เงินโอนกลับแรงงานตากาล็อกแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน

                  ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Philippinas: BSP) เปิดเผยยอดเงินโอนกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ (OFWs) ในเดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากเดือนตุลาคม 2565 ที่มีมูลค่า 2.91 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นอัตราเติบโตสูงสุด ในรอบ 10 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ที่มูลค่า 3.16 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากแรงงานชาวฟิลิปปินส์ส่งเงินกลับบ้านมากขึ้นก่อนช่วงเทศกาลวันหยุด ทั้งนี้ การขยายตัวของการส่งเงินกลับประเทศในเดือนตุลาคม 2566 เป็นผลมาจากการเติบโตของรายรับทั้งจากแรงงานบนบก (Land-based) และแรงงานในทะเล (Sea-based) โดยยอดการโอนเงินโดยแรงงานบนบกมีมูลค่า 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากมูลค่า 2.33 พันล้าน           เหรียญสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม 2565 ขณะที่ยอดโอนเงินโดยแรงงานในทะเล มีมูลค่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากมูลค่า 580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม 2565

                  สำหรับยอดเงินโอนกลับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 2.749 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 โดยแหล่งเงินส่งกลับประเทศของแรงงาน OFWs ที่ใหญ่ที่สุดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 41.5 รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ (ร้อยละ 7) ซาอุดีอาระเบีย (ร้อยละ 6) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 5) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 4.8) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ร้อยละ 4.1) แคนาดา (ร้อยละ 3.1) กาตาร์ (ร้อยละ 2.8) ไต้หวัน (ร้อยละ 2.7) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 2.5) โดยมียอดเงินโอนกลับจาก 10 ประเทศดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 80 ของของยอดเงินโอนกลับทั้งหมด ทั้งนี้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์คาดว่าการส่งเงินกลับประเทศของแรงงาน OFWs จะเติบโตร้อยละ 3 ในปีนี้

                 นาย Michael L. Ricafort หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Rizal Commercial Banking Corp. กล่าวว่า โดยปกติแล้วการโอนเงินจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่สี่ของทุกปี เนื่องจากมีการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลวันหยุด ประกอบกับภาวะอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอาจกระตุ้นให้แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศส่งเงินกลับบ้านมากขึ้น เพื่อช่วยครอบครัวรับมือกับราคาสินค้าที่สูงขึ้น รวมถึงการรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วย และได้คาดการณ์ว่าการเติบโตของการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศอาจดำเนินต่อไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากครอบครัวยังคงต้องรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่สูง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.1 ในเดือนกันยายน 2566

ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 2566

 

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น

                   รายได้จากการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ (OFWs) มีความสำคัญสูงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นแหล่งเงินหมุนเวียนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและ การบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง และยังถือเป็นแหล่งสำรองเงินตราต่างประเทศขนาดใหญ่ของประเทศ โดยในแต่ละปีจะมีเม็ดเงินกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกของฟิลิปปินส์ที่แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศส่งกลับมาให้คนในครอบครัว และในช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มการส่งเงินกลับประเทศของแรงงาน OFWs สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ โดยในปี 2565 ยอดเงินส่งกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ สูงถึง 3.614        หมื่นล้านเปโซ นับเป็นการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และการเติบโตล่าสุดของยอดเงินส่งกลับประเทศในเดือนตุลาคม 2566 สะท้อนให้เห็นว่าแหล่งเงินรายได้ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและช่วยให้ครัวเรือนชาวฟิลิปปินส์ยังคงมีกำลังซื้อท่ามกลางความท้าทายต่างๆ  นอกจากนี้ ตามข้อมูลของธนาคารโลกยังได้คาดการณ์ว่ายอดเงินส่งกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศของฟิลิปปินส์ในปี 2566 จะมีมูลค่ามากกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งใน        อันดับต้นๆ ของโลกสำหรับประเทศผู้รับเงินโอนกลับประเทศจากแรงงานในต่างประเทศรองจากประเทศอินเดีย เม็กซิโก และจีน และธนาคารโลกยังได้คาดการณ์ว่าแนวโน้มกระแสเงินไหลเข้าของการส่งเงินกลับประเทศจะยังคงเติบโตอย่างเนื่องในทศวรรษหน้า    ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่เป็นประเทศที่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากแรงงานย้ายถิ่นฐานมากที่สุด       ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกเข้าสู่ฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในอนาคต และผู้ประกอบการควรติดตามและประเมินสถานการณ์ตลาดฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนและปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องและเหมาะสมต่อไป

————————————-

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

ธันวาคม 2566

 

 

thThai