กฎหมายการห้ามผลิตและจำหน่ายเนื้อสังเคราะห์ในอิตาลี มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย

การห้ามผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์สังเคราะห์ (Cultivated meat) หรือที่เรียกว่าเนื้อสัตว์เทียมหรือเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (เกิดจากกระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเซลล์กล้ามเนื้อที่นำมาจากสัตว์ถูกสร้างขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนและการเพิ่มจำนวนในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม) ได้ถือเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในอิตาลีเป็นที่เรียบร้อย โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 มีการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรผ่านการเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 159 เสียง ไม่เห็นชอบ 53 เสียง และงดออกเสียง 34 เสียง โดยร่างกฎหมายดังกล่าวนำเสนอโดย Mr. Francesco Lollobrigida รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและด้านอาหาร และ Ms. Giorgia Meloni นายกรัฐมนตรีอิตาลี โดยการตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปกป้องมรดกทางการเกษตรและอาหารของอิตาลี ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพสูง และปกป้องวัฒนธรรมและประเพณีของอาหารและไวน์ของอิตาลี เนื่องจากรัฐบาลมองว่า การตลาดของเนื้อสัตว์สังเคราะห์จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น สำหรับความหลากหลายทางชีวภาพและผลิตภัณฑ์อาหารเกษตร ส่งเสริมให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น และไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของอาหารได้ แม้แต่หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของยุโรป (The European Food Safety Authority – EFSA) เอง ก็ไม่อนุญาตให้วางผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์สังเคราะห์ใด ๆ เข้าสู่ตลาด
การที่กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้อิตาลีกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ใช้ข้อจำกัดในการห้ามการผลิต การจำหน่าย และการนำเข้าอาหารที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเซลล์หรือเนื้อเยื่อของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ตลอดจนการห้ามใช้เนื้อสัตว์สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีโปรตีนจากพืช โดยรัฐบาลอิตาลีได้กำหนดค่าปรับสำหรับการละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว โดยมีค่าปรับตั้งแต่ 10,000 ยูโร – 60,000 ยูโร หรือปรับมากถึง 10% ของมูลค่าการซื้อขายประจำปีในปีการเงินสุดท้ายที่ปิดก่อนที่จะตรวจพบการละเมิด แต่ไม่เกิน 150,000 ยูโร รวมถึงการไม่อนุญาตให้ขอรับเงินกองทุนสาธารณะและกองทุนยุโรป สำหรับกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทผู้ถูกลงโทษ
จากข้อมูลการสำรวจของสมาพันธ์สินค้าเกษตร Coldiretti พบว่า ชาวอิตาลีเกือบ 3 ใน 4 (คิดเป็นสัดส่วน 74%) ปฏิเสธการบริโภคอาหารสังเคราะห์ที่ผลิตในห้องปฏิบัติการ ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม ปลา อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าสหภาพยุโรปมีสิทธิในการอนุญาตให้มีการผลิตและจำหน่ายเนื้อสังเคราะห์ก็เป็นได้ ในขณะที่อิตาลีได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว แต่กลับมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่เดินหน้าเตรียมการผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ โดยเดือนกันยายน 2565 บริษัทผู้ผลิตอาหารของประเทศเยอรมนี Infamily Foods ถือเป็นบริษัทแรกที่ได้มีการยื่นเรื่องขออนุมัติหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของยุโรป (EFSA) สำหรับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ที่ทำมาจากเซลล์ของสัตว์ และในเดือนพฤศจิกายน 2565 สิงคโปร์ได้กลายเป็นประเทศแรกที่อนุมัติการจำหน่ายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ และโปรตีนโซลีน ซึ่งเป็นผลผลิตจากจุลินทรีย์ที่เป็นก๊าซ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน และออกซิเจน รวมถึงสารอาหารต่าง ๆ โดยมีบริษัทผู้พัฒนา คือ บริษัท Solar Foods ของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งได้สร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เนื้อสัตว์ ขนมปัง และครีมทาขนมปังที่ผลิตจากพืช
เดือนมิถุนายน 2565 สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้มีการผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ซึ่งมีบริษัทที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท Upside Foods และบริษัท Good Meat ซึ่งบริษัท Good Meat จะสามารถเริ่มกระบวนการผลิตได้ทันที เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการปูทางไปสู่การจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน 2566 อิสราเอลได้มีการเปิดโรงงานอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลกสำหรับการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง โดยบริษัทสตาร์ทอัพ Future Meat Technologies
กฎหมายการห้ามผลิตและจำหน่ายเนื้อสังเคราะห์ในอิตาลี มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย
ข้อดีและข้อเสียของการผลิตและจำหน่ายเนื้อสังเคราะห์
เมื่อพูดถึงความปลอดภัยของเนื้อสังเคราะห์ ก็ได้มีการถกเถียงเรื่องความยั่งยืนของอาหาร โดยมีความตระหนักรู้มากขึ้นถึงผลกระทบที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีต่อสิ่งแวดล้อม เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงกลายเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม จริยธรรม สวัสดิภาพสัตว์ และสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิม โดยข้อดีของเนื้อสัตว์สังเคราะห์ คือ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิม เนื่องจากความต้องการใช้พลังงาน น้ำ ยาปฏิชีวนะ และการยึดครองที่ดินก็น้อยลง และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง 98% นอกจากนี้ มีการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ เนื่องจากความจำเป็นในการทำฟาร์มแบบเข้มข้น และการฆ่าสัตว์ก็จะค่อย ๆ หมดไป (การทำฟาร์มแบบเข้มข้นถือเป็นสาเหตุสำคัญของมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน) รวมถึงกระบวนการผลิตที่ได้รับการควบคุม ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนทางจุลชีววิทยาและโรคที่ติดต่อจากสัตว์
ในขณะที่ หากพิจารณาถึงข้อเสีย/อุปสรรคของการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ คือ คุณค่าทางโภชนาการถือได้ว่าเป็นอุปสรรค เช่น วิตามินบี 12 ไม่สามารถจัดหาได้โดยตรง รวมถึงต่อผลกระทบที่เนื้อสัตว์สังเคราะห์มีต่อการเลี้ยงปศุสัตว์แบบดั้งเดิมและไม่เข้มข้น ซึ่งปัจจุบันมีประโยชน์สำหรับการบำรุงรักษาสายพันธุ์พื้นเมืองและการทำความสะอาดป่าและป่าไม้ ปัจจุบันปัญหาหลักประการหนึ่งเกี่ยวกับเนื้อสัตว์สังเคราะห์ คือ ต้นทุนที่สูงเป็นพิเศษ และเป็นการยากที่จะคาดการณ์ราคาในตลาดได้อย่างแน่นอน เนื่องจากไม่มีวิธีปฏิบัติมาตรฐานสำหรับการผลิต อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตการผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์มีขนาดใหญ่ขึ้น ต้นทุนการผลิตก็อาจลดลงได้อย่างมาก นอกจากนี้ ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งของเนื้อสัตว์สังเคราะห์ คือ การรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคอาจสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
กฎหมายการห้ามผลิตและจำหน่ายเนื้อสังเคราะห์ในอิตาลี มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
ถึงแม้ว่าอิตาลีจะออกกฎหมายบังคับใช้ในการห้ามผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์สังเคราะห์หรือที่เรียกว่าเนื้อสัตว์เทียมหรือเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงในอิตาลีก็ตาม แต่หากหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของยุโรป (EFSA) ได้พิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียที่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหา ที่มีแนวโน้มและเป็นนวัตกรรมใหม่ในการช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบาย European Green Deal ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบอาหารที่มีความเป็นธรรม ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็อาจมีความเป็นไปได้ที่ EFSA จะพิจารณาอนุญาตให้มีการผลิตและจำหน่ายสินค้า
เนื้อสัตว์สังเคราะห์ในยุโรป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นอิตาลีจะต้องยกเลิกการห้ามนำเข้าและการผลิตสินค้าดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในอนาคตคาดว่าความต้องการและอุปทานอาหารที่ยั่งยืนในตลาดยุโรปมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากยิ่งขึ้น ดังนั้น สำหรับประเทศไทยควรติดตามและศึกษาความต้องการของตลาดและการปรับปรุงกฎระเบียบด้านอาหารของอิตาลีและสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการรักษาลูกค้าเดิม และขยายส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าเกษตรและอาหารไทยในสหภาพยุโรป
——————————————————————-
ที่มา: https://www.gazzetta.it/alimentazione/17-11-2023/divieto-carne-sintetica-e-legge-74-degli-italiani-contro-cibo-artificiale.shtml, https://www.gazzetta.it/alimentazione/27-10-2023/carne-sintetica-vietata-in-italia-come-si-produce-quali-rischi-comporta.shtml

thThai