ปัจจุบัน ประเทศเยอรมนีมีผู้นิยมเลี้ยงสุนัขมากกว่า 8.17 ล้านครัวเรือน และมีจำนวนสุนัขในประเทศมากกว่า 11.19 ล้านตัว แบ่งออกเป็น สุนัขขนาดเล็ก (0-9 กิโลกรัม) ประมาณ 4.9 ล้านตัว สุนัขขนาดกลาง (9-23 กิโลกรัม) ประมาณ 4.1 ล้านตัว และสุนัขขนาดใหญ่ (มากกว่า 23 กิโลกรัม) ประมาณ 2.1 ล้านตัว
สำหรับมูลค่าการค้าอาหารสุนัขในประเทศอยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญยูโร ขยายตัวร้อยละ 8 จากปีที่ผ่านมา ประเภทอาหารที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ขนมคบเคี้ยวและอาหารเสริม (816.2 ล้านยูโร, +24.9%) อาหารแห้ง (614.0 ล้านยูโร, +11.6%) และอาหารเปียก (598.0 ล้านยูโร, +9.2%) นอกจากนี้ อาหารแบบปรุงสำเร็จได้รับความนิยมมากกว่าอาหารที่ต้องนำมาปรุงใหม่ สัดส่วนอยู่ที่ ร้อยละ 68.9 และร้อยละ 31.1 ตามลำดับ ในปี 2565 แบรนด์อาหารสุนัขที่ได้รับความนิยมและถือส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1) Pedigree (บริษัท Masterfoods GmbH, ส่วนแบ่งตลาด 11.3%)
2) Multifit (บริษัท Fressnapf Holding SE, ส่วนแบ่งตลาด 7.8%)
3) Beneful (บริษัท Nestlé Purina PetCare Deutschland GmbH, ส่วนแบ่งตลาด 6.8%)
4) Vitakraft (บริษัท Vitakraft Pet Care GmbH & Co KG, ส่วนแบ่งตลาด 4.3%)
5) Select Gold (บริษัท Fressnapf Holding SE, ส่วนแบ่งตลาด 4.2%)
และอันดับที่ 17 แบรนด์ Rinti จากบริษัท Finnern GmbH & Co KG ซึ่งมีการสั่งผลิตสินค้าอาหารสุนัขบางส่วนจากประเทศไทย ถือส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.4
แนวโน้มตลาดอาหารสุนัข
1) ตลาดอาหารสุนัขโดยภาพรวมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เงินเฟ้อภายในประเทศเช่นกัน ส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารสุนัขเพิ่มสูงขึ้น เจ้าของสุนัขจึงหันมาซื้ออาหารราคาย่อมเยา แต่คงความคุณภาพดีและสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการพื้นฐานของสุนัขมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มผู้ซื้อสินค้าที่ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้ออาหารสุนัขแบบพรีเมียมหรืออาหารที่มีสูตรอาหารเฉพาะทางตามสภาพร่างกายของ สัตว์เลี้ยง เนื่องจากมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาวด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับสุนัขของพวกเขา
2) สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ นักวิเคราะห์ตลาดของ Euromonitor มองว่าเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มสินค้า “Private Label” หรือ “สินค้าตราห้าง” เนื่องจากร้านค้าปลีกที่มีสินค้าแบรนด์ตนเองมักเน้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราคาย่อมเยา อีกทั้ง ได้เปรียบในการกำหนดราคาให้คงที่ ยืดหยุ่น หรือนำเสนอสินค้าได้ตามความต้องการของตลาดอย่างรวดเร็ว และสามารถบริหารจัดการต้นทุนสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเปลี่ยนผู้ผลิตเพื่อคงราคาสินค้าให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
3) อาหารสดและอาหารแช่แข็งที่ไม่ผ่านหรือผ่านกระบวนการปรุงน้อยที่สุด กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้เลี้ยงสุนัข เทรนด์ดังกล่าวถูกขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาให้สัตว์เลี้ยงของพวกเขาได้กินอาหารที่ใกล้เคียงกับรุ่นบรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อว่าสุนัขสืบเชื้อสายมาจากหมาป่า โดยมองว่าอาหารสดสามารถคงคุณภาพสารอาหารหรือเอนไซม์ธรรมชาติที่อาจสูญเสียได้ระหว่างกระบวนการปรุง นอกจากนี้ ยังมองว่าอาหารสัตว์ทั่วไปบางอย่างมีส่วนผสมและผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอนเกินไป เจ้าของสัตว์เลี้ยงจำนวนมากจึงหันมาให้อาหารสดตามเทรนด์เพื่อควบคุมสิ่งที่สุนัขของเขากินได้ดียิ่งขึ้น
โอกาสทางการตลาด
1) ธุรกิจให้บริการส่งอาหารสัตว์เลี้ยงถึงบ้านแบบสมัครสมาชิก มีแนวโน้มเติบโตในตลาดเยอรมัน โดยโมเดลธุรกิจดังกล่าวได้นำเสนอทางเลือกและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของเจ้าของสัตว์เลี้ยงยุคใหม่ที่ยุ่งวุ่นวาย บริการจัดส่งสินค้าให้ความสะดวกสบาย ตัดปัญหาอาหารหมดระหว่างสัปดาห์ และเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปซื้อสินค้าซ้ำ ๆ นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงสุนัขยังสามารถระบุประเภทอาหาร รสชาติ และปริมาณของอาหารที่เฉพาะเจาะจงตามความต้องการของสุนัขได้
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการยังนำเทคโนโลยีอัลกอริทึมมาประมวลผลข้อมูลสัตว์เลี้ยงของลูกค้า เพื่อนำเสนอสินค้าอาหารที่เหมาะสมแก่สุนัข โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น สายพันธุ์ ขนาด อายุ กิจกรรมที่ทำ การแพ้อาหาร เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่ได้รับสอดคล้องกับความต้องการทางโภชนาการเฉพาะด้านและส่งเสริมสุขภาพที่ดีของสุนัข ตัวอย่างบริษัทที่ให้บริการดังกล่าง เช่น Terra Canis หรือ Tails.com ซึ่งปัจจุบัน ให้บริการครอบคลุม 9 ประเทศในยุโรป
2) เทรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงจากแหล่งโปรตีนทางเลือก เช่น พืช หรือแมลง มีโอกาสเติบโตในอนาคต แนวโน้มดังกล่าวถูกผลักดันด้วยหลายปัจจัย ได้แก่ เพื่อความยั่งยืน ความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ และการแสวงหาทางเลือกอาหารใหม่ที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการสำหรับสุนัข ทั้งนี้ มีความเชื่อว่าอาหารสุนัขจากพืชส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าอาหารจากสัตว์ ตัวอย่างพืชที่มีการคิดค้นนำมาทำอาหารสุนัข เช่น ถั่วเลนทิล ถั่วชิกพี และควินัว สำหรับแหล่งโปรตีนจากแมลง เช่น จิ้งหรีด หนอน หรือแมลงวัน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในฐานะแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การวิจัยและนวัตกรรมในการผลิตมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งโปรตีนทางเลือกเหล่านี้ตรงตามความต้องการทางโภชนาการของสุนัขและรสชาติดี ปัจจุบัน ผู้ผลิตมีแนวโน้มลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารที่สร้างความสมดุลและส่งเสริมสุขภาพโดยรวมของสุนัขมากขึ้น
3) นวัตกรรมด้านขนมขบเคี้ยวมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอของกินเล่นที่มีความหลากหลายมากขึ้น ด้วยความใส่ใจด้านสุขภาพ และความรักต่อสัตว์เลี้ยงเหมือนสมาชิกในครอบครัว เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมในการผลิตขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัข ที่นอกจากจะต้องดูน่ารับประทานแล้ว ขนมนั้น ๆ ต้องมีประโยชน์ทางด้านโภชนาการด้วย จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าในอนาคตเราจะได้พบกับขนมของว่างสูตรใหม่ ๆ พร้อมส่วนผสมที่มีประโยชน์ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน และกรดไขมันโอเมก้า เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการด้านสุขภาพที่เฉพาะเจาะจง รวมไปถึงช่วยส่งเสริมสุขภาพข้อต่อ สภาพขน และสุขอนามัยทางทันตกรรมของสุนัข
นอกจากนี้ นวัตกรรมการผลิตขนมสำหรับสุนัขสมัยใหม่ ยังมีแนวโน้มการนำส่วนผสมจากธรรมชาติ และวัตถุดิบออร์แกนิกระดับพรีเมียมเกรดเดียวกันกับอาหารคนมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงมีความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน เช่น วัสดุรีไซเคิล และวัสดุที่ช่วยลดการใช้พลาสติก
ที่มา: Euromonitor International
Image by Ayla Verschueren on Unsplash