ยูเออีตั้งเป้าการเติบโตเป็นสองเท่าในปี 2567 มาจากรายได้น้ำมันที่สูงและที่ไม่ใช่น้ำมัน

จากรายงานข้อมูลเชิงลึกทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอาหรับเอมเรตส์หรือยูเออีล่าสุด ของสมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศอังกฤษหรือ ICAEW  ซึ่งได้รับมอบหมายจาก Oxford Economic Research Institute ออกเผยแพร่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ประเมินว่าการเติบโตของยูเออี  จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปีหน้าเนื่องจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ำมัน และรายได้ที่มาจากการส่งออกน้ำมัน โดยได้ระบุว่า GDP      ของประเทศในปี 2567 คาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 4.8  เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในปี 2566

การเกินดุลทางการคลังเกินกว่าร้อยละ 5 ของ GDP ในระยะสั้นและระยะกลางเมื่อปีที่ผ่านมา และการเกินดุลทางการคลังเกินร้อยละ 9 ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากกาตาร์ โดยได้แรงหนุนจากการเติบโต  ของรายได้ที่ร้อยละ 31.8  ซึ่งส่วนใหญ่เนื่องมาจากรายได้จากน้ำมันที่สูงขึ้น

ความยืดหยุ่นทางการเงินที่มีความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ (Financial resilience) ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการเติบโตของภาคส่วนที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil sector) ซึ่งทำให้เกิดแหล่งรายได้ทางเลือกที่มั่นคง

รายงานกล่าวถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นของยูเออีอยู่ที่ระดับ 57.7 ในเดือนตุลาคม ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของยูเออียังคงมีการขยายตัว ในขณะที่ภาคสินเชื่อก็กำลังเติบโตเช่นกัน โดยสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นเกือบ    ร้อยละ 10 เมื่อเทียบเป็นรายปี แม้ว่าต้นทุนการกู้ยืมจะสูงขึ้นก็ตาม

การผลิตน้ำมัน

คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตน้ำมันในปี 2567 เฉลี่ย 3.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ซึ่งรายงานระบุว่าการผลิตมีเสถียรภาพแม้ว่าจะต่ำกว่ากำลังการผลิตสูงสุดของยูเออีที่ประมาณ 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

รัฐบาลยูเออีดำเนินนโยบายเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน รายงานระบุว่าหลังจากเป็นเจ้าภาพ COP28 แผนงานริเริ่มที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน  สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาด้านความยั่งยืน และนำไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนในระดับประเทศอาจเข้มข้นขึ้น

การขายพันธบัตรรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งระดมทุนได้ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ   การบูรณาการประเทศเข้ากับกลุ่ม BRICS ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนมกราคม ถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน และสนับสนุนกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง”

นอกจากนี้ ยูเออีกำลังสร้างความก้าวหน้าที่สำคัญในตราสาร “ศุกูก” (Green Sukuk)  หรือตราสารหนี้อิสลามสีเขียว ถูกต้องทั้งตามกฎหมาย และตามหลักศาสนาอิสลาม การจัดสรรเงินทุนให้กับโครงการที่ยั่งยืน และความก้าวหน้าที่ จะร่วมในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเป็นอีกหนึ่งพลังอันสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ตามนโยบาย ภาครัฐของยูเออี

ความเห็นของ สคต.ดูไบ

โดยสรุปแล้วคาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยูเออีปี 2567 จะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความเปราะบาง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดโลก ในสถานการณ์ปัจจุบันที่แนวโน้มทางเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย    และความผันผวนของราคาน้ำมัน ดัชนีการคาดการณ์และตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ นับเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาด ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์และดัชนีเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับตัวทางธุรกิจได้อย่างทันท่วงที

สำหรับการค้าระหว่างประเทศของไทยและยูเออี พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม ปี 2566       มีมูลค่าการค้ารวม 16.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.1 โดยไทยส่งออกมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 8.6 และไทยนำเข้า 13.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 5.6 ไทยขาดดุลกับยูเออีเป็นมูลค่า 10.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ   โดยสินค้าที่ส่งออก-นำเข้า 10 ลำดับแรก ระหว่างไทยกับยูเออี มีดังนี้

สินค้าส่งออก ได้แก่ รถยนต์ เครื่องประดับอัญมณี  ผลิตภัณฑ์ไม้  เครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ปลากระป๋อง และเครื่องใช้ไฟฟ้า   สินค้านำเข้า ร้อยละ 95 คือน้ำมันดิบและน้ำมันหล่อลื่น นอกจากนั้นเป็นอลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ทองคำ เม็ดพลาสติกและปุ๋ย เป็นต้น

thThai