ความกังวลของภาคอุตสาหกรรมในอิตาลี ต่อกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (PPWR)

ในปี 2552 สหภาพยุโรปมีการผลิตขยะบรรจุภัณฑ์มีปริมาณถึง 66 ล้านตัน โดยในปี 2564 ตัวเลขดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 84 ล้านตัน ส่งผลให้สหภาพยุโรปได้เล็งเห็นและมุ่งหวังที่จะหยุดยั้งปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยเน้นใช้กระบวน 3R ของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ (Recovery) และการรีไซเคิล (Recycle) โดยการออกกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์ (Packaging and Packaging Waste Regulation – PPWR) ว่าด้วยการกำจัดบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นและในขณะเดียวกันก็ทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อค่อย ๆ ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ให้ได้ 5% ภายในปี 2573 10% ภายในปี 2578 และ 15% ภายในปี 2583 และเพื่อค่อยๆ ลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ได้ 10% ภายในปี 2573 15% ภายในปี 2578 และ 20% ภายในปี 2583 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวการใช้มาตรการจะแตกต่างกันไป โดยจะเริ่มจากการไม่อนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง และเน้นการใช้ซ้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2571 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีการโต้แย้งมากที่สุด คือ การห้ามใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง/ใช้ครั้งเดียว (มาตรา 22) และการใช้ซ้ำ (มาตรา 26)
โดยกฎข้อบังคับดังกล่าวมีผลต่อภาคธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง โดยการห้ามใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งสำหรับเครื่องปรุงรส แยม ซอส ครีมเทียมกาแฟ น้ำตาล และห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งสำหรับผักและผลไม้สด ที่มีขนาดบรรจุน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกสำหรับใส่ผักสลัด ถุงตาข่ายสำหรับใส่ผลไม้ ตะกร้าสำหรับใส่ผัก/ผลไม้ โดยภาคธุรกิจโรงแรม ห้ามใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวสำหรับเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขอนามัย ที่มีปริมาณน้อยกว่า 50 มิลลิลิตร สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลว และน้อยกว่า 100 กรัม สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ของเหลว เช่น ขวดแชมพู ขวดโลชั่นทามือและผิวกาย ถุงขนาดเล็กสำหรับสบู่ก้อน นอกจากนี้ ห้ามใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งสำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่มสำหรับภาคธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และระบบจัดเลี้ยง นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าการห้ามใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งจะมีผลต่อการใช้ในครัวเรือนด้วย ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในร้านค้าปลีก ไปจนถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในรูปแบบกระป๋อง และถาด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการใช้ซ้ำ ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป 20% ของส่วนแบ่งของเครื่องดื่มที่วางจำหน่ายในรูปแบบขวดหรือกระป๋อง จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้อีกครั้ง นั้นหมายความว่าเครื่องดื่มที่วางจำหน่ายจำนวน 100 ขวด จะต้องมีเครื่องดื่มจำนวน 20 ขวด ที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของวงจรการใช้ซ้ำ นอกจากนี้ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2570 เครื่องดื่มที่บริโภคภายในร้านค้าต่าง ๆ จะต้องจำหน่ายในแก้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ในขณะที่ภายใน 2 ปี ผู้บริโภคจะต้องเติมเครื่องดื่มลงในภาชนะขวดน้ำของตนเอง รวมถึงผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องดื่มและอาหารกลับบ้านจะต้องคุ้นเคยกับการนำขวดน้ำ และภาชนะส่วนตัวที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่
ความกังวลของภาคอุตสาหกรรมในอิตาลี ต่อกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (PPWR)
ความกังวลของภาคอุตสาหกรรมในอิตาลี ต่อกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (PPWR)
ความกังวลของภาคอุตสาหกรรมในอิตาลี ต่อกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (PPWR)
จากการเสนอกฎระเบียบใหม่ด้านบรรจุภัณฑ์ของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของรัฐสภายุโรป ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมอิตาลีแสดงความกังวลกับข้อเสนอดังกล่าว ตั้งแต่ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมอาหาร ไปจนถึงห่วงโซ่อุปทานพลาสติก ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อต่อต้านกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำแทนการรีไซเคิล (ในปี 2564 อิตาลีถือเป็นประเทศที่มีอัตราการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์สูงอยู่ที่ 73.3% ซึ่งเกินเป้าหมายของสหภาพยุโรปที่ได้กำหนดอยู่ที่ 70% ในปี 2573) และห้ามบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดย Mr. Giangiacomo Pierini ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์แห่งชาติอิตาลี (Assobibe) คาดการณ์ว่า จะต้องใช้เงินลงทุนเริ่มแรกกว่า 2.3 พันล้านยูโร และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ 350 ล้านยูโร/ปี รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านระบบไอที 1 พันล้านยูโร มากไปกว่านั้น ภาคอุตสาหกรรมต้องลงทุนในด้านสายการผลิตใหม่ ขยายขนาดของคลังเก็บสินค้าให้ใหญ่ขึ้น และระบบการขนส่ง เพื่อรองรับจำนวนขวดที่จะต้องนำมาใช้ซ้ำ
นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมที่มีความตื่นตระหนกมากที่สุดกับกฎระเบียบ (PPWR) คือ ผู้ผลิตสินค้าผักและผลไม้สด โดย Mr. Ettore Prandini ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมแห่งชาติ (Coldiretti) แสดงความคิดเห็นว่า ข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของรัฐสภายุโรปเสนอใช้ มีความเสี่ยงที่จะทำลายภาคการผลิตสินค้าผักและผลไม้สดที่มีมูลค่าการค้าที่สำคัญในอิตาลีมากกว่า 1 พันล้านยูโร ตั้งแต่ผักสลัดบรรจุถุงไปจนถึงผลไม้บรรจุห่อ มากไปกว่านั้นผลกระทบด้านลบต่อต้นทุนการผลิตอาจมีความเสี่ยงที่ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระด้านราคาที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศยังคงไม่ฟื้นตัวมากนัก
Mr. Edoardo Leone เจ้าของบริษัท Almeda (มีสายการผลิตผลิตบรรจุภัณฑ์วันละ 200,000 บรรจุภัณฑ์) ยืนยันว่า ในปัจจุบันยังไม่มีวัสดุอื่นทดแทนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งสำหรับถุงบรรจุผักสลัดที่ล้างแล้วได้ และยังไม่เห็นว่ามีวัสดุอื่นที่ได้รับการยืนยันว่ามีต้นทุนต่ำกว่าพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง รวมถึงยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องในแวดวงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในอิตาลีแสดงความคิดเห็นว่า บรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้แล้วทิ้งมีส่วนสำคัญในการปกป้อง การเก็บรักษาอาหารและสุขอนามัยของสินค้าได้เป็นอย่างดี โดยสมาคมอุตสาหกรรมนม (Assolatte) แสดงความกังวลและคาดหวังว่า ผลิตภัณฑ์นมจะได้รับการยกเว้นในกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (PPWR) เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงต้นทุนและเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้ในการฆ่าเชื้อภาชนะบรรจุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่/ซ้ำนั้น บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งยังคงยั่งยืนที่สุดทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม
สมาพันธ์การค้าของอิตาลี (Confcommercio) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการกำหนดใช้กฎระเบียบใหม่ (PPWR) เป็นอย่างมาก ได้แก่ บริษัทในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ผู้จัดจำหน่ายขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ธุรกิจจัดเลี้ยง ร้านอาหาร และด้านการท่องเที่ยว โดยสมาพันธ์การค้าของอิตาลีมองว่า การห้ามใช้ภาชนะใช้ครั้งเดียวนั้นถือว่าขัดแย้งกับกฎสำหรับการคุ้มครองและเก็บรักษาอาหารและการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค และสหพันธ์ยางและพลาสติก (Unionplast) ได้แสดงความผิดหวังกับกฎระเบียบดังกล่าว เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานพลาสติกของอิตาลีมีความสำคัญเป็นอันดับ 2 ในยุโรป รองจากเยอรมนี โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 13 พันล้านยูโร และมีบริษัทมากกว่า 2,950 แห่ง โดยไม่นับรวมกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยวัตถุดิบที่เกิดจากกระบวนการรีไซเคิลมีจำนวน 1.4 ล้านตันต่อปี
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
การที่สหภาพยุโรปได้เสนอกฎระเบียบข้อบังคับใหม่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์ (PPWR) ก็เพื่อเป็นการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการนำมาใช้ซ้ำ และลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง เนื่องจากปริมาณของขยะบรรจุภัณฑ์ในสหภาพยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาคอุตสาหกรรมด้านการเกษตรและอาหารในอิตาลี ซึ่งถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการบังคับใช้กฎระเบียบข้อบังคับดังกล่าว เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อป้องการ รักษาคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งถือเป็นความท้าทายแก่ภาคอุตสาหกรรมด้านการเกษตรและอาหาร รวมถึงธุรกิจบริการร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจจัดเลี้ยงของอิตาลี/ยุโรป ซึ่งที่ผ่านมา สหภาพยุโรปก็มีการประกาศใช้นโนบาย มาตรการ และกฎระเบียบอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ และความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน อาทิ นโยบาย European Green Deal ที่ต้องการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจยุโรปไปสู่ทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืนและเป็นธรรม
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ในทางธุรกิจการค้ากับประเทศคู่ค้าอย่างอิตาลี/ยุโรป ที่มีการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานด้านความยั่งยืนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในอนาคตของการบริโภค อุปโภคสินค้าในสหภาพยุโรป จะพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพสัตว์ และความยั่งยืนเป็นสำคัญ
——————————————————————-
ที่มา: Nuovo regolamento UE sugli imballaggi: addio al monouso e avanti con il riutilizzo – Il Sole 24 ORE; Industria in allarme sul regolamento Ue degli imballaggi – Il Sole 24 ORE

thThai