• รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลด GDP ในเดือนธันวาคม 2566 จากเดิมที่คาดการณ์การหดตัวทางเศรษฐกิจ ที่ร้อยละ 5 (QoQ) หรือร้อยละ 2.1 (YoY) เป็น หดตัวร้อยละ 0.7 (QoQ) หรือร้อยละ 2.9 (YoY)  จากความลดลงของการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ (ณ เดือนตุลาคม 2566 ลดลงร้อยละ 2.5)  ซึ่งเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่อัตราค่าจ้างยังคงที่และการชะลอตัวของภาคการส่งออกจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
  • การท่องเที่ยวฟื้นตัว หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น คือ การกลับมาขยายตัวของ ภาคการท่องเที่ยวภายหลังสถานกาณ์ COVID-19 โดยดุลภาคการท่องเที่ยว ณ เดือนตุลาคม 2566 เกินดุลอยู่ที่ 320.7 พันล้านเยน ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2539 จำนวนนักท่องเที่ยวรวม 2,516,500 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ดุลบริการ เกินดุลอยู่ที่ 343.8 พันล้านเยน ทั้งนี้ การขาดดุลการค้าลดลงถึงร้อยละ 74.8 เทียบกับปีก่อนหน้า โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 มูลค่า 9,106.6 พันล้านเยน และการนำเข้าลดลงร้อยละ 12.1 มูลค่า 9,579.5 พันล้านเยน
  • มาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ รัฐสภาญี่ปุ่นอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 2 ล้านล้านเยน เพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นสูง อาทิ การสนับสนุนเงินแก่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย การคงเงินอุดหนุนเพื่อลดต้นทุนเชื้อเพลิงจนถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2567 รวมถึงการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมโดยการเพิ่มการลงทุนในธุรกิจสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และอวกาศ ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าว จะมาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่
thThai