๆ ที่ออกโดยซูปเปอร์มาร์เก็ตก็ถือว่าเป็นช่องทางจำหน่ายสำคัญอีกช่องทางสำหรับสินค้าเนื้อสุกร อาทิ Hema, Pupu, Vanguard, Duodian, Yonghui เป็นต้น 2) การจําหน่ายผ่านช่องทางออฟไลน์ ได้แก่ ตลาดสด ร้านขายเนื้อสุกรทั่วไป ซุปเปอร์มาร์เก็ต และโมเดิร์นเทรด เช่น Ole, Hema, Vanguard, Carrefour, Walmart และ Sam’s club เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต.
ในระยะสั้น ชาวจีนยังคงนิยมบริโภคเนื้อสุกรมากที่สุด ประกอบกับการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารในยุคหลังการแพร่ระบาด COVID-19 ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้การบริโภคเนื้อสุกรต่อหัวของจีนยังคงมีโอกาสเติบโตสูงขึ้น
ในระยะกลางถึงระยะยาว เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนตระหนักถึงเรื่องสุขภาพมากขึ้น จึงกลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีความสดใหม่ และรวมไปถึงแหล่งที่ผลิตด้วย ดังนั้น ในอนาคต ความต้องการเนื้อสุกรของผู้บริโภคชาวจีนจะเปลี่ยนจากเน้นปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นเน้นที่คุณภาพดีขึ้น
ปัจจุบัน โรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน (African Swine Fever) ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมสุกรทั่วโลก กรณีตัวอย่างโรคอหิวาต์สุกรยังถูกพบในหลายประเทศ รวมถึงอิตาลี สวีเดน เอสโตเนีย และที่อื่นๆ ทั้งนี้ จีนได้ออกประกาศห้ามนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคอหิวาต์สุกรแอฟริกันเข้ามาในประเทศจีน
ในปี 2565 ทางการจีนมีการสั่งห้ามนำเข้าเนื้อสุกรจากเยอรมนี อิตาลี และประเทศอื่นๆ ต่อมาในเดือนกันยายน 2566 กรมศุลกากรจีนได้ออกประกาศว่า ห้ามการนำเข้าสุกร สุกรป่า และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากสวีเดน เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกาเข้าสู่ประเทศจีน แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 จีนได้ตัดสินใจยกเลิกการห้ามและอนุญาตินำเข้าเนื้อสุกรที่ผ่านการตรวจสอบและผ่านมาตรฐานจากรัสเซียเข้าตลาดจีน การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากทางการจีนได้ดำเนินการประเมินระบบควบคุมโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกันของรัสเซียอย่างครอบคลุม และกรมศุลกากรจีนจะกำหนดข้อกำหนดการตรวจสอบและกักกันอย่างเข้มงวดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อสุกรที่นำเข้าจากรัสเซียมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของจีน ดังนั้น ประเทศไทยควรควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และควรสร้างความร่วมมือกับกรมศุลกากรของจีนในเรื่องการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพเนื้อสุกรและสุกรมีชีวิตให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยในการนําเข้าเนื้อสัตว์ของจีนด้วย
————————————————–
แหล่งข้อมูล :
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1766190985806380979&wfr=spider&for=pc
http://k.sina.com.cn/article_1245286342_4a398fc602701c12r.html
http://www.pigscience.com/index.php?m=content&c=index&a=show&catid=3&id=9831
https://www.163.com/dy/article/IFJ3NNHU053874I2.html
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู