อัตราเงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์เดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 1.6% แต่ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 7.3%

ผู้บริโภคในเนเธอร์แลนด์มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ในเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (Central Bureau van Statistiek : CBS) รายงานประมาณการครั้งแรก (First Estimate) ระบุราคาสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 7.3 ในเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยราคาสินค้าอาหารกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากการที่อัตราเงินเฟ้อติดลบและเกิดภาวะเงินฝืด (Deflation) ในเดือนตุลาคม ราคาเฉลี่ยลดลงร้อยละ 0.4 สาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานในเดือนตุลาคมอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับสูงสุดของปีที่แล้วอย่างมาก ในเดือนพฤศจิกายนราคาพลังงานมีการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วน้อยกว่าในเดือนตุลาคม ซึ่งหากไม่รวมราคาพลังงาน (ค่าก๊าซ ค่าไฟฟ้า และค่าทำความร้อน) อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนจะอยู่ที่ร้อยละ 4.1 และในเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 5.1 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อัตราเงินเฟ้อไม่รวมราคาพลังงาน (ค่าก๊าซ ค่าไฟฟ้า และค่าทำความร้อน) และราคาเชื้อเพลิงอยู่ในระดับที่สูงกว่าปัจจุบันโดยแตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 8.1 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม จากการประมาณการแบบ Quick Estimate ของ CBS พบว่าราคาผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

 

ทั้งนี้ พัฒนาการด้านราคาพลังงาน (ค่าก๊าซ ค่าไฟฟ้า และค่าทำความร้อน) และราคาเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการทรงตัวอยู่ในระดับสูงของอัตราเงินเฟ้อมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ปัจจุบันราคาพลังงาน (ค่าก๊าซ ค่าไฟฟ้า และค่าทำความร้อน) ลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในปี 2565 โดยในเดือนพฤศจิกายน ราคาเชื้อเพลิงรถยนต์ปรับตัวลดลงร้อยละ25 และราคาพลังงาน (ค่าก๊าซ ค่าไฟฟ้า และค่าทำความร้อน) ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 40 จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตยังคงอยู่ในระดับที่สูงแม้ว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 7.3 ในเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งในเดือนตุลาคมราคาสินค้าเหล่านี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าเล็กน้อยที่ร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมของปีก่อนหน้า

 

ดัชนี HICP (Harmonised Indices of Consumer Prices) หรือดัชนีที่ใช้วิธีการคำนวณอัตราเงินเฟ้อแบบ European Harmonised Method ซึ่งจะแตกต่างจากวิธีการคำนวณของ CBS เล็กน้อย โดยจะไม่รวมราคาในการซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในการคำนวณ ของเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 1.4 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนปีก่อนหน้า ซึ่งในเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ -1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์จะมีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ระดับราคาสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงมีกำลังซื้อน้อยลง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้เลวร้ายไปกว่าเดิม และแม้ว่าเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์จะยังอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ผู้บริโภคเริ่มมีทัศนคติเชิงลบน้อยลงกว่าเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนตุลาคมที่อยู่ที่ -38 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ -33 ในเดือนพฤศจิกายน และความเต็มใจที่จะซื้อสินค้าของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก -27 ในเดือนตุลาคมเป็น -24 ในเดือนพฤศจิกายน

 

ภาวะเงินเฟ้อโดยเฉพาะราคาสินค้าอาหารมีผลกระทบต่อทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมักมีจุดเริ่มต้นจากราคาวัตถุดิบและถูกส่งผ่านไปยังผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ค้า และในที่สุดก็ส่งผ่านมาถึงผู้บริโภค และเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน ผู้ค้าปลีกบางรายตัดสินใจปรับเปลี่ยนเวลาเปิดให้บริการให้สั้นลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่เนื่องด้วยเนเธอร์แลนด์เป็นตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง และผู้บริโภคมีทางเลือกค่อนข้างมาก ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหันไปเลือกซื้อสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้าลดราคา (Discount Supermarket) หรือค้นหาโปรโมชั่นสินค้าจากร้านค้าปลีกหลายแห่งก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า เพื่อที่จะสามารถหาซื้อสินค้าได้ในราคาที่ต่ำที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารในเนเธอร์แลนด์ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าอาหารในเนเธอร์แลนด์กับประเทศใกล้เคียงอย่างเบลเยี่ยมและเยอรมนี บ่อยครั้งจะพบว่าสินค้าหลายรายการในเนเธอร์แลนด์มีระดับราคาสูงกว่าราคาสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งความแตกต่างในเรื่องของราคาเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญสำหรับผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์อย่างมาก ทำให้ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงชายแดนมักจะเดินทางข้ามชายแดนเพื่อไปซื้อสินค้าอาหารและสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

thThai