Geert Wilders คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์อย่างน่าตกใจ

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากชัยชนะตกเป็นของพรรคเสรีภาพ (Party For Freedom : PVV) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดนำโดยนาย Geert Wilders ผู้ซึ่งได้รับฉายาว่า “ทรัมป์แห่งเนเธอร์แลนด์” พรรค PVV มีนโยบายชาตินิยมและประชานิยมแบบขวาจัด โดยเรียกร้องให้มีการควบคุมการเข้าเมืองที่เข้มงวดมากขึ้น การอนุรักษ์คุณค่าทางวัฒนะรรมของเนเธอร์แลนด์ และมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับสหภาพยุโรป นาย Geert Wilders ถูกมองว่าเป็นกลุ่ม Anti-Immigration, Anti-Islam, Anti-EU Populist และจากแนวคิดต่อต้านอิสลามและต่อต้านผู้อพยพนี้ ทำให้บ่อยครั้งที่นาย Geert Wilders ถูกขู่ฆ่าและขู่ลอบทำร้าย

 

Geert Wilders คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์อย่างน่าตกใจ

 

จากชัยชนะในครั้งนี้ทำให้พรรค PVV กลายเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและเพิ่มความเป็นไปได้ให้นาย Geert Wilders ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลการนับคะแนนล่าสุดพรรค PVV ได้ 37 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้น 20 ที่นั่งหรือประมาณร้อยละ 23.5) ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนที่นั่งของพันธมิตรพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย นาย Geert Wilders ต้องส่งสัญญาณและโน้มน้าวให้พรรคสายกลางอื่นๆ เข้าเป็นแนวร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้ได้ที่นั่งอย่างน้อยจำนวน 76 ที่นั่งในรัฐสภาจากทั้งหมด 150 ที่นั่ง

 

ผล Exit Poll เผยว่า “Wilders วัย 60 ปี นักการเมืองซึ่งมีจุดยืนทั้งด้านศาสนาและการเมืองอาจคว้าชัยชนะในครั้งนี้ได้อย่างน่าประหลาดใจ” จึงเป็นที่รู้จักกันดีว่า Wilders ผู้ซึ่งเป็น 1 ในผู้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยวาทศิลป์ที่ร้อนแรง ทั้งจากสีผมที่เป็นเอกลักษณ์จึงมีการกล่าวถึงและนำไปเปรียบเทียบกับอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา Donald Trump โดย Wilders ต้องการจัดให้มีการลงประชามติ “Nexit” (Netherlands exit from the EU) แม้ว่าจะตระหนักดีว่ายังไม่มีความรู้สึกร่วมระดับชาติที่จะทำเช่นนั้นก็ตามในการโน้มน้าวพันธมิตรให้ได้รับเสียงข้างมากเพื่อร่วมลงประชามติ ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางกลุ่มมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายทางการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ให้การสนับสนุน Wilders ด้วยความรู้สึกที่พวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรมในด้านเศรษฐกิจ อาทิ ประชาชนต้องจ่ายอัตราภาษีที่สูงเพื่อให้รัฐบาลนำเงินรายได้ภาษีส่วนใหญ่ไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ปริมาณแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศมากเกินไป ซึ่งทำให้กลุ่มธุรกิจ VNO-NCW และ MKB-NTERLAND เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีใหม่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนด้านแรงงานข้ามชาติ โดยแย้งว่าสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยี ด้านพลังงาน และด้านการดูแลสุขภาพ เรื่องของแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะพิเศษยังคงเป็นสิ่งจำเป็น

 

บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.

ความพลิกผันของสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่นายกรัฐมนตรีคนเดิม Mark Rutte ประกาศลาออก ด้วยเหตุเพราะความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายผู้ลี้ภัยเนื่องจากพรรคอนุรักษ์นิยม (VVD) พยายามจำกัดการหลั่งไหลเข้าประเทศของผู้ลี้ภัยหลังเกิดปัญหาความแออัดของศูนย์อพยพเมื่อปี 2565 แต่แผนการของ Rutte ถูกต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรในพรรคร่วมรัฐบาลทำให้เกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดย Rutte เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของเนเธอร์แลนด์ ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2553 ทั้งนี้ พรรคการเมืองในเนเธอร์แลนด์มักใช้เวลาหลายเดือนเพื่อดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล โดยเมื่อปี 2564 การจัดตั้งรัฐบาลใช้เวลา 271 วัน ซึ่งถือว่ายาวนานเป็นประวัติการณ์ สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลของ Wilders ในครั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าน่าจะใช้เวลายาวนานกว่านั้น และในระหว่างนี้ Rutte และรัฐบาลเดิมยังคงรักษาการต่อไป

หากนาย Wilders สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ นโยบายหลายประการของนาย Wilders น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทของเนเธอร์แลนด์ในเวทีระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และหากนาย Wilders เป็นแกนนำรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ นโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านการค้าของเนเธอร์แลนด์จะเน้นผลประโยชน์ที่เนเธอร์แลนด์จะได้รับอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยภายในประเทศ และการให้ความสำคัญต่อค่านิยมระหว่างประเทศ อาทิ พหุภาคีนิยม สิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ จะน้อยลง ซึ่งไทยจะต้องแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศที่จะได้จากการดำเนินการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

thThai