Plant Food Festival เป็นงานแสดงสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารกลุ่ม Vegan ที่มีศักยภาพที่สุดงานหนึ่งของเดนมาร์ก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 5 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า Øksnehallen กรุงโคเปนเฮเกน เป็นเวทีซื้อขายปลีกกลุ่มสินค้า Plant-based food ที่สำคัญ มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ารวม 89 บริษัท/องค์กร เช่น องค์กร Danish Vegetarian Association (Dansk Vegetarisk Forening: DVF), Organic Denmark, องค์กรพิทักษ์สัตว์ เช่น Dyrenes Alliance, Dyrenes Venner (animal protection organization), Dyrenes juleskrabekalender (The Animals Christmas Scratching Calendar) หน่วยงานวิจัย (R&D) Plant2Food และบริษัทอาหาร และเครื่องดื่มอื่นๆ โดยส่วนมากเป็นบริษัทท้องถิ่นในเดนมาร์ก ผู้เข้าชมงานต้องชำระค่าเข้าชมงานจำนวน 100 โครนเดนมาร์ก/คน/วัน (ประมาณ 500 บาท)
กลุ่มสินค้าที่จัดแสดงในงานประกอบด้วย
1) อาหารพร้อมรับประทาน
2) ขนมขบเคี้ยว ช็อคโกแล็ต ถั่ว
3) เครื่องดื่ม
4) เครื่องปรุงรส น้ำมัน และผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง
5) อาหารทารก
6) ผัก และผลไม้
7) อาหารเสริมโปรตีน และวิตามิน
8) อาหารแปรรูป
9) สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร

สินค้ากลุ่ม Plant-based food ที่นำมาจัดแสดง และจำหน่ายภายในงานที่น่าสนใจ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก Plant-based ผลิตภัณฑ์ปรุงรสจากวัตถุดิบเหลือใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำซุปทะเลจากกระดองปู ที่นำของเหลือกระดองปู และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่เหลือใช้จากอุตสาหกรรมมาเป็นผลิตภัณฑ์ (https://reduced.dk/) แผ่นขนมปังกรอบที่ทำจากแครอท และบีทรูท (https://www.rest-aarhus.dk/) ซึ่งเป็นทรัพยากรทางทะเล และวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีในเดนมาร์ก และสามารถปลูกเองได้ นอกจากนี้ยังมีขนมหวาน ช็อกโกแลต ไอศกรีม และอาหารสำหรับทารก เป็นต้น โดยมีบริษัทผู้นำเข้าสินค้าผลไม้สดจากประเทศไทย Tasty Coconut เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าภายในงานด้วย

ภายในงาน บริษัทฯ ต่างๆ ได้จัดมุมให้ชิมอาหาร และเครื่องดื่มควบคู่กัน รวมทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน เช่น เวทีให้ความรู้ด้าน Plant-based food และเวทีสอนการประกอบอาหารที่มาจาก Plant-based food เป็นต้น ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เวปไซต์ https://plantfoodfestival.dk

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต.:
• จากการสังเกตสินค้าที่พบภายในงานมักมีตราสัญลักษณ์ออร์แกนิกควบคู่กันด้วย คือ ตราสัญลักษณ์ EU Organic logo และ The Danish organic label
• กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหารที่นำมาจัดแสดงล้วนเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ต้นคริตมาสที่ทำจากไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หนังสือ และคู่มือประกอบการปรุงอาหาร Plant-based food และเรือนกระจกสำหรับปลูกต้นไม้ภายในบ้าน
• แนวโน้มสินค้าที่พบเห็นได้ในงานฯ ได้แก่ อาหารเสริมโปรตีน สินค้าอาหารออร์แกนิก ชาสมุนไพร และกลุ่มสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ สินค้าส่วนใหญ่ยังเน้นความยั่งยืนในห่วงโซ่การผลิต เช่น การใช้พลังงานลม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การลดขยะอาหาร และบรรจุภัณฑ์ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ลูกค้าที่เข้าชมงานสามารถซื้อสินค้ากลับบ้านได้เพื่อทดลองสินค้า ถึงแม้ว่ากลุ่ม Plant-based food จะได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่น แต่จากการที่การเข้าชมงานนี้มีการเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าชมงาน กลุ่มผู้เข้าชมงานส่วนมากจึงเป็นกลุ่มวัยทำงานขึ้นไป
• กลุ่มสินค้า Plant-based food ที่มีศักยภาพจากประเทศไทย และมีโอกาสในตลาดเดนมาร์ก เช่น น้ำมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เช่น แกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน แกงแดง ผลไม้อบแห้ง
• งานแสดงสินค้า Plant Food Festival นี้ นับได้ว่าเป็นงานแสดงสินค้าอาหาร Plant-based food ระดับท้องถิ่น เหมาะกับการเข้าชมงานเพื่อรับทราบแนวโน้มสินค้าในตลาดเดนมาร์ก เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาสินค้าต่อไป

thThai