เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 นาง Michele Bullock ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียคนใหม่ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 (ครั้งที่ 13 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565) ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายออสเตรเลียอยู่ที่ร้อยละ 4.35 แตะระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี (หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 4.1 เป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน) โดยธนาคารกลางฯ ระบุว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อออสเตรเลียจะผ่านจุดสูงสุดแล้วแต่ยอดค้าปลีกออสเตรเลียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกันโดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 สะท้อนให้เห็นว่า การใช้จ่ายในประเทศยังคงเพิ่มขึ้น ทำให้การลดลงของอัตราเงินเฟ้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้และยังอยู่ในระดับสูง
ยอดขายในตลาดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน เป็นผลมาจากสภาพอากาศในช่วงฤดูใบไม้ผลิร้อนเร็วกว่าปกติ ทำให้มีการใช้จ่ายซื้อสินค้า Non-food เพิ่มขึ้นโดยเป็นการซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 1.7) สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ 1.5) สินค้าอื่นๆ เช่น สินค้าเภสัชกรรม (ร้อยละ 1.3) สินค้าอาหาร (ร้อยละ 1.0) และเสื้อผ้า รองเท้าและเครื่องแต่งกาย (ขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงที่ร้อยละ 0.3) การรับประทานอาหารนอกบ้านของชาวออสเตรเลียในร้านอาหาร ภัตราคาร คาเฟ่และร้านอาหาร Takeaway ค่อนข้างทรงตัว การใช้จ่ายซื้อสินค้าของชาวออสเตรเลียเพิ่มขึ้นทุกรัฐโดยเฉพาะรัฐ Queensland ที่มีโปรแกรม Climate Smart Energy Savers Rebate program กระตุ้นให้ประชาชนปรับระดับคุณภาพ/มาตรฐานเครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน ตู้เย็นและเครื่องอบแห้ง) ให้เป็นประเภทประหยัดพลังงานมากขึ้น
ปัจจุบันดัชนีราคาผู้บริโภคไตรมาสเดือนกันยายนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ทำให้อัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 5.4 จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการทั้งหมด แม้ว่าราคาค่าบริการดูแลเด็ก ราคาสินค้าผักและค่าบริการที่พักและท่องเที่ยวในประเทศจะลดลง แต่ราคาค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ค่าพลังงานและค่าบริการ (ขนส่งและประกันภัย) ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลให้ธนาคารขนาดใหญ่ออสเตรเลีย (ยกเว้นธนาคาร Commonwealth Bank) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นเต็มจำนวน ส่งผลให้เพิ่มแรงกดดันทางการเงินแก่ชาวออสเตรเลียมากขึ้นท่ามกลางปัญหาค่าครองชีพที่สูงในปัจจุบัน รวมถึงการต้องควบคุมการใช้จ่ายเพื่อเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินต่างๆคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก่อนที่จะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อลดลงที่ระดับร้อยละ 2-3 ให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2568
การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้ราคาที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานโดย CoreLogic ระบุว่า ราคาที่พักอาศัยออสเตรเลียเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ทำให้ราคาที่พักอาศัยออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 (จากระดับต่ำสุด) โดยราคาบ้านในนครซิดนีย์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 นครเพิร์ทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 นครบริสเบนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 และนครเมลเบิร์นเพิ่มร้อยละ 4 โดยราคากลางของบ้านในนครซิดนีย์อยู่ที่ 1,396,888 เหรียญออสเตรเลียราคากลางอพาร์ทเมนต์อยู่ที่ 832,222 เหรียญออสเตรเลีย สำหรับราคากลางของบ้านในนครเมลเบิร์ทอยู่ที่ 937,736 เหรียญออสเตรเลียราคาอพาร์ทเมนต์อยู่ที่ 615,022 เหรียญออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาที่ทำสถิติสูงสุดในช่วงปี 2565
อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละรัฐ อยู่ในอัตราชะลอตัว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางออสเตรเลียเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่ยังอยู่ระดับสูง ทำให้กำลังซื้อของนักลงทุนลดลง โดยชะลอการลงทุนซื้อบ้านลงและทยอยขายบ้านที่มีผลกำไรออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระการผ่อนชำระที่เพิ่มขึ้น
ปัญหาหลักที่ออสเตรเลียกำลังเผชิญอยู่ คือ ปัญหาค่าครองชีพที่สูง (จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการ) และตลาดแรงงานที่ยังขาดแคลน (อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 3.6) แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของผู้เดินทางเข้ามาในออสเตรเลีย (นักเรียน/นักศึกษา/นักท่องเที่ยว/แรงงาน) จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาแรงงานได้แต่ปัญหาที่ตามมา คือ การขาดแคลนที่พักอาศัย เนื่องจากที่พักอาศัยในออสเตรเลียมีอย่างจำกัดทำให้ราคาค่าเช่าและราคาขายสูงขึ้นซึ่งเกินกำลัง (นักลงทุน/ผู้ซื้อบ้านหลังแรกและผู้เช่า) โดยล่าสุด รายงานโดย Housing Industry Association (HIA) เปิดเผยว่า รัฐบาลกลางได้จัดสรรเงินกองทุนมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญออสเตรเลียในโครงการ Housing Australia Future Fund (HAFF) เพื่อการสร้างบ้านราคาถูกและบ้านสวัสดิการแก่ประชาชนโดยตั้งเป้าไว้ที่ 30,000 หลังในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้ชาวออสเตรเลียที่มีรายได้ต่ำ/ปานกลางสามารถซื้อที่พักอาศัยได้ เงินกองทุนดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลกลางในการเพิ่มจำนวนที่พักอาศัยใหม่ จำนวน 1.2 ล้านหลังคาเรือนภายในระยะเวลา 5 ปี (จะเริ่มกรกฎาคม 2567) (ประกอบด้วยเงินทุน New Homes Bonus มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย เงินทุน Housing Support Program มูลค่า 500 ล้านเหรียญออสเตรเลียและเงินทุน Social Housing Accelerator มูลค่า 2,000 ล้านเหรียญออสเตรเลียในการสร้างบ้านสวัสดิการทั่วออสเตรเลีย)
อย่างไรก็ตาม HIA ได้ออกมาเตือนว่า การสร้างบ้านภายใต้เงินกองทุน HAFF จะทำให้มีที่พักอาศัยใหม่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.5 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่พักอาศัยในวงกว้าง อาทิ กรอบระยะเวลาในการอนุมัติโครงการก่อสร้างให้สั้นลง การขยายที่พักอาศัยและพัฒนาระบบคมนาคมในเขตชุมชนหนาแน่น การยกเลิกภาษี Punitive Tax กับนักลงทุนและผู้ซื้อบ้านหลังแรก รวมถึงการผ่อนปรนความเข้มงวดด้านกฎหมายทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหาการขาดแคลนที่พักอาศัยปัจจุบัน
………………………………………………………………………………………………
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์
ที่มา :
www.smh.com.au / www.businessnewsaustralia.com /www.afr.com