เศรษฐกิจอินเดียจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2030

จากการจัดอันดับของ S&P Global Rating ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ได้พยากรณ์ว่าอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 3 ของโลกภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจอินเดียจัดอยู่ในลำดับ 5 รองจากสหรัฐอเมริกา จีน เยอรมณี และญี่ปุ่น โดยปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียให้เติบโตขึ้นได้แก่การที่อินเดียตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกในสินค้าหลายอุตสาหกรรม

.
อย่างไรก็ดี การที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวอินเดียจำเป็นต้องพัฒนา 3 ปัจจัยหลักเพื่อรองรับการยกระดับ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายโลจิสติกส์ภายในประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น การพัฒนาแรงงานในประแทศให้กลายเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น และการสนับสนุนสตรีเพศให้เข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมแรงงานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมหลักที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ และตลาดดิจิทัลภายในประเทศที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องจะช่วยเป็นปัจจัยเสริมในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจใน 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ พบว่าเติบโตกว่าที่คาดการณ์ถึง 6.7% และจะเติบโตขึ้นปีละ 6.4% ในปี ค.ศ. 2024 และ 2025 และจะเติบโต 7% ในปี ค.ศ. 2027

.
รายงานเพิ่มเติมระบุว่าประเทศที่จะขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเปลี่ยนจากจีนมาเป็นประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำโดยอินเดีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในบางพื้นที่ อาทิ อิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งส่งผลกระทบต่อซัพพลายน้ำมันในตลาดโลกอาจเป็นตัวชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดย S&P Global Rating ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในปี ค.ศ. 2024 ลงมาอยู่ที่ระดับ 4.2%

.

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ
สถิติจากปี ค.ศ. 1987 เป็นต้นมา เศรษฐกิจอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในปี ค.ศ. 2020 ที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจกลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในขณะที่หลายประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจยังประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศอินเดียที่แข็งแรง โดย GDP อินเดียในปี ค.ศ.2023 อยู่ที่ระดับ 3,732 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์จะขึ้นไปแตะที่ระดับเกือบ 6,000 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2028 รัฐบาลอินเดียออกมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศผ่านนโยบายสนับสนุนในมิติต่างๆอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) การสนับสนุนเพื่อเชื่อมโยงการผลิตภายในประเทศ (Production-Link Incentive : PLI) รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจภายในประเทศผ่านมาตรการต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งยืนยันความมุ่งมั่นอินเดียที่จะก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตของโลก (global manufacturing hub) ซึ่งหมายถึงความต้องการนำเข้าวัตถุดิบการผลิตรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม โดยประเทศไทยเองมีความได้เปรียบในเรื่องที่ไทยมีกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีกับอินเดียทั้ง FTA ไทย-อินเดีย และ อาเซียน-อินเดีย ทำให้สินค้าหลายประเภทได้รับการยกเว้น/ลดหย่อนภาษีส่งออกไปยังอินเดีย ทั้งนี้ หากไทยมีการพิจารณาการเจรจาขยายขอบเขตกรอบความตกลงทางการค้าเสรีกับอินเดียให้เพิ่มเติมและเป็นผล จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการไทยในหลายหมวดอุตสาหกรรมสนใจเข้าสู่ตลาดอินเดียมากยิ่งขึ้น

เศรษฐกิจอินเดียจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2030
———————————–

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี
11 ธันวาคม 2566

ที่มา:
– Economic Times, 6 Dec 2023, India to be third-largest economy by 2030: S&P Global Ratings
– Statista, 6 Nov 2023, India: Gross domestic product (GDP) in current prices from 1987 to 2028

thThai