เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 รัฐบาลโคลอมเบียประกาศใช้กฎหมาย ฉบับที่ 2598/2022 ซึ่งมีการแก้ไขอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องแต่งกายในพิกัดศุลการ 61 และ 62 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสื้อผ้าขนสัตว์ ฝ้าย หรือเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งการออกกฎหมายดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันในภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของโคลอมเบีย รวมถึงการเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา อัตราภาษีสำหรับเสื้อผ้าและเครื่องนุ่มห่ม เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 40 ที่ผ่านมา รัฐบาลโคลอมเบียมีการปรับอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าทั่วไปที่ร้อยละ 40 หรือคิดเป็นมูลค่าต่ำกว่า 10 เหรียญสหรัฐ ต่อเสื้อผ้านำเข้า 1 กิโลกรัม ภายใต้กฎหมายฉบับที่ 414 ที่มีผลใช้บังคับเมื่อเดือนเมษายน 2564 ทั้งนี้ อัตราภาษีนำเข้าใหม่ใช้ทดแทนการอัตราภาษีและเงื่อนไขที่กฎหมายเดิมเคยกำหนด โดยบังคับใช้กับการนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มจากประเทศที่โคลอมเบียไม่มีการจัดความความตกลงทางการค้า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มในพิกัด 61 และ 62 ในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2566 ลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.58 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 หรือคิดเป็นมูลค่าที่ลดลงจาก 444 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 362.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตารางที่ 1: ประเทศคู่ค้าสำคัญของโคลอมเบียในสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม
No. | คู่ค้า | 2563
(ล้านเหรียญสหรัฐ) |
2565
(ล้านเหรียญสหรัฐ) |
2566
(ล้านเหรียญสหรัฐ) |
% การเปลี่ยนแปลง 2566/65 |
1.- | โลก | 312.7 | 444.0 | 362.2 | -18.42 |
2.- | จีน | 130.7 | 175.6 | 132.1 | -24.79 |
3.- | บังคลาเทศ | 43.7 | 62.0 | 58.8 | -5.06 |
4.- | ตุรกี | 22.0 | 30.4 | 22.2 | -26.96 |
5.- | เวียดนาม | 17.7 | 23.2 | 21.3 | -8.13 |
17.- | ไทย | 2.3 | 2.4 | 3.2 | 31.58 |
ที่มา: Global Trade Atlas
ในจำนวน 20 ประเทศแรกที่เป็นคู่ค้าสำคัญของโคลอมเบีย มีจำนวนเพียง 5 ประเทศที่มีการส่งออกไปยังโคลอมเบียเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไทย (อันดับที่ 17) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.58 สเปน (อันดับที่ 19) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 บราซิล (อันดับที่ 18) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.89 อิตาลี (อันดับที่ 15) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.76 และโปรตุเกส (อันดับที่ 12) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.46 ในขณะที่โคลอมเบียนำเข้าลดลงจากหลายประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก (อันดับที่ 10) ลดลงร้อยละ 62.38 ตุรกี (อันดับที่ 3) ลดลงร้อยละ 26.96 จีน (อันดับที่ 1) ลดลงร้อยละ 24.79 ปากีสถาน (อันดับที่ 8) ลดลงร้อยละ 21.66 และโมร็อกโก (อันดับที่ 7) ลดลงร้อยละ 20.75
ทั้งนี้ โคลอมเบียนำเข้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มส่วนใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มในพิกัดศุลกากร 61 และ 62 ด้วย ซึ่งมีการนำเข้าจาก 17 ประเทศ โดยนำเข้าจากจีนสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.47 รองลงไปคือบังคลาเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.24 นอกจากนี้ การบริโภคเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มเฉลี่ยต่อครัวเรือนของโคลอมเบียมีแนวโน้มลดลง โดยมีการซื้อเสื้อผ้าลดลงจากเดิมประมาณ 4 ชิ้น ตั้งแต่ปี 2565 เนื่องจากราคาเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้น
การกำหนดอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้รัฐบาลโคลอมเบียสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีเสื้อผ้าได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.3 หรือประมาณ 79,488 ล้านเปโซโคลอมเบีย เฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการโคลอมเบียที่อยู่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้ายังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการกำหนดมาตรการเพิ่มอัตราภาษีดังกล่าวของรัฐบาลจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ เนื่องจากผู้นำเข้าเสื้อผ้าส่วนใหญ่มีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าก่อนที่รัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายเพิ่มอัตราภาษีนำเข้า ซึ่งที่ผ่านมา โคลอมเบียมีการนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ในเดือนธันวาคม 2665 ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายการเพิ่มอัตราภาษีดังกล่าว ยังรวมไปถึงวัตถุจำเป็นต่อการผลิต เช่น ด้ายเย็บผ้า (โคลอมเบียมีการนำเข้าประมาณร้อยละ 90 ของวัตถุดิบทั้งหมด) มีภาษีนำเข้าร้อยละ 10 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 ทำให้ผู้ประกอบการด้านการผลิตเสื้อผ้าในท้องถิ่น เรียกร้องให้รัฐบาลระงับการจัดเป็บภาษีนำเข้าวัตถุการผลิตที่ไม่ได้ผลิตในประเทศหรือในช่วงที่มีการขาดแคลนวัตถุดิบและมีความจำเป็นต้องนำเข้า นอกจากการบังคับใช้มาตรการภาษีแล้ว รัฐบาลโคลอมเบียมีแผนในการบังคับใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ในปี 2567 ที่จะลดชั่วโมงการทำงานจาก 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็น 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และการทำงานในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ลูกจ้างจะได้รับค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินเดือน ทดแทนอัตราเดิมที่ร้อยละ 75 ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ[1]
บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มในปีนี้ของหลายประเทศ ต้องประสบกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น และการลดขนาดของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) คาดการณ์ภาพรวมการค้าโลก (หมวดเครื่องแต่งกาน) ในปี 2566 อาจขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรือประมาณร้อยละ 0.8 – 1.5
การผลิตสินค้าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าแฟชั่นของโคลอมเบียสอดคล้องกับสถานการณ์โลก ซึ่งมีแนวโน้มที่โคลอมเบียจะมีการผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น และลดลงการพึ่งการนำเข้า ทั้งนี้ รัฐบาลควรมีเพิ่มแรงจูงใจต่อผู้ผลิตภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มของโคลอมเบีย อาจส่งผลกระทบให้โคลอมเบียนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าจากภูมิภาคเอเชียลดลง โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งที่ผ่านมาโคลอมเบียมีการนำเข้าเสื้อผ้าจากจีนมาเป็นอันดับที่ 1 ทั้งนี้ ประเทศคู่ค้าที่มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับโคลอมเบียมีความได้เปรียบทางการแข่งขันทันที อย่างไรก็ดีวัตถุประสงค์หลักของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและขยายการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายในประเทศ การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเสื้อผ้ารวมไปถึงวัตถุดิบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปโคลอมเบีย เนื่องจากสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังโคลอมเบีย โดยในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2566 ไทยส่งออกสินค้าด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ไปโคลอมเบีย คิดเป็นมูลค่า 216.23 ล้านบาท ลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีการส่งออกคิดเป็นมูค่า 1,441.37 ล้านบาท
การนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าในพิกัดศุลการ 61 และ 62 ของโคลอมเบียจากคู่ค้าหลักลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่โคลอมเบียมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าเสื้อผ้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ชุดกีฬา ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกไปโคลอมเบียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากชาวโคลอมเบียให้ความนิยมเพิ่มขึ้นต่อการแต่งกายในรูปแบบกีฬาลำลอง (Athleisure) และมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีจนถีงปี 2568 ที่ GlobalData มีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายถึง 551,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 25 ระหว่างปี 2564 – 2568 และชุดกีฬาจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเป็นร้อยละ 23.6 ภายในปี 2568[1]
ผู้ประกอบการไทยควรตระหนักถึงความท้าทายและความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปยังโคลอมเบีย อาทิ เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน/ชะลอตัว สถานการณ์เงินเฟ้อในแต่ละประเทศที่สูงขึ้น ต้นทุนพลังานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าว ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม[2] ในด้านการวางแผนสำหรับการหาแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงด้านการจัดหาวัตถุดิบในการผลิต และการดำเนินตามกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การตรวจสอบย้อนกลับร่วมกันระหว่างแบรนด์กับ supplier เพื่อให้ทราบถึงคุณสมบัติของวัตถุดิบ
____________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
พฤศจิกายน 2566
[1] Local newspaper – https://www.larepublica.co/ocio/se-preve-que-el-mercado-de-la-ropa-deportiva-alcance-los-us-551-00-millones-en-2025-3450012
[2] สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (2566) ความท้าทายและโอกาสของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ในปี 2566 https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.3326.1.0.html
*1 USD= $3,970.01 Colombian pesos
[1]Shopping centers and retailers worldwide news – https://www.mallyretail.com/actualidad/mall-y-retail-boletin-493-noticia-1
Shopping centers and retailers worldwide news – https://www.mallyretail.com/actualidad/mall-y-retail-boletin-470-noticia-1
Platform about business and finance news – https://www.bloomberglinea.com/latinoamerica/colombia/impuestos-a-ropa-importada-si-favorecen-produccion-colombiana-textileros-responden/
A market leader in helping both local and foreign companies to successfully expand their business globally – https://www.bizlatinhub.com/proposed-labor-reform-in-colombia-what-could-it-mean-for-your-business/