Office for Budget Responsibility (OBR) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระจากภาครัฐ ประมาณการณ์ว่าในสองปีข้างหน้าสหราชอาณาจักรจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงเนื่องจากการใช้เวลามากกว่าที่คาดการณ์ในการลดอัตราเงินเฟ้อ โดย OBR แถลงว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะขยายตัวร้อยละ 0.6 ในปี 2566 นี้ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -0.2 และจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.7 ในปีหน้า ร้อยละ 1.4 ในปี 2568 ร้อยละ 1.9 ในปี 2569 และร้อยละ 2 ในปี 2570 สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่า จะลดลงจากร้อยละ 4.6 ในเดือนตุลาคม 2566 เหลือร้อยละ 2.8 ในสิ้นปีหน้า และจะลดลงต่อเนื่องเหลือร้อยละ 2 ในปี 2568
อย่างไรก็ดี OPR ยังระบุว่าปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร คือ ผลิตภาพ (Productivity) ที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.7 ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007) และปัญหาดังกล่าวรุนแรงกว่าของประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ โดยเกิดจากการที่สหราชอาณาจักรมีสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม G7 มีการจัดสรรงบประมาณต่อหัวสำหรับการศึกษาขั้นสูงกว่าชั้นประถมน้อยลงเป็นเวลานาน และรัฐบาลไม่มีนโยบายสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กที่ชัดเจนและต่อเนื่อง
ในส่วนของปริมาณการค้าปลีก Office for National Statistics ได้แถลงว่าปริมาณการค้าปลีกในเดือนตุลาคม2566 หดตัวร้อยละ-0.3 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.1 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยมีสาเหตุมาจากยอดขายในกลุ่มน้ำมันรถยนต์ ลดลงร้อยละ -2.0 ยอดขายร้านขายของอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ -0.3 ยอดขายร้านที่ไม่ขายของอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ -0.2 คงเหลือแต่ยอดขายร้านค้าปลีกที่ไม่มีหน้าร้าน Non-store Retailing ที่ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ส่งผลให้ในภาพรวม
ปริมาณการค้าปลีกยังต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของCOVID-19 (เดือนกุมภาพันธ์ 2563) ประมาณร้อยละ -3.1
ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศ จากข้อมูลของ Office for National Statistics : UK Trade : September 2023 ในเดือนกันยายนปีนี้ สหราชอาณาจักรมียอดนำเข้า 2.9 พันล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ 6.2 ซึ่งเป็นการลดลงของการนำเข้าทั้งจากประเทศในสหภาพยุโรปและนอกกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเป็นการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ด้านการขนส่งลดลงเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกในเดือนกันยายนปีนี้มีมูลค่าลดลง 0.9 พันล้านปอนด์ หรือลดลงร้อยละ 2.9 ส่งผลให้สหราชอาณาจักรขาดดุลการค้าที่ 6 พันล้านปอนด์ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
ตลาดส่งออกสินค้าหลักของสหราชอาณาจักรได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ตามลำดับ สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักร เชื้อเพลิง โลหะมีค่า ยานพาหนะ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า
ตลาดนำเข้าสินค้าหลักของสหราชอาณาจักรได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา จีน เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ตามลำดับ สินค้านำเข้า 5 อันดับแรกของสหราชอาณาจักร ได้แก่ เครื่องจักร เชื้อเพลิง ยานพาหนะ โลหะมีค่า และเครื่องมือไฟฟ้า
สำหรับสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – ตุลาคม 2566) สองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 5,663.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นไทยส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรมูลค่า 3,477.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ร้อยละ 5.4 สินค้าส่งออกจากไทยที่สำคัญ ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนอากาศยาน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไทยนำเข้าจากสหราชอาณาจักรรวมทั้งสิ้น 2,185.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 สินค้านำเข้ามายังไทยที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม น้ำแร่ ยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม และเครื่องมือการแพทย์ ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจำนวน 1,292.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 16.7 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม
การส่งออกของไทยไปยังสหราชอาณาจักรในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.4 สินค้าที่ขยายตัวหลักได้แก่ ส่วนประกอบอากาศยาน และชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งสหราชอาณาจักรมีโรงงานผลิตในประเทศไทย ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหาร เช่น ไก่แปรรูป อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน และเครื่องปรุงอาหารไทย และสินค้ากลุ่มอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ได้แก่ อาหารที่ทำจากพืช (Plant Based Food ) ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่สินค้าที่สำคัญอื่นๆ เช่น รถจักรยานยนต์ และเครื่องปรับอากาศ ยังคงเป็นสินค้าที่มียอดส่งออกขยายตัวได้ดี