บริษัท Prime Road Power Public (PRIME) ของประเทศไทย ขยายการลงทุนด้านพลังงานสะอาด
ในประเทศกัมพูชา ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของรัฐบาลกัมพูชาในการดึงดูดแหล่งเงินทุนในภาคส่วนนี้มากขึ้น ทั้งนี้ บริษัท PRIME มีเป้าหมายมุ่งเน้นลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2566 นาย Piroon Shinawatra หัวหน้าฝ่ายการเงินของบริษัท PRIME ได้พบหารือกับนาย Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) กรุงพนมเปญ โดยปัจจุบันบริษัท PRIME ได้ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ขนาด 307 เมกะวัตต์ ในกัมพูชา และจะขยายการลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 77 เมกะวัตต์ ในจังหวัด Kampong Chnang ซึ่งนาย Sun Chanthol เห็นชอบแผนการขยายการลงทุนของบริษัท PRIME โดยมอบให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของกัมพูชาร่วมมือในการอำนวยความสะดวกเพื่อสำรวจพื้นที่สำหรับการลงทุน
นาย Somprasong Panjalak, CEO บริษัท PRIME ได้แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของปี 2566 โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2566 บริษัทมีรายได้ 41.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 124.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยรายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ คิดเป็นร้อยละ 46.69 ของรายได้จากกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ การเติบโตของบริษัทสอดคล้องกับเป้าหมายแผนธุรกิจ ปี 2566 ของบริษัทในการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์
นาย Keo Rattanak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน กล่าวว่า ประเทศกัมพูชามีเป้าหมายในการลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน ซึ่งกัมพูชาได้บรรลุเป้าหมายของอาเซียนในการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 35% แล้ว ทั้งนี้ ในอดีตกัมพูชาอาศัยพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันกัมพูชาเน้นพลังงานแสงอาทิตย์ ขยายกำลังการผลิตพลังงานน้ำ และยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่
ข้อมูลที่น่าสนใจ
กัมพูชากับสิงคโปร์มีข้อตกลงเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสิงคโปร์จะนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากกัมพูชา โดยข้อตกลงส่งออกไปยังสิงคโปร์จะทำให้กัมพูชามีความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดในภูมิภาค และจะก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกพลังงานสะอาดรายใหญ่ในภูมิภาค ต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อเดือน เมษายน 2566 รัฐบาลกัมพูชา ได้อนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน
5 โครงการ ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประกอบด้วย
1) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Russey Chrum Kandal ขนาดกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเกาะกง
2) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Veay Thmar Kambot ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเกาะกง
3) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดขนาดกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ ในจังหวัดโพธิสัตว์ 4) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ในจังหวัดกำปงชนัง และในจังหวัดสวายเรียง และ
5) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ ในจังหวัดไพรแวง
โอกาส/ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
1) กัมพูชามีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนกับองค์การสหประชาชาติ และรัฐบาลกัมพูชายังมีแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (Power Development Masterplan หรือ PDP) และนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานแห่งชาติ (National Energy Efficiency Policy หรือ NEEP) ซึ่งแผนฯ และนโยบายฯ เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลกัมพูชาที่มีเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน
2) การลงทุนของบริษัท PRIME ของประเทศไทย ในด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในกัมพูชา เป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของรัฐบาลกัมพูชาในการดึงดูดแหล่งเงินทุนพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในด้านการผลิตพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน สามารถพิจารณาเข้ามาลงทุนในกัมพูชาได้ เนื่องจาก รัฐบาลกัมพูชามีสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากประเทศต่างๆ รวมทั้งมีกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ที่ให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนมากมาย
—————————
ที่มา: The Phnom Penh Post
ธันวาคม 2566