สำนักงานสถิติมณฑลซานตงได้เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 โดย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของมณฑลซานตงมีมูลค่า 6.8125 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 34.06 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 แบ่งเป็นอุตสาหกรรมปฐมภูมิ 468,800 ล้านหยวน (2.344 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 อุตสาหกรรมทุติยภูมิ 2.6495 ล้านล้านหยวน (13.24 ล้านล้านบาท) และอุตสาหกรรมตติยภูมิ 3.6942 ล้านล้านหยวน (18.47 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)
ภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ และประมง มีมูลค่า 881,910 ล้านหยวน (4.40 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 การผลิตและเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตรในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ผัก และผลไม้ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 การปศุสัตว์มีทิศทางที่ดีมีผลผลิตหมูเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 การเลี้ยงสัตว์ปีกขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 ผลผลิตเนื้อสัตว์ ไข่ นม มีอุปทานเพียงพอ สำหรับการประมงมีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8
ภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่ามูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยเฉพาะในเดือนกันยายนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ทั้งนี้ พบว่า อุตสาหกรรม 33 สาขา (จาก41 สาขา) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 80.5 และอุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 และอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3
ภาคการลงทุน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 โดยการลงทุนในอุตสาหกรรมปฐมภูมิลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 2.8 มีการลงทุนในอุตสาหกรรมทุติยภูมิขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 และมีการลงทุนในอุตสาหกรรมตติยภูมิเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0
ภาคการบริโภค ตลาดการบริโภคฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ยอดขายสินค้าในชีวิตประจำวัน และการเดินทาง มีทิศทางที่ดี โดยมียอดการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 แบ่งเป็นการค้าปลีกตลาดในเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 และการค้าปลีกตลาดในชนบทเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 สินค้าในชีวิตประจำวัน อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม บุหรี่ และสุรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ของใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 และ ยา เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ด้านสินค้าประเภทเดินทาง พบว่า ยอดค้าปลีกรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 น้ำมันและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0
ภาคบริการ มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม รายได้ของภาคบริการ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 โดยบริการสารสนเทศ ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ธุรกิจบริการให้เช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 และอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8
รายได้ของประชากรเฉลี่ยต่อหัวเท่ากับ 30,567 หยวน (152,835 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 แบ่งเป็นรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชนในเขตเมืองเท่ากับ 39,039 หยวน (195,195 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชนในเขตชนบทเท่ากับ 19,197 หยวน (95,985 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 และมีการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้น 975,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 แบ่งเป็น CPI ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และชนบทอยู่ที่ระดับเดิม
ด้านการค้าระหว่างประเทศ มีมูลค่า 2.4134 ล้านล้านหยวน (12.06 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 แบ่งเป็น การส่งออก มูลค่า 1.43658 ล้านล้านหยวน (7.1829 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 การนำเข้า มูลค่า 976,820 ล้านหยวน (4.8841 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ การค้าระหว่างประเทศในเดือนกันยายนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 แบ่งเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 มีการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 และมีการค้าระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศ BRI เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0
ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ
มณฑลซานตงเป็นมณฑลที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คิดเป็นอันดับ 3 ของจีน เป็นมณฑลที่มีรากฐานอุตสาหกรรมที่มั่นคงเป็นข้อได้เปรียบ ทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีมีเมืองท่าที่สำคัญ มีจำนวนประชากรจำนวนมาก ตลาดผู้บริโภคมีชีวิตชีวา ตลาดการบริโภคมีโอกาสเติบโต สำหรับในช่วง 3 ไตรมาสแรกนี้ เศรษฐกิจของมณฑลซานตงเติบโตในทิศทางที่สดใส ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การลงทุน การบริโภค และการค้าระหว่างประเทศ สำหรับด้านการค้าระหว่างประเทศ มณฑลซานตงถือเป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะ ยางพารา มันสำปะหลัง และผลไม้ โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกนี้ มณฑลซานตงมีการนำเข้าจากไทยในสินค้า ยางพารา มากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.83 มันสำปะหลัง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.8 และผลไม้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.34 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากไทย โดยพบกว่ากลุ่มสินค้าที่มณฑลซานตงมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ผลไม้ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่มณฑลซานตงนำเข้าจากไทยยังค่อนข้างกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่สินค้า (โดยสินค้า 5 อันดับแรกที่มณฑลซานตงนำเข้าจากไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของการนำเข้าจากไทยทั้งหมด) อย่างไรก็ดี ซานตงนับเป็นอีกมณฑลที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ ในพื้นที่ตอนเหนือของจีนที่ยังถือเป็นตลาด Blue Ocean ที่ยังมีช่องว่างในตลาดอีกมากสำหรับสินค้าไทย
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
แหล่งที่มา https://baijiahao.baidu.com/s?id=1780712866997065052&wfr=spider&for=pc