อิหร่านต้องการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศปริมาณ 6 แสนตัน ก่อนสิ้นปีงบประมาณ

Mr. Keshavarz เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ข้าวอิหร่าน (The Iranian Rice Producers and Suppliers Association) เปิดเผยข้อมูลกับสำนักข่าวท้องถิ่น Iran Jib News Agency ว่า ภายในช่วงเวลาก่อนสิ้นปีงบประมาณปัจจุบัน (ก่อน 21 มี.ค. 2024) อิหร่านจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศปริมาณ 500,000 ถึง 600,000 ตัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศและครอบคลุมปริมาณความต้องการข้าวที่มีสูงของตลาดในช่วงเดือนรอมฎอนและช่วงปีใหม่อิหร่านที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ปัจจุบันราคาข้าวนำเข้าในตลาดอิหร่านขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคิดเป็นราคากิโลกรัมละประมาณ 650,000 เรียล

ตามปกติ อิหร่านนำเข้าข้าวเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 110,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคข้าวต่างประเทศตามข้อเท็จจริงในประเทศอิหร่าน แต่หากเปรียบเทียบกับปริมาณการนำเข้าข้าวในปัจจุบัน ซึ่ง ณ ตอนนี้มีการนำเข้าข้าวแล้วปริมาณ 550,000 ตัน เฉลี่ยปริมาณ 70,000 ตันต่อเดือน ยังคงมีปริมาณการนำเข้าน้อย

อิหร่านมีความต้องการบริโภคข้าวเฉลี่ยในแต่ละปีประมาณ 3.6 ล้านตัน โดยปริมาณข้าว 2.4 ล้านตันเป็นผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยวภายในประเทศ และปริมาณที่เหลือเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าข้าวบาสมาติจากอินเดีย และปากีสถาน ข้าวขาวเกรดบี นำเข้าจากประเทศไทย เวียดนามและอุรุกวัย</

ตามสถิติของกรมศุลกากรอิหร่าน พบว่า อิหร่านนำเข้าข้าวช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (21 มี.ค. – 20 ต.ค. 2023) ปริมาณ 696,442 ตัน คิดเป็นมูลค่า 815,832,705 เหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีการนำเข้าปริมาณ 1,234,034 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,481,539,000 เหรียญสหรัฐฯ ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่านำเข้าร้อยละ 45

ที่ผ่านมาข้าวไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกที่อิหร่านให้ความสำคัญมาโดยตลอด แต่เนื่องด้วยปัญหาด้านการชำระเงิน และการขนส่งที่เกิดจากมาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มข้นของสหรัฐฯ จึงทำให้การนำเข้าข้าวจากไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ข้าวที่อิหร่านนำเข้าจากไทยจะเป็นข้าวขาว 15 เปอร์เซ็นต์ เกรดบี และข้าวหอมมะลิ โดยส่วนใหญ่นำเข้าเพื่อรักษาสภาพสมดุลทางอาหาร หรือ Food Security และจำหน่ายราคาถูกให้กับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าข้าวของอิหร่านในแต่ละปีมีความไม่แน่นอนและชัดเจนมีสาเหตุมาจากความไม่ลงรอยกันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของอิหร่านที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าผลผลิตภายในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าข้าวในปริมาณมากๆ และหากมีการนำเข้าควรนำเข้าไม่เกินปีละห้าแสนตัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองเกษตรกรและการผลิตภายในประเทศ และเป็นการป้องการการไหลออกของเงินงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในการนำเข้าข้าว ในขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าอิหร่านยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อปรับสมดุลด้านราคาของข้าวในตลาด ซึ่งบางครั้งอาจสร้างปัญหาให้กับผู้นำเข้าข้าวของอิหร่านในการจดทะเบียนสั่งซื้อข้าวและการขนถ่ายสินค้าออกจากกรมศุลกากรอิหร่านที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพของข้าวได้

thThai