กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมงของกัมพูชา ได้เปิดเผยว่า นอกจากประเทศจีน และสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญที่สุดของกัมพูชา ยังมีประเทศอื่น ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอิรัก กำลังกลายเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ และเป็นเป้าหมายการส่งออกข้าวของกัมพูชา
เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา Mr. Yang Saing Koma รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมงของกัมพูชา ได้กล่าวว่า ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ สหภาพยุโรป อิรัก ไนจีเรีย และอินโดนีเซีย และในบรรดาประเทศดังกล่าว กัมพูชาได้ส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนและสหภาพยุโรปบางประเทศแล้ว ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ขณะนี้กัมพูชาอยู่ระหว่างการส่งเสริมการส่งออกข้าวไปยัง 2 ประเทศนี้
นอกจากนี้ Mr. Yang Saing Koma ยังได้กล่าวว่า ปัจจุบัน กัมพูชาอยู่ระหว่างการส่งเสริมการส่งออกข้าวไปยังประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ส่วนอิรักคาดว่าจะเป็นตลาดข้าวของกัมพูชาในอนาคต ซึ่งจากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก รองลงมาคือไทย และเวียดนาม ขณะที่กัมพูชาอยู่อันดับที่ 8 และกัมพูชามีเป้าหมายเป็นผู้ส่งออกข้าวในอันดับที่ 5 ให้ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามนโยบายยุทธศาสตร์ด้านสินค้าเกษตรของกัมพูชา (ยุทธศาสตร์เพนตากอน) ในระยะที่ 1 ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร แสวงหาตลาด และรักษาสมดุลด้านราคา พร้อมทั้ง พัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่
ในชุมชน และพัฒนาชุมชนเกษตรกรรมสมัยใหม่
รัฐบาลกัมพูชาอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวหอม โดยใช้เมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้ ที่มีพันธุ์กรรมคงที่ ซึ่งข้าวหอมเป็นที่ต้องการสูงจากโรงงานสีข้าวในท้องถิ่น เนื่องจากการผลิตข้าวหอมเพื่อการส่งออกจะได้ราคาที่ดีและมีเสถียรภาพด้านราคา ทั้งนี้ การใช้เมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้ ที่มีพันธุ์กรรมคงที่ ร่วมกับการประยุกต์ใช้หลักการและเทคนิคการเพาะปลูกที่ถูกต้อง จะช่วยทำให้ได้รับผลผลิตที่สูง
นาย Chan Sokheang ประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ซึ่งเป็นองค์กรอุตสาหกรรมข้าวของประเทศกัมพูชา กล่าวว่า CRF ได้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลกัมพูชา มาโดยตลอด โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การเกษตร ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมข้าวของประเทศ โดยที่ผ่านมา CRF ได้ร่วมมือกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมการส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย แสวงหาตลาดต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศต่างๆ และการหาพันธมิตรในการส่งออกสำหรับตลาดใหม่ เนื่องจาก CRF ต้องการให้ประเทศต่างๆ ได้รู้จักข้าวที่มีรสชาติดีของกัมพูชา
ข้อมูลที่น่าสนใจจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง/สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF)
- ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2566 กัมพูชาสามารถปลูกข้าวบนพื้นที่มากกว่า 3.6 ล้านเฮกตาร์ และได้ผลผลิต 6.2 ล้านตัน โดยคาดว่า ถึงสิ้นปี 2566 กัมพูชาจะได้ผลผลิตมากกว่า 6.3 ล้านตัน
- ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงเดือนพฤศจิกายน กัมพูชาส่งออกข้าวแล้วประมาณ 595,000 ตัน (637,004 ตัน ในปี 2565)
- ในปี 2566 นี้ อินโดนีเซียได้ตกลงนำเข้าข้าวจากกัมพูชาในปริมาณ 10,000 ตัน ซึ่งเป็นการนำเข้าที่มีปริมาณมาก โดยได้มีการนำเข้าข้าวรอบแรกแล้ว จำนวน 3,500 ตัน
- กัมพูชาอยู่ระหว่างการส่งเสริมการส่งออกข้าวไปยังประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ส่วนอิรักคาดว่าจะเป็นตลาดข้าวของกัมพูชาในอนาคต
- รัฐบาลกัมพูชาได้ออกนโยบายที่สำคัญหลายประการเพื่อส่งเสริมการส่งออกและส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร โดยในส่วนสินค้าข้าว กัมพูชาตั้งเป้าหมายในการส่งออกข้าวให้ถึง 1 ล้านตันต่อปี
- ที่ผ่านมา เวียดนามถือเป็นผู้นำเข้าข้าวเปลือกรายใหญ่ที่สุดจากกัมพูชา โดยมีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่
3 – 4 ล้านตันต่อปี
โอกาส/ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
- ประเทศอิรักเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศอินเดียและไทย การที่กัมพูชาวางแผนขยายตลาดส่งออกข้าวไปยังประเทศอิรัก จะทำให้มีการแข่งขันในตลาดข้าวประเทศอิรัก สูงขึ้น
- หลายประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักของโลกรวมทั้งกัมพูชามีความพยายามที่จะปรับปรุงพันธุ์และเน้นการส่งออกข้าวที่ได้มูลค่าสูง (กลุ่มข้าวหอม) ซึ่งในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมของไทยไปยังตลาดต่างประเทศได้
- แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียจะระงับการส่งออกข้าวตามนโยบาย Food Security ของประเทศ จนทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในการผลิตข้าว อาจจะต้องพิจารณาในเรื่องของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El nino) หรือภาวะแห้งแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพื่อเตรียมวางแผนการเพาะปลูกและการจำหน่ายข้าวในตลาดต่างประเทศต่อไป
———————————————-
ที่มา: Phnom Penh Posts
ธันวาคม 2566