ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา สินค้าอาหารทะเลที่จำหน่ายในร้านค้าปลีกทั่วออสเตรเลียส่วนใหญ่มีการระบุแหล่งที่มาของสินค้าเพื่อแสดงความโปร่งใสและประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค ณ จุดขาย แต่สำหรับอาหารทะเลที่จำหน่ายในร้านอาหาร ร้าน take away และร้านคาเฟ่ต่างๆยังไม่มีระเบียบบังคับใช้
ที่ผ่านมา ผู้บริโภคที่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับปลา กุ้ง หอยและปลาหมึกที่ร้านอาหารนำมาปรุงในเมนูอาหาร เช่น ปลาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงหรือการทำประมงจากธรรมชาติและเป็นปลาที่จับได้ในประเทศหรือนำเข้า เป็นต้น ซึ่งอาหารระดับหรูบางแห่งนำมาเป็นจุดขายเพื่อสร้างความแตกต่างจากร้านอาหารคู่แข่ง เป็นต้น
ข้อมูลโดย Department of Agriculture ระบุว่า สินค้าอาหารทะเลที่ออสเตรเลียนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภท เนื้อปลาชิ้นแช่แข็ง กุ้งแช่แข็งและปลาบรรจุกระป๋อง ซึ่งนำเข้าจากไทย นิวซีแลนด์และเวียดนามมากที่สุด
ล่าสุด รัฐบาลออสเตรเลียเตรียมประกาศใช้กฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการปิดฉลากแสดงถิ่นกำเนิดของสินค้า (Country of Origin labelling : CoOL) สำหรับอาหารทะเลที่จำหน่ายในภาคธุรกิจบริการอาหาร โดยกำหนดให้ภาคธุรกิจบริการอาหาร เช่น ร้านอาหาร ร้าน Take away ร้านคาเฟ่ รวมถึงร้าน Fish and Chip ต้องระบุแหล่งที่มาของอาหารทะเลในเมนูภายใต้โมเดล AIM ประกอบด้วย
A หมายถึง สินค้าผลิตในออสเตรเลีย
I หมายถึง สินค้านำเข้า
M หมายถึง สินค้ามาจากถิ่นกำเนิดหลายแห่ง (เมนูอาหารประกอบด้วยอาหารทะเลทั้งที่ผลิตในออสเตรเลียและนำเข้า)
เพื่อสร้างความกระจ่างและชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งที่มาของอาหารทะเลแก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อ โดยรัฐบาลจะเริ่มประกาศใช้โมเดล AIM ภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค (Australian Consumer Law) ปัจจุบันภาคธุรกิจบริการอาหารยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการใดๆ และหน่วยงานภาครัฐจะจัดทำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปิดฉลากแสดงถิ่นกำเนิดสินค้าอาหารทะเลฉบับใหม่และให้เวลาแก่ภาคธุรกิจในการปรับใช้ตามระเบียบใหม่ รายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและเงื่อนไขการปิดฉลากแสดงถิ่นกำเนิดสินค้าอาหารทะเลฉบับใหม่จะประกาศในปี 2567
……………………………………………………………………………………………….
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์
ที่มา:
www.industry.gov.au
www.7news.com.au