ในปัจจุบันอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลกำลังมีความสำคัญมากขึ้นในเศรษฐกิจเวียดนาม โดยจากรายงาน e-Conomy SEA 2023 ของ Google, Temasek และ Bain & company ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2566 ประกาศตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย 2566 กล่าวว่า เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 3 ของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีมูลค่ารวม 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 โดยตลาด
อีคอมเมิร์ซคาดว่าจะสร้างมูลค่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2566 และจะเติบโตเป็นเลขสองหลักในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
นางสาว Doan Ngoc Lan ผู้ดูแลแพลตฟอร์ม Ekip ศูนย์พัฒนาอีคอมเมิร์ซ กรมอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้ระบุแนวโน้มอีคอมเมิร์ซหลัก 10 ประการในเวียดนาม ดังนี้
การซื้อของผ่านการตลาดแบบผสมผสานหลายช่องทาง (Omni channel) ยังคงครองอันดับ 1 ของแนวโน้มอีคอมเมิร์ซในเวียดนามปี 2566 โดยมีการสำรวจพบว่าลูกค้าประมาณร้อยละ 56 ใช้สมาร์ทโฟนในการศึกษาสินค้าขณะอยู่ในร้านค้าปลีก นอกจากนี้ผู้ใช้ร้อยละ 75 ใช้ช่องทางต่างๆ มากมาย เช่น เว็บไซต์ โซเชียลเน็ตเวิร์ก ร้านค้า เป็นต้น เพื่อซื้อสินค้า การขายสินค้าในรูปแบบผสมผสานหลายช่องทางเป็นแนวโน้มของปี 2566 และอาจจะเป็นแนวโน้มที่ต่อไปในอนาคต
แนวโน้มที่ 2 คือการขายของบนมือถือ โดยคุณ Lan กล่าวว่ากระแสการซื้อของผ่านช่องทางสมาร์ทโฟนมีความโดดเด่นมากขึ้นซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคใช้โทรศัพท์มือถือร้อยละ 88 เพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและร้อยละ 47 ซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ
การขายของผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอยู่อันดับที่ 3 ของแนวโน้มอีคอมเมิร์ซของเวียดนามในปี 2566 และยังเป็นแนวโน้มทั่วไปในหลายประเทศทั่วโลก จากข้อมูลของ Statista ยอดขายจากโซเชียลคอมเมิร์ซทั่วโลกจะสูงถึง 992,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 และคาดว่าจะสูงถึงเกือบ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2569
อันดับที่ 4 คือ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-Border eCommerce – CBE) คุณ Lan กล่าวไว้ว่า อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีข้อได้เปรียบจากการพัฒนาเส้นทางทางภูมิศาสตร์และการปรับปรุงระบบการข้นส่งและโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวโน้มต่อเนื่องที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีในปีต่อๆไป ตามประกาศของ Amazon Global Selling Vietnam ในปี 2565 มีสินค้าเวียดนามเกือบ 10 ล้านรายการที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า
ร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564
อันดับที่ 5 ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงนี้คือ การขายของไลฟ์สดที่มีความบันเทิงไปด้วย (Shoppertainment) ซึ่งได้รับความสนใจไม่เพียงแต่ในเวียดนามแต่ยังได้รับความนิยมทั่วโลก ซึ่งตัวแทนคนขายของแพลตฟอร์มเหล่านี้จะเป็น อินฟลูเอนเซอร์หรือคนดัง
อันดับที่ 6 คือ เทคโนโลยี AI (Chatbots, chat GPT; Copy.ai; เป็นต้น) ที่เข้ามามีอิทธิผลในการทำการค้าและซื้อขายสินค้ามากขึ้น จากหลังการพัฒนา AI อย่างต่อเนื่องส่งผลให้ AI ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
แนวโน้มอีคอมเมิร์ซที่ 7 คือ การซื้อออนไลน์แบบเลือกรับที่ร้านค้า (Buy Online Pick-up In Store – BOPIS) ซึ่งมีข้อดีคือลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้อย่างรวดเร็วและตรวจสอบคุณภาพสินค้าได้โดยตรงเมื่อรับสินค้า เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกสั่งในช่องทางนี้ หลายแบรนด์และร้านค้าจึงมีโปรแกรมส่งเสริมการขาย เช่น เมื่อซื้อสินค้าออนไลน์และรับสินค้าโดยตรงก็จะมีบัตรกำนัล ส่วนลด เป็นต้น
แนวโน้มที่ 8 ก็คือการตลาดแบบปากต่อปาก (USER Generated Content – UGC) โดยผู้ใช้เล่าความรู้สึกการใช้งานและให้ความคิดเห็นกับสินค้าให้กับญาติและเพื่อนๆ จากการผลการสำรวจพบลูกค้าร้อยละ 92 เชื่อถือเนื้อหาที่ได้ยินและมาจากญาติและเพื่อนๆ และร้อยละ 53 ของลูกค้า Gen Y กล่าวว่า การปากต่อปากมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของพวกเขา
อีก 2 แนวโน้มที่สุดท้ายของอีคอมเมิร์ซก็คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (VR/AR) เพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค และกระแสการจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรงผ่านร้านค้า เว็บไซต์ แฟนเพจ เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางในการกระจายสินค้า
(จาก https://en.vietnamplus.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
ปัจจุบันเวียดนามอยู่อันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซของโลก จากงานสัมมนา Amazon Global Selling Vietnam รายงานว่าเวียดนามมีอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซที่ประมาณร้อยละ 20 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับเดียวกับฟิลิปปินส์ ตามมาด้วยไทย (ร้อยละ 17) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 15) มาเลเซีย (ร้อยละ 14) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 13) ปัจจัยที่ผลักดันให้เวียดนามมีการขยายตัวอีคอมเมิร์อย่างรวดเร็ว คือประชากรวัยหนุ่มสาวมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากข้อมลูของ We Are Social ในเดือนมกราคม
ปี 2566 โดยคนกลุ่มนี้เป็นรุ่น Gen Y และ Z และยังเป็นกลุ่มคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อหลักคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งประชากรทั้งหมดของเวียดนาม ที่มีจำนวน 47.5 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 95 ล้านคนในปี 2573 (คาดการณ์โดย Nielsen) สินค้าที่มีการซื้อออนไลน์มากที่สุดในเวียดนามคือ เสื้อผ้า เครื่องใช้อุปโภคบริโภค เครื่องสำอาง อาหารเสริม อาหารและเครื่องดื่มและการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
สำหรับผู้ประกอบการไทยสามารถใช้โอกาสจากแนวโน้มการเติมโตของอีคอมเมิร์ ในเวียดนามเพื่อขยายตลาดโดยเฉพาะการจำหน่ายสินค้าแบบ Shoppertainment และ USER Generated Content เนื่องจากสินค้าจากไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีและได้รับความนิยมในเวียดนาม อีกทั้งผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาช่องทางการเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงต่างๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีกฎหมายที่กำกับดูแลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งครอบคลุมถึงการค้าข้ามพรมแดนผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซด้วย ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการที่ต้องการจำหน่ายสินค้ามายังเวียดนามผ่านช่องทาง อีคอมเมิร์ซ ควรศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าสู่ตลาดเวียดนาม