สหภาพยุโรปดึงดูดประเทศในแอฟริกาด้วยข้อตกลงที่ดีกว่าจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน?

สหภาพยุโรปหรือ EU พยายามโน้มน้าวประเทศในแอฟริกาด้วยทางเลือกที่ดีกว่า ในการให้เงินกู้หรือความช่วยเหลือในการพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการเปลี่ยนแปลงทางด้านพลังงานมาใช้พลังงานสะอาดที่กำลังเป็นกระแสของโลกในปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่า โครงการริเริ่มของจีน ที่เรียกว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative)” นั้น แม้จะดูเป็นแรงผักดันให้เกิดการพัฒนาหลายด้านอย่างรวดเร็วในแอฟริกาแต่กลับก่อให้เกิดข้อขัดแย้งในการส่งเสริมการเชื่อมโยงการค้าทั่วโลก ทั้งนี้ EU พยายามนำเสนอ โครงการ Global Gateway Initiative ที่ริเริ่มโดย EU ซึ่งอาจเป็นทางเลือกให้กับประเทศในแอฟริกาที่ต้องการจะพัฒนาในด้านนี้ที่ดีกว่า การร่วมมือกับจีน และน่าจะส่งผลที่ดีกว่าโดยเฉพาะการพัฒนาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยุโรปมีองค์ความรู้และประสบการณ์มากกว่าจีนในเรื่องดังกล่าวด้วย

 

EU รวบรวมผู้นำจากกว่า 40 ประเทศ ทั่วโลกเพื่อร่วมกันสนับสนุนโครงการ Global Gateway Initiative ต้องการเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลไปเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมแถลงว่าสหภาพยุโรปต้องการผลลัพท์แบบ win-win ด้วยเหตุผลที่ว่า อนาคตของทวีปยุโรปและพันธมิตรที่เกี่ยวข้องจะดีขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกันโครงการนี้ที่พยายามรวบรวมเงินจำนวน 316 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากรัฐบาลและนักลงทุนเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา และควรมาพร้อมกับสภาพแวดล้อมที่ดี ผู้ใช้แรงงานไม่ถูกละเมิดสิทธิ์ ไม่มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ไม่มีการละเมิดอธิปไตยของประเทศชาติ สหภาพยุโรปได้ประกาศข้อตกลงหลายฉบับเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในแอฟริกา รวมถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

 

ความพยายามของ EU และชาติตะวันตกอื่นๆ ซึ่งโครงการดังกล่าว เกิดจากแนวคิดที่ต้องการตอบโต้จีนโดยพยายามให้ประเทศกำลังพัฒนาที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวว่า โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนนั้น เป็นตัวสร้างภาระหนี้สินให้กับแอฟริกา โดยการโต้กลับจาก EU ในครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ประเทศจีนได้เฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่กรุงปักกิ่งโดยมีตัวแทนจาก 155 ประเทศ เข้าร่วม

 

โดยตัวอย่างความช่วยเหลือที่ EU มีต่อเคนยา เช่น สหภาพยุโรปได้ลงนามเพื่อเงินช่วยเหลือ 72 ล้านยูโร เพื่อโครงการที่มีเป้าหมายไปยังกลุ่มรากหญ้าอย่างโปรแกรม Green Deal #TeamEuropeKenya เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน พลังงานหมุนเวียน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเคนยา และส่งเสริมความแข็งแกร่งด้านการกระจายอำนาจให้การตัดสินใจอยู่ในมือประชาชนมากขึ้น นอกจากเคนยาแล้ว EU ยังต้องการพัฒนาประเทศออื่นๆ อีก เช่น สนับสนุนเงิน 146 ล้านยูโร ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Kakono ในประเทศแทนซาเนีย อันมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ริเริ่มโครงการครูระดับภูมิภาคสำหรับแอฟริกาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและดำเนินนโยบายการศึกษา พัฒนาวิชาชีพสำหรับครู มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อการช่วยเหลือวิกฤตการวัตถุดิบในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) โดยสร้าง Trans-African Corridor เพื่อเชื่อมต่อตอนใต้ของ DRC เข้ากับตอนเหนือของแซมเบียเปิดสู่ตลาดโลกผ่านทางท่าเรือ Lobito ในแองโกลา ด้วยความร่วมมือจาก EU และสหรัฐอเมริกา ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา และบริษัทการเงินแห่งแอฟริกา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการร่วมเพื่อสนับสนุนเส้นทาง Lobito Corridor และทางรถไฟสายแซมเบีย-โลบิโต เป็นต้น

 

ไม่เพียงแต่ประเทศในกลุ่มแอฟริกาตะวันออกเท่านั้นที่ EU ให้ความช่วยเหลือ แต่ยังมีประเทศในแอฟริกาอื่นๆ อย่างเช่น นามิเบีย ด้วย สหภาพยุโรปกล่าวว่า จะให้ทุนสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาท่าเรือ Walvis Bay เริ่มต้นจากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังอ่าว Walvis-Maputo Corridor ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งใน Strategic Corridors ที่อยู่ใน EU-Africa Global Gateway Investment

 

Global Gateway เป็นกลยุทธ์ใหม่ของยุโรปในการส่งเสริมการเชื่อมโยงที่ชาญฉลาด สะอาด และปลอดภัยในภาคดิจิทัล พลังงาน และการขนส่ง ตลอดจนเสริมสร้างระบบสุขภาพ การศึกษา และการวิจัยทั่วโลก คณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปเปิดตัวในปี 2564 มุ่งเน้นที่การลงทุนอย่างชาญฉลาดในโครงสร้างพื้นฐนที่มีคุณภาพ เคารพมาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงสุดซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมของสหภาพยุโรปในหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และบรรทัดฐานและมาตรฐานระหว่างประเทศ

 

ความเห็นของ สคต.

การให้ความสำคัญในการให้เงินช่วยเหลือแอฟริกาของ EU ดังกล่าว ข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่ออิทธิพลของจีนที่มีมากขึ้นเป็นอันมากในแอฟริกาจากโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative)” ที่จีนได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมา 10 ปี ในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ซึ่งแม้โครงการดังกล่าว จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศกำลังพัฒนาให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่หลายประเทศก็ประสบปัญหาในการชำระหนี้เงินกู้กับจีน ทำให้ชาติตะวันตกรวมถึง EU ได้พยายามโจมตีความช่วยเหลือของจีน ว่าเป็นเพียงการสร้างกับดักหนี้ให้กับประเทศเหล่านี้มากกว่าการช่วยเหลือ ทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมามองเรื่องนี้มากขึ้น จนนำมาซึ่งการที่พยายามจะลดการพึ่งพามากขึ้นในปัจจุบัน

 

ในส่วนของไทยนั้น เรื่องดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า แอฟริกาเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีความสำคัญด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ จีน อินเดีย และประเทศชาติตะวันตกต่างให้ความสำคัญที่จะมีเครื่องมือหรือโครงการที่จะให้ความช่วยเหลือหรือเข้ามาทำการค้าและการลงทุนกับแอฟริกามากขึ้น ดังนั้น สคต. มีความเห็นว่า มันอาจถึงเวลาที่ไทยอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าในภูมิภาคแอฟริกาให้มีความน่าสนใจหรือสนับสนุนบริษัทที่สนใจบุกตลาดแอฟริกามากขึ้นตามไปด้วย เพราะไม่เช่นนั้น ในอนาคตตลาดการค้าในภูมิภาคแอฟริกาอาจตกอยู่ในอุ้งมือของมหาอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต

 

แนวทางหนึ่งที่ควรหันมาให้ความสำคัญและจริงจังก็คือ การที่ไทยควรเริ่มต้นเจรจาการค้ากับประเทศในแอฟริกามากขึ้น เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงการค้าหรือการลงทุนที่จะมีมากขึ้นในอนาคตต่อไป

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : The EastAfrican

thThai