การขยายตัวภาคบริการนำการขยายตัวเศรษฐกิจของมณฑลฝูเจี้ยน ในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2566

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เว็บไซต์ทางการของสำนักสถิติประจำมณฑลฝูเจี้ยนได้เผยแพร่รายงานผลการเติบโตทางเศรษฐกิจเบื้องต้นของมณฑล ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลักของมณฑลมี GDP อยู่ที่ 3.91 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 YoY จัดอยู่อันดับที่ 8 ของประเทศ โดยมีมูลค่าภาคการเกษตร (Primary Industry) 198,940 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 YoY มูลค่าภาคอุตสาหกรรม (Secondary Industry) 1.80 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 YoY และ มูลค่าภาคบริการ (Tertiary Industry) 1.90 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 YoY ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบ GDP ในช่วง 3 ไตรมาสแรก 2566 ของแต่ละเมืองในมณฑลฝูเจี้ยน มีดังนี้

การขยายตัวภาคบริการนำการขยายตัวเศรษฐกิจของมณฑลฝูเจี้ยน ในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2566

 

ด้านรายได้ของผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้ที่ใช้ได้จริงเฉลี่ยต่อหัว 35,439 หยวนต่อปี แบ่งเป็น รายได้ที่ใช้ได้จริงเฉลี่ยต่อหัวในเขตเมือง 44,497 หยวนต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 YoY และ รายได้ที่ใช้ได้จริงเฉลี่ยต่อหัวในเขตชนบท 19,667 หยวนต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 YoY  การบริโภคในตลาดค่อยๆ ฟื้นตัว ยอดขายสินค้าแฟชั่น และสินค้าพื้นฐานเพื่อการครองชีพขยายตัวขึ้น อาทิ สินค้าอาหาร ธัญพืชและน้ำมันมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 YoY  สินค้าเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 YoY สินค้าของใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 YoY และสินค้ากีฬาและความบันเทิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 YoY ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2566 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของมณฑลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 YoY

ด้านมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของมณฑลฝูเจี้ยนในช่วง 3 ไตรมาสแรก 2566 มีการปรับตัวลงเล็กน้อย โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 1.45 ล้านล้านหยวน ลดลงร้อยละ 1.7 YoY โดยแบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 858,020 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 4.8 YoY และมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 592,450ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 YoY สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ รองเท้า เครื่องแต่งกาย และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น และสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เชื้อเพลิง น้ำมันแร่ สินแร่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และ เหล็กกล้า เป็นต้น คู่ค้านำเข้าสำคัญของมณฑลฝูเจี้ยนได้แก่ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย บลาซิล สหรัฐอเมริกา และซาอุดิอาระเบีย ตามลำดับ

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : มณฑลฝูเจี้ยนยังมีการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจมณฑลฝูเจี้ยนในหลายปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ GDP ภาคบริการ ยังคงขยายตัวมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ สะท้อนถึงเศรษฐกิจมณฑลขับเคลื่อนขยายตัวด้วยภาคบริการมากขึ้น การค้าปลีก ภาคการบริโภคมีแรงผลักดันมากอย่างยิ่ง  การท่องเที่ยวกระตุ้นเม็ดเงินในตลาดได้อย่างชัดเจน ด้วยเศรษฐกิจของมณฑลฝูเจี้ยนมีพัฒนาไปในทางที่ดี ประชาชนส่วนมากนิยมสินค้าคุณภาพสูง สินค้าไทยยังคงเป็นสินค้าที่ได้รับการไว้วางใจจากคนจีนในด้านคุณภาพ ทำให้ยังคงมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ อาหาร เครื่องดื่ม ของไทย

ทั้งนี้ จากสถิติกรมศุลกากรแห่งชาติจีน ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2566 มณฑลฝูเจี้ยนมีมูลค่าการค้ากับประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 5,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.73 YoY ซึ่งไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 12 ของคู่ค้ามณฑลฝูเจียน โดยมีมูลค่าการส่งไปไทยที่ 3,788 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 7.05 YoY และมีมูลค่านำเข้าสินค้าจากไทยที่ 1,511 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.70 YoY สินค้านำเข้าหลักจากไทย ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า น้ำตาล พลาสติกโพลิเมอร์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง แป้งสตาร์ช และแป้งข้าวโพด เป็นต้น

ที่มา:
https://mp.weixin.qq.com/s?__biz=MzAxMjk4MzMyMA==&mid=2247648177&idx=1&sn=b680d89adc0a0ac29bf1ef34e20e8538&chksm=9ba54ec6acd2c7d0baece711ecbe9f1d1ef3e7035bed51f363d02d1d8e382c114c5a825073b5&scene=27
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1779972205790423790&wfr=spider&for=pc
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
10 พฤศจิกายน 2566

 

thThai