รางวัล Golden Pin Design Award ก่อตั้งขึ้นในไต้หวันในปี 1981 มีสถาบันวิจัยการออกแบบแห่งไต้หวัน หรือ Taiwan Design Research Institute เป็นผู้จัดงาน ถือเป็นรางวัลด้านการออกแบบที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาจีน ซึ่งในแต่ละปีจะมีผลงานออกแบบจากทั่วโลกรวมถึงจากไทย ส่งมาเข้าร่วมการประกวดเป็นจำนวนมาก และเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา Taiwan Design Research Institute ได้จัดพิธีมอบรางวัล Best Design Award ของ Golden Pin Design Awards 2023
ซึ่งในปีนี้ มีผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวดเกือบ 8,000 ผลงาน จาก 23 ประเทศทั่วโลกรวมถึงจากประเทศไทยด้วย โดยมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับตราเครื่องหมาย Golden Pin Design Awards จำนวน 552 ผลงาน ใน 4 สาขา คือ Product Design, Communication Design, Spatial Design และ Integration Design และมี 72 ผลงานจากจำนวนนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Design Award โดยที่สุดท้ายแล้วมี 25 ผลงานที่ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นผลงานจาก 6 ประเทศ/พื้นที่ คือ ไต้หวัน จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทยและลิทัวเนีย
สำหรับผลงานออกแบบจำนวน 552 ผลงานที่ได้รับตราเครื่องหมาย Golden Pin Design Awards ประจำปีนี้ เป็นผลงานของนักออกแบบไทย 30 ผลงาน แบ่งเป็น Product Design 4 ผลงาน Communication Design 4 ผลงาน และ Spatial Design 22 ผลงาน โดยในจำนวนนี้ มี 6 ผลงานที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Design Award ซึ่งถือเป็นรวงวัลใหญ่ที่สุดของการประกวด ได้แก่ Anona Farm Egg Box ของ Stamprint Public Co.,Ltd. ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขา Communication Design ในขณะที่ NANA Coffee Roasters Bangna ของ IDIN Architects, Patamma ของ Integrated Field Co.,Ltd., Field Work ของ Thingsmatter Co.,Ltd., Angsila Oyster Scaffolding Pavilion ของ Chat Architects และ Athita Hidden Court Chiang Saen Boutique Hotel ของ Studio Miti’s ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลในสาขา Spatial Design
โดยในท้ายที่สุด มีผลงานของไทยได้รับรางวัล Best Design Award 2 ผลงาน ในสาขา Spatial Design ได้แก่ NANA Coffee Roasters Bangna ของ IDIN Architects ซึ่งเป็นสาขาของแบรนด์กาแฟชื่อดังในกรุงเทพฯ โดยได้รับการชื่นชมว่า การออกแบบทำให้ขอบเขตระหว่างสถาปัตยกรรม พื้นที่ภายใน และภูมิทัศน์โดยรอบกลมกลืนอย่างไม่มีที่ติ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบและเขียวชอุ่มที่ส่งเสริมให้ผู้มาเยี่ยมชมได้สัมผัสรสชาติกาแฟได้อย่างเต็มที่ และ Angsila Oyster Scaffolding Pavilion ของ Chat Architects ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่เน้นความยั่งยืน โดยเป็นโครงการเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงท้องถิ่นในอ่างศิลา ศาลาสองชั้นที่ตั้งอยู่เหนือทะเลสร้างขึ้นจากตะกร้าเลี้ยงหอยนางรมไม้ไผ่แบบดั้งเดิมและมีการผสมผสานให้เข้ากับพื้นที่เพาะเลี้ยงหอยนางรมที่ชั้นล่างและชั้นบนสุดเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดื่มด่ำกับอาหารทะเลท้องถิ่นและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาให้กับหมู่บ้านชาวประมงเก่าแก่แห่งนี้
ที่มา: China Times / Economic Daily News / TDRI (December 4, 2023)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
งานออกแบบถือเป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทยที่มีศักยภาพในตลาดไต้หวัน การที่ผลงานของสถาปนิกไทยสามารถคว้ารางวัลในปีนี้ได้อีก แสดงให้เห็นว่างานออกแบบสถาปัตยกรรมของไทยได้รับการยอมรับในไต้หวัน โดยมีผลงานของไทยได้รับรางวัล The Best Design Award จาก Golden Pin ในสาขา Spatial Design ต่อเนื่องถึง 4 ปีซ้อน (ปี 2563-2566) และสื่อในไต้หวันก็มีการพาดหัวข่าวถึงผลงานที่โดดเด่นของไทยในสาขาดังกล่าวด้วย จึงถือเป็นโอกาสทางการค้าที่มีศักยภาพสำหรับบริการด้านการออกแบบของไทยในตลาดไต้หวัน