รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

 

 

 

 

      1. ศักยภาพและแนวโน้มธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

                  ฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก หรือเป็นสังคมของคนรุ่นใหม่ (Yong Society) ขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เริ่มเพิ่มขึ้นจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน โดยข้อมูลการสำรวจสถิติสำมะโนประชากรของฟิลิปปินส์ในปี 2563 พบว่า ประชากรชาวฟิลิปปินส์ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนกว่า 9.22 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 8.5 ของประชากรทั้งประเทศ) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีจำนวนผู้สูงอายุ 7.5 ล้านคน และคิดเป็น 2 เท่าของปี 2543 นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มอัตราการเกิดใหม่ของเด็กชาวฟิลิปปินส์ที่อยู่ในระดับสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะลดลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เริ่มเปลี่ยนไป และประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานที่มุ่งหารายได้มากขึ้นจึงเลื่อนการแต่งงานและมีลูกออกไป ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกในปัจจุบันสูงขึ้น ทำให้พ่อแม่ชาวฟิลิปปินส์พยายามมีลูกน้อยลง นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าอายุขัยเฉลี่ยของประชากรจะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากระบบสาธารณสุขที่ได้รับการพัฒนาดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อายุมัธยฐานของชาวฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้น 4.3 ปี ในปี 2583 และจำนวนผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเป็น 2 เท่า

แผนภูมิที่ 1 สัดส่วนประชากรในวัยต่างๆ และปีระมิดของฟิลิปปินส์ในปี 2564 และปี 2583

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

              จากแผนภูมิที่ 1 จะเห็นได้ว่า ในปี 2583 สัดส่วนของคนวัยกลางในฟิลิปปินส์ (อายุระหว่าง 45-64 ปี) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 21 และจากภาพปีระมิดของประชากรจะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2583 และด้วยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ดังกล่าว จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ที่จะเติบโตได้อย่างมีศักยภาพและได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ นอกจากแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังพบแนวโน้มและประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับตลาดธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ ดังนี้

                     1. ข้อมูลของหน่วยงาน Retirement and Healthcare Coalition ระบุว่า กว่าร้อยละ 90 ของประชากรผู้สูงอายุของฟิลิปปินส์ยังไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม นอกจากนี้ ความต้องการในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นคนไร้บ้านในฟิลิปปินส์ยังมีอยู่อีกมาก แต่จำนวนศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในลักษณะดังกล่าวยังมีจำกัดทั่วประเทศ โดยมีศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุที่กำกับดูแลโดยกระทรวงสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (DSWD) เพียง 4 แห่ง ทั่วประเทศเท่านั้น ทำให้จำนวนผู้สูงอายุในศูนย์บริการดังกล่าวค่อนข้างมีความหนาแน่น

                   2.แนวโน้มผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคความจำเสื่อมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ระบุว่าปี 2565 มีจำนวนผู้ป่วยโรคความ จำเสื่อมกว่า 170,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มเป็นมากกว่า 200,000 คน ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ และโรคสภาวะทางจิต นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีข้อจำกัดด้านอาหารที่ต้องการการดูแลโดยเฉพาะ ดังนั้น สถานบริการดูแลผู้สูงอายุแบบเฉพาะทางจึงเป็นทางเลือกที่สามารถแบ่งเบาภาระในการดูแลผู้สูงอายุได้ทำให้ความต้องการสถานบริการในลักษณะดังกล่าวเริ่มเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์มักกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เช่น Metro Manila และเมือง Laguna เป็นต้น ทำให้ยังมีช่องว่างสำหรับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศอีกมาก

                 3.นอกจากสถานบริการดูแลผู้สูงอายุจะเป็นที่ต้องการสำหรับผู้สูงอายุท้องถิ่นมากขึ้นแล้ว ยังพบว่าผู้สูงอายุชาวต่างประเทศเป็นกลุ่มลูกค้าศักยภาพธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์อีกด้วย โดยข้อมูล ของหน่วยงาน Philippine Retirement Authority (PRA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมให้ฟิลิปปินส์เป็นจุดหมายวัยเกษียณอายุของชาวต่างชาติระบุว่า ฟิลิปปินส์มีจำนวนผู้สูงอายุวัยเกษียณที่เป็นชาวต่างชาติจำนวน 64,512 ราย โดยประมาณร้อยละ 83 เป็นชาวเอเชีย และเป็นชาวจีนมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีผู้สูงอายุจากสหราชอาณาจักร เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เข้ามาอาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์หลังเกษียณอายุด้วย โดยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ชาวต่างชาติเลือกมาใช้ชีวิตวัยเกษียณในฟิลิปปินส์ เช่น ความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ สภาพอากาศเขตร้อน มีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าประเทศอื่นๆ และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของพนักงาน นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีวีซ่า Special Resident Retiree’s Visa (SRRV) ซึ่งอนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าสามารถ ถือวีซ่าประเภทนี้ได้ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องสละสัญชาติ สามารถเข้าประเทศได้โดยไม่จำกัด ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ และไม่เสียภาษีนำเข้าสินค้าที่ใช้ในครัวเรือน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีฟิลิปปินส์มีศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุทั้งในรูปแบบที่ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงโบสถ์และหน่วยงานภาครัฐ (กระทรวงสวัสดิการสังคมและการพัฒนา) เป็นผู้ดำเนินการ โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) ระบุว่าในปี 2563 ฟิลิปปินส์มีธุรกิจศูนย์ดูแลสุขภาพ (Other residential care activities) ทั้งหมด 115 แห่ง ซี่งมีการจ้างงานทั้งหมด 2,315 ตำแหน่ง และมีรายได้ประมาณ 2.007 พันล้านเปโซ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและคนพิการที่ไม่มีที่พัก (Social work activities without accommodation for the elderly and disabled) จำนวน 11 แห่ง มีการจ้างงานทั้งหมด 78 ตำแหน่ง และ มีรายได้ประมาณ 101.94 ล้านเปโซ

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

          อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์มีปัจจัยทางวัฒนธรรมที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับครอบครัว และชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการส่งผู้สูงอายุไปอยู่บ้านพักคนชราเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยวิถีชีวิตของผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์เป็นการใช้ชีวิตในชนบทกับครอบครัวและมีลูกหลานคอยดูแลช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงิน ซึ่งขัดกับวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบันที่ประชากรมีการย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น และหากผู้สูงอายุเจ็บป่วย ลูกหลานมักส่งไปรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าที่จะส่งไปที่บ้านพักผู้สูงอายุ ไม่เหมือนกับวัฒนธรรมของประเทศพัฒนาแล้วที่ส่วนใหญ่ลูกหลานจะให้ผู้สูงอายุรักษาตัวในโรงพยาบาลชั่วคราวและย้ายไปรักษาในศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว

2. ลักษณะและพฤติกรรมผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

         2.1 สถิติที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

  •  ฟิลิปปินส์มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 9.22 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดประมาณ 113 ล้านคนในปัจจุบัน โดยจำนวนของผู้สูงอายุหญิงคิดเป็นจำนวนร้อยละ 60 ของผู้สูงอายุทั้งหมด และผู้สูงอายุชายและหญิงในฟิลิปปินส์มีอายุเฉลี่ย 68 และ 70 ปีตามลำดับ
  • ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทมากกว่าในเมือง คิดเป็นร้อยละ 58 และร้อยละ 42 ตามลำดับ โดยผู้สูงอายุเพศชาย มีสัดส่วนการอยู่ในพื้นที่ชนบทมากกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 60 ของผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับบุตรอย่างน้อย 1 คน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีบุตรที่ยังอายุน้อยหรือยังไม่ได้แต่งงาน ในขณะที่ร้อยละ 9 อาศัยอยู่กับ คู่สมรส และร้อยละ 17 อาศัยอยู่กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหลาน เช่น พี่น้อง ญาติ และคนรับใช้ เป็นต้น และกว่าร้อยละ 13 อาศัยอยู่คนเดียว โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 80 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวมักมีบุตรหลานอาศัย อยู่ภายในหมู่บ้านเดียวกันหรือบริเวณใกล้เคียง
  • เมื่อพิจารณาสถานะการสมรส พบว่า ผู้สูงอายุชายส่วนใหญ่มีสถานะแต่งงาน (ร้อยละ 63) ในขณะที่ผู้สูงอายุหญิงที่แต่งงานมีสัดส่วนร้อยละ 31 (แต่เป็นหม้ายกว่าร้อยละ 56) ทั้งนี้ การหย่าร้างยังคง ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในฟิลิปปินส์ ยกเว้นผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมาย Code of Muslim Personal Laws อย่างไรก็ตาม พบว่าอัตราการเป็นหม้ายของชาวฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น เมื่อผู้สูงอายุมีอายุมากขึ้น แต่ผู้ชายมีสัดส่วนเป็นหม้ายน้อยกว่าผู้หญิง เนื่องจากมีการแต่งงานใหม่
  • เมื่อพิจารณามิติของการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุฟิลิปปินส์มักมีการศึกษาที่ต่ำกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ โดยร้อยละ 66 มีการศึกษาสูงสุดในระดับประถมศึกษา โดยเพศชายและเพศหญิงมีสัดส่วนที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ในขณะที่ร้อยละ 19 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และร้อยละ 8 จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา
  • เมื่อพิจารณาชนชั้นทางสังคมของประชากรในวัยต่างๆ พบว่า ผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ 70) อยู่ในกลุ่มชนชั้นทางสังคมเศรษฐกิจ D-E ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย-น้อยมากและความยากจนของผู้สูงอายุยังเป็นปัญหาสำคัญของสังคมฟิลิปปินส์ ดังแสดงในแผนภูมิที่ 2
  • ช่องทางรายได้ของผู้สูงอายุของฟิลิปปินส์มีความแตกต่างกันตามเพศ โดยผู้สูงอายุเพศหญิง มักพึ่งพารายได้หลักจากการสนับสนุนของลูกหลานและครอบครัว ในขณะที่ผู้สูงอายุเพศชายมีรายได้จากการทำการเกษตรและการทำงาน
  • สำหรับการเข้าถึงบริการสุขภาพพบว่า ผู้สูงอายุฟิลิปปินส์ที่มีประกันสุขภาพยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย โดยผู้สูงอายุเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 12 และผู้ชายร้อยละ 19 ตามลำดับ

 แผนภูมิที่ 2 สัดส่วนประชากรแบ่งตามโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในปี 2565

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

2.2 วัฒนธรรมการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

                     ผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ได้รับการดูแลส่วนใหญ่จากคู่สมรสและบุตรหลาน โดยมีการสนับสนุน ด้านการเงิน การให้สิ่งของ การอยู่เป็นเพื่อน และความช่วยเหลืออื่นๆ นอกจากนี้ ชาวฟิลิปปินส์มีทัศนคติ มองว่า บ้านของพ่อแม่ควรอยู่ใกล้กับบ้านของบุตรหลานเพื่อให้สามารถดูแลพ่อแม่เมื่อสูงอายุได้ดี อีกทั้งยังเป็นค่านิยมทางสังคมและศาสนาที่ลูกหลานต้องเสียสละเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งตามหลักความเชื่อหากไม่สามารถทำได้จะถือเป็นความน่าอับอายอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ผู้สูงอายุชาวฟิลิปปินส์ยังเชื่อว่าการดูแลผู้สูงอายุเป็นหน้าที่ของบุตรหลาน โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะให้สินทรัพย์มรดกแก่ลูกหลานที่ดูแลตนเอง ทั้งนี้ ผู้สูงอายุชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่จะต้องการอยู่กับลูกสาวมากกว่าลูกชาย เนื่องจากเชื่อว่าบทบาทของผู้ชายคือ การไปทำงาน และบทบาทของผู้หญิงคือ การดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน

                       ด้วยความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรมและค่านิยมทางสังคม ทำให้ทัศนคติทางสังคมเกี่ยวกับการส่งผู้สูงอายุไปยังศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุยังคงเป็นไปในเชิงลบสำหรับผู้คนทั่วไป เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์เห็นว่าการดูแลผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัวควรเป็นเรื่องภายในบ้าน และไม่ควรส่งต่อความรับผิดชอบให้บุคคลภายนอก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัย/สาเหตุอื่นๆ ที่ชาวฟิลิปปินส์จะไม่ส่งผู้สูงอายุไปอยู่ในศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุไม่คุ้นชินกับการอยู่กับคนแปลกหน้า ผู้สูงอายุจะคิดถึงคนในครอบครัวและการส่งผู้สูงอายุไปยังศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องน่าอับอาย รวมถึงยังมีค่านิยมที่ว่าศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งเท่านั้น ดังนั้น ศูนย์หรือบ้านพักผู้สูงอายุของภาครัฐและหน่วยงาน ที่ไม่แสวงหากำไรจึงมักมีผู้อาศัยเป็นผู้สูงอายุที่ถูกทิ้งจากครอบครัวเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา สถานบริการดูแลผู้สูงอายุเริ่มได้รับความนิยมและเพิ่มจำนวนมากขึ้นในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวที่มีกำลังทางการเงินในการจ่ายค่าบริการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ แนวโน้มในสังคมเริ่มเปลี่ยนไปจากการพัฒนาเมืองและโลกาภิวัตน์ ทำให้ชาวฟิลิปปินส์โดยเฉพาะคนวัยทำงานมีเวลาดูแลผู้สูงอายุน้อยลง แต่มีเงินสนับสนุนในการดูแล ส่งผลให้การใช้บริการสถานบริการดูแลผู้สูงอายุเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับชาวฟิลิปปินส์ยุคใหม่ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริมเพื่อให้ฟิลิปปินส์เป็นจุดมุ่งหมายในการเกษียณอายุของชาวต่างชาติด้วย ทำให้ปัจจุบันมีสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ในหลายจังหวัดเพิ่มขึ้น เช่น Cebu, Batangas, Laguna, Tagaytay, Pampanga และ Subic เป็นต้น รวมทั้งยังมีความหลากหลายในการให้บริการดูแลผู้สูงอายุ เช่น การดูแลที่บ้าน (Homecare) อีกด้วย

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

2.3 พฤติกรรมผู้สูงอายุของฟิลิปปินส์

         Euromonitor ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของประชากรในวัยต่างๆ ของฟิลิปปินส์ โดยพบ พฤติกรรมสำคัญและน่าสนใจของประชากรกลุ่ม Baby boomer (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ในด้านต่างๆ แสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 พฤติกรรมของประชากรกลุ่ม Baby boomer (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ในฟิลิปปินส์

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

                         จากพฤติกรรมผู้สูงอายุของฟิลิปปินส์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเปิดธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุสามารถนำไปปรับรูปแบบการบริหารจัดการและกิจกรรมในสถานบริการผู้สูงอายุให้เข้ากับพฤติกรรมผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ได้ เช่น การจัดกิจกรรมนันทนาการอย่างสม่ำเสมอ การจัดอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในการดูแลผู้สูงอายุ หรือการเน้นกิจกรรมในรูปแบบออฟไลน์มากกว่าออนไลน์ เป็นต้น

2.4 ปัจจัยในการเลือกสถานบริการหรือเมืองในการเกษียณอายุ

                    ผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ (ทั้งที่เป็นชาวฟิลิปปินส์และชาวต่างชาติ) ระบุว่า ปัจจัยที่ใช้ในการเลือกสถานที่ที่จะเกษียณอายุมี ดังนี้

                 (1) ปัจจัยด้านภาษา ควรเป็นสถานที่มีการใช้ภาษาที่คุ้นเคยหรือสื่อสารได้ เพื่อให้สามารถพูดคุยและเข้าใจกับคนท้องถิ่นได้

                 (2) ปัจจัยด้านอาหาร ควรมีร้านอาหารหรือตัวเลือกด้านอาหารในบริเวณใกล้เคียง

                 (3) ปัจจัยด้านมลพิษ ควรเป็นสถานที่ที่ไม่มีมลพิษหรือมีเสียงดัง

                 (4) ปัจจัยด้านสภาพอากาศ ควรมีสภาพอากาศที่ดี มีอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมต่อ    สภาพร่างกาย

                 (5) ปัจจัยด้านระยะทาง  ควรอยู่ใกล้กับศูนย์กลางการเดินทาง โรงพยาบาล และแหล่งอาหาร

                 (6) ปัจจัยด้านคุณภาพที่พัก ควรเป็นสถานที่ที่มีที่พักดีและสะดวกสบาย

                 (7) ปัจจัยด้านราคา ควรมีค่าธรรมเนียมบริการและค่าครองชีพที่เหมาะสม

                 (8) ปัจจัยด้านธรรมชาติ ควรเป็นสถานที่ที่มีความสะอาด อยู่ใกล้ป่าหรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

                 (9) ปัจจัยด้านรัฐบาลท้องถิ่น มีความเป็นระเบียบและความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลท้องถิ่นในพื้นที่ที่ต้องการจะไปอยู่อาศัย

                (10) ปัจจัยด้านจริยธรรมของผู้ให้บริการ ควรเป็นผู้ให้บริการที่ดี ซื่อสัตย์ รวมถึงปฏิบัติต่อผู้สูงอายุอย่างดี

         จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ผู้ประกอบการที่ต้องการเปิดธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ควรตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเลือกทำเลที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุ มีความสะดวกใกล้แหล่งธรรมชาติ รวมถึงปรับสภาพแวดล้อมภายในสถานบริการดูแลผู้สูงอายุให้ตรงกับความต้องการ เช่น มีพนักงานที่อัธยาศัยดี สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เป็นต้น

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

 

3. รูปแบบการให้บริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

                ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์มีการให้บริการหลากหลายรูปแบบมากขึ้น โดยขึ้นอยู่กับความต้องการ เงื่อนไขทางสุขภาพของผู้สูงอายุ รวมถึงความต้องการของบุตรหลาน โดยสามารถแบ่งประเภทการให้บริการได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

            (1) การบริการดูแลผู้สูงอายุแบบไปเช้าเย็นกลับ (Day care)

              การบริการดูแลผู้สูงอายุแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือ Day Care เป็นการดูแลผู้สูงอายุเฉพาะในช่วงเวลากลางวันโดยผู้สูงอายุยังคงพักอาศัยอยู่กับครอบครัวของตนเองตามปกติ โดยรูปแบบการให้บริการในช่วงเช้าผู้สูงอายุจะเดินทางมาหรือ มีเจ้าหน้าที่ไปรับผู้สูงอายุมายังศูนย์รับดูแลผู้สูงอายุ ระหว่างที่ผู้สูงอายุอยู่ในศูนย์จะได้รับการดูแลในด้านต่างๆ เช่น บริการการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวันทั้งในและนอกสถานที่การออกกำลังกาย การทำกิจกรรมบันเทิงต่างๆ การทำกิจกรรมทางศาสนา การจัดกิจกรรมพักผ่อน และการสร้างสังคมระหว่างหมู่เพื่อน เป็นต้น และเมื่อครบเวลาในช่วงเย็นผู้สูงอายุจะกลับไปอยู่บ้านตนเอง

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

             (2) การบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (Home care)

                 การบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน หรือ Home Care สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุที่นิยมหรือต้องการอยู่บ้านตนเอง โดยรูปแบบการบริการดังกล่าวจะมุ่งเน้นการดูแลผู้สูงอายุโดยผู้ที่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ปัจจุบันธุรกิจ Home Care มีแนวโน้มพัฒนารูปแบบการให้บริการครอบคลุมมากขึ้นไม่ใช่เพียงเป็นการให้บริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังให้บริการแบบครบวงจรทั้งในเรื่องของการดูแลบ้าน (Homemaking) เช่น การทำความสะอาด ทำงานบ้านต่างๆ การเตรียมอาหารให้ผู้สูงอายุ รวมทั้งยังดูแลในด้านจิตใจของผู้สูงอายุอีกด้วย

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

(3) ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing home)

                      ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Nursing home มีจุดประสงค์เพื่อให้บริการช่วยเหลือการทำกิจวัตรประจำวันแก่ผู้สูงอายุผู้ทุพพลภาพ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะสั้น และผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะยาว เช่น ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยอัมพฤกษ์และอัมพาต เป็นต้น ซึ่งเป็นบุคคลที่อาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หรือต้องทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย โดยผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลโดยทีมนักกายภาพบำบัด พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุรวมถึงการสอดส่องดูแลด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ นอกจากการดูแลในชีวิตประจำวันแล้ว ธุรกิจ Nursing home จะดูแลเรื่องอาหารการกินให้กับผู้สูงอายุด้วย ตลอดจนการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้สูงอายุ ส่งเสริมการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ อาทิ กิจกรรมทางศาสนากิจกรรมนันทนาการ เช่น การวาดรูป เกมกระดาน เป็นต้น

(4) การบริการผู้สูงอายุแบบพึ่งพิง (Assisted living)

               การบริการผู้สูงอายุแบบพึ่งพึง (Assisted living) เป็นการให้บริการบ้านพักผู้สูงอายุที่ต้องการ การช่วยเหลือเพียงบางส่วน โดยรูปแบบการให้บริการจะให้บริการผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมงทั้งในด้านการแพทย์และการช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น การอาบน้ำ การแต่งตัว การจัดการด้านยา และการจัดเตรียมอาหาร โดยระดับของการดูแลจะขึ้นอยู่กับความต้องการเฉพาะของผู้สูงอายุแต่ละราย ทำให้ผู้สูงอายุได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีการดูแลอย่างทั่วถึง และมีกิจกรรมที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขและมีความสัมพันธ์กับสังคม โดยปัจจุบันสถานบริการผู้สูงอายุในรูปแบบดังกล่าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุมีอิสระมากกว่า และมีราคาต่ำกว่าศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing home) ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายมักครอบคลุมบริการตั้งแต่อาหาร การทำความสะอาด การเดินทาง และกิจกรรมทางสังคม เช่น โยคะ ไทเก๊ก และการพาออกไปทำกิจกรรมข้างนอก เป็นต้น ทำให้ครอบครัวสามารถวางแผนค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น และสถานบริการผู้สูงอายุแบบ Assisted living มักมีขนาดเล็กกว่า Nursing home และมักมีผู้อยู่อาศัยน้อยกว่า 100 คน มุ่งเน้นการให้บริการที่พักอาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียม/อพาร์ทเม้นท์หรือบ้าน มากกว่าห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาล รวมถึงมีการช่วยเหลือน้อยกว่า Nursing home สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของสถานบริการในรูปแบบดังกล่าว คือ ผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ยังต้องการอิสระในการดำเนินชีวิต สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะดวกสบาย โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่ต้องการเข้ารับบริการดังกล่าว ได้แก่ 1) มีประกันสุขภาพหรือเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น 2) ต้องสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง เช่น การแต่งตัว การอาบน้ำ 3) มีสุขภาพจิตและการรับรู้ที่สามารถรับบริการในรูปแบบดังกล่าวได้ โดยต้องผ่าน การพิจารณาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ในปัจจุบันสามารถหาสถานบริการผู้สูงอายุแบบ Assisted livingได้ในเมืองใหญ่ๆ รวมถึงตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่เริ่มมีการสร้างศูนย์บริการผู้สูงอายุในรูปแบบดังกล่าวในรีสอร์ทอีกด้วย

                นอกจากสถานบริการผู้สูงอายุแบบต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีศูนย์บริการผู้สูงอายุบางแห่งที่ให้บริการอื่นๆ เฉพาะ เช่น บริการดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคความจำเสื่อม (Memory care) บริการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต (Hospice care) และบริการดูแลผู้สูงอายุชั่วคราว (Respite care) เป็นต้น ทั้งนี้ การให้บริการของสถานบริการผู้สูงอายุทุกประเภท ต้องเผชิญกับความเสี่ยงบางประการเช่น ผู้สูงอายุบางส่วนไม่มีความสามารถทางการเงินที่เพียงพอหลังใช้บริการไปแล้วระยะหนึ่ง แต่สถานบริการ ยังต้องแบกรับภาระในการให้บริการต่อไป อัตราการหมุนเวียนของบุคลากรทางการแพทย์ค่อนข้างสูง เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์เลือกทำงานในสถานบริการผู้สูงอายุ เพื่อเป็นรากฐานในการนำไปสมัครงานอื่นที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือการออกไปทำงานในต่างประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม การหาบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศฟิลิปปินส์ อาจไม่เป็นอุปสรรคมากนัก เนื่องจากมีการผลิตบุคลากรทางการแพทย์เป็นจำนวนมากในแต่ละปี

    1. กฎระเบียบ มาตรฐาน และนโยบายที่เกี่ยวข้องของสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

4.1 กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

     (1) การจดทะเบียนธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ

           ฟิลิปปินส์ไม่มีข้อห้ามสำหรับชาวต่างชาติในการลงทุนในสถานบริการดูแลผู้สูงอายุตามรายการธุรกิจที่ห้ามชาวต่างชาติลงทุน (Foreign negative list) ภายใต้กฎหมายการลงทุนของชาวต่างชาติ (RA 7042) อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจระดับ SME ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือกรณีที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือมีการจ้างงานเกิน 50 คน ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ชาวต่างชาติสามารถลงทุนได้สูงสุดเพียงร้อยละ 40 ทั้งนี้ ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการจัดตั้งกิจการในฟิลิปปินส์ จะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • การจดทะเบียนจองชื่อและจัดตั้งบริษัทกับ Security Exchange Commission (SEC)
  • การดำเนินการด้านเอกสารกับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่กิจการตั้งอยู่ ได้แก่ Barangay clearance, Mayor’s permit และ Business permit to operate
  • การจดทะเบียนกับกรมสรรพากร (Bureau of Internal Revenue)
  • การดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานบุคลากร ได้แก่ ประกันสังคม (SSS), Philhealth และ Pag-ibig fund
  • การจดทะเบียนกับ Bureau of Health Facilities and Services Accreditation กระทรวงสาธารณสุข หากมีการให้บริการทางการแพทย์ด้วย

     (2) กฎระเบียบเกี่ยวกับการให้บริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุฟิลิปปินส์

          กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ มีการออกระเบียบ Administrative order 2017-0001 ว่าด้วยนโยบายการดูแลผู้สูงอายุในสถานบริการสุขภาพทุกแห่ง เพื่อกำกับและควบคุมให้สถานบริการด้านสุขภาพมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานสำหรับผู้สูงอายุ โดยได้วางหลักการและแนวทางที่เกี่ยวข้องที่สถานบริการด้านสุขภาพจะต้องปฏิบัติตาม ดังนี้

2.1) แนวทางผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรี ความเป็นส่วนตัว
การมีทางเลือกของผู้สูงอายุในการรักษา การรักษาความลับส่วนบุคคลของผู้สูงอายุ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุผ่านแนวทางการรักษาที่ดีที่สุด ความปลอดภัย ความต่อเนื่องและการบริการในการรักษา

2.2) ด้านสภาพแวดล้อม ประกอบด้วย

  •  ด้านสภาพแวดล้อมทั่วไป – การสนับสนุนการฟื้นฟู การปรับสภาพแวดล้อมให้เข้ากับความต้องการของผู้สูงอายุ การตรวจสอบสภาพแวดล้อมในช่วงกลางคืน ระดับของสิ่งรบกวนและสิ่งเร้า ความสะดวกสบาย และสภาพแวดล้อมที่ป้องกันอุบัติเหตุ
  • ด้านสภาพแวดล้อมเชิงกายภาพ – การเข้าถึงและการเดินทางภายในสถานบริการ (เช่น ประตู บันได) ป้าย/สัญลักษณ์ พื้น อุปกรณ์ และเฟอร์นิเจอร์
  •  พื้นที่ต่างๆ – ห้องน้ำ ห้องนอน

              ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายละเอียดของมาตรฐานดังกล่าวได้ในเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข https://dmas.doh.gov.ph:8083/Rest/GetFile?id=337116 และนอกจากมาตรฐานดังกล่าว สถานบริการสุขภาพยังจำเป็นที่จะต้องออกแบบสถานที่ให้ตรงกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายการก่อสร้างแห่งชาติ (P. D. 1096) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาคารและอัคคีภัย (P. D. 1185) กฎหมายสุขอนามัยแห่งชาติ (P. D. 856) เป็นต้น

4.2 นโยบายสนับสนุนสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ 

                     ฟิลิปปินส์มีนโยบายสนับสนุนสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผ่านหน่วยงาน Philippine Retirement Authority (PRA) ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยว ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมให้ฟิลิปปินส์เป็นจุดหมายปลายทางหรือสถานที่สำหรับการเกษียณอายุของผู้สูงอายุต่างชาติ และเพื่อให้เป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศผ่านการเสนอ Package ที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเลือกมาเกษียณอายุที่ฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ หน่วยงานดังกล่าว ยังรับผิดชอบในการออกวีซ่าสำหรับผู้เกษียณอายุคือ Special Resident Retiree Visa (SRRV) สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเกษียณอายุในฟิลิปปินส์ โดยสามารถเข้าออกประเทศฟิลิปปินส์ได้อย่างไม่จำกัด และอยู่ได้นานเท่าที่ต้องการ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องขอ ACR-I card จาก Bureau of Immigration และสิทธิพิเศษอื่นๆ เช่น การยกเว้นภาษีศุลกากร สำหรับ การนำเข้าสินค้าส่วนตัวมูลค่า 7,000 เหรียญสหรัฐฯ ไม่ต้องเสียภาษีการเดินทาง การอำนวยความสะดวก ในการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ และส่วนลดสำหรับร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกับ PRA โดยมีตัวเลือกของ  วีซ่าประเภท SRRV ดังแสดงในตารางที่ 2

                                   ตารางที่ 2 รูปแบบของวีซ่า SRRV

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

                         นอกจากนี้ หน่วยงาน PRA ยังเปิดให้สถานบริการ/โครงการอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุสามารถสมัครเป็นพันธมิตรของหน่วยงาน โดยหน่วยงาน PRA จะช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ให้บนเว็บไซต์ https://pra.gov.ph/ อีกด้วย ทั้งนี้ นโยบายสนับสนุนให้ชาวต่างประเทศที่เกษียณอายุเข้ามาพักอาศัยในฟิลิปปินส์ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากสามารถหาลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการ SRRV ได้ด้วย

              5.ตัวอย่างสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

ตัวอย่างของสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ และรายละเอียดการให้บริการแสดงในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 ตัวอย่างสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์และรายละเอียดการให้บริการ

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

                นอกจากตัวอย่างสถานบริการผู้สูงอายุดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปัจจุบันมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง ที่มีมีการพัฒนาโครงการก่อสร้างสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุ เช่น บริษัท SMDC, New Clark Government Center Corporation และ SM Prime Holdings เป็นต้น

    1. เมืองที่ได้รับความนิยมสำหรับสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

          ในประเทศฟิลิปปินส์มีเมืองหลายแห่งที่มีศักยภาพและความเหมาะสมในการจัดตั้งสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากมีสภาพอากาศดี สะดวก และปลอดภัย อาทิ

           (1) เมือง Cebu เมืองรองทางเศรษฐกิจที่สำคัญของฟิลิปปินส์ และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเกาะวิสายาสต์ทางตอนกลางของฟิลิปปินส์ โดยเมือง Cebu มีบรรยากาศที่มีความเป็นเมือง มีสิ่งอำนวยความสะดวก ความบันเทิง และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก นอกจากนี้ ยังเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพต่ำ มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และมีสนามบินนานาชาติ     ซึ่งมีเที่ยวบินไปเดินทางได้จากหลายประเทศ

         (2) เมือง Dumaguete เป็นเมืองหลักและใหญ่ที่สุดของจังหวัด Negros Oriental ในภูมิภาคเกาะวิสายาสต์ และเป็นเมืองที่ผู้คนเป็นมีความเป็นมิตร อัธยาศัยดี ค่าครองชีพต่ำ มีทัศนียภาพและธรรมชาติที่สวยงาม รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและราคาจับต้องได้ นอกจากนี้ เมือง Dumaguete ยังได้รับการยอมรับจาก Forbes ว่าเป็นเมืองที่เหมาะกับวัยเกษียณมากที่สุดแห่งหนึ่ง

          (3) เมือง Makati อยู่ในเขตเมโทรมะนิลา เป็นเมืองศูนย์กลางทางการเงิน การค้าและเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ แม้ว่าเมือง Makati จะประสบกับปัญหาจราจรติดขัดและค่าครองชีพสูง แต่ผู้เกษียณอายุจำนวนมากเลือกที่จะอาศัยอยู่ในเมืองดังกล่าว เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังสามารถลงทุนในการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นแหล่งรายได้อีกด้วย

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

    1. ส่วนประสมทางการตลาด สำหรับธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์
                      จากข้อมูลตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคของธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ สามารถวิเคราะห์ส่วนประสมทางการตลาด (7P) ที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจนี้ได้ ดังแสดงในตารางที่ 4

   ตารางที่ 4 ส่วนประสมทางการตลาด (7P) สำหรับธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

      1. การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ ในฟิลิปปินส์
                                                 จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ สามารถวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุไทยในฟิลิปปินส์ (SWOT)ได้ ดังแสดงในตารางที่ 5

ตารางที่ 5 การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุไทยในฟิลิปปินส์

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

      1. ข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ของผู้ประกอบการธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุไทยที่ต้องการเข้าสู่ในฟิลิปปินส์

                     9.1 ผู้ประกอบการไทยที่สนใจสามารถลงทุนสร้างสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ได้โดยตรง แต่เป็นวิธีการที่มีข้อจำกัดจากกฎระเบียบการลงทุนของฟิลิปปินส์ รวมถึงต้องสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งทางธุรกิจ และใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้วิธีการลงทุนทางตรงจึงค่อนข้างเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูงและยุ่งยากหากไม่มีประสบการณ์ในตลาดฟิลิปปินส์ รวมทั้งไม่เข้าใจพฤติกรรมของผู้สูงอายุและการบริหารคนฟิลิปปินส์มากพอ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการลงทุนในธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ อาจพิจารณามองหาพันธมิตรชาวฟิลิปปินส์ที่มีศักยภาพในการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงและอาศัยความรู้ รวมถึงประสบการณ์ของพันธมิตรในการทำธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

                 9.2 การขยายธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุไทยมายังตลาดฟิลิปปินส์รูปแบบแฟรนไชส์เป็นหนึ่งในวิธีที่มีความเสี่ยงต่ำและลงทุนน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจในลักษณะแฟรนไชส์จำเป็นต้องคัดเลือกแฟรนไชส์ซีที่มีความพร้อม มีศักยภาพสูง และเข้าใจตลาด รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามแนวทางของแบรนด์ได้ ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยสามารถหาแฟรนไชส์ซีที่ใช่ (Right Partner) ได้ จะสามารถช่วยขยายธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

                 9.3 ในการจัดตั้งธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ ควรกำหนดขอบเขตประเภทของการให้บริการอย่างชัดเจน เพื่อให้ธุรกิจสามารถมุ่งเน้นกิจกรรมที่ตนเองถนัดได้ และหากมีการให้บริการด้านการรักษาหรือการดูแลทางการแพทย์ จะต้องมีการจดทะเบียนกับหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถนำจุดแข็งในการบริการแบบไทยไปประยุกต์ใช้ในศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุที่จะเปิดในฟิลิปปินส์ซึ่งมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันได้ โดยจุดแข็งที่สำคัญของไทย คือ องค์ความรู้และวิธีการดูแลผู้สูงอายุที่มีการสั่งสมมาอย่างยาวนาน และสามารถประยุกต์ใช้ในบริบทของฟิลิปปินส์

             9.4 การกำหนดราคาถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจในฟิลิปปินส์ โดยผู้ประกอบการไทยควรพิจารณากำหนดราคาที่จับต้องได้และเหมาะสมตามตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น หากเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติอาจตั้งราคาค่อนข้างสูงได้ และสามารถอยู่ในสกุลเหรียญสหรัฐฯ แต่หากเป็นกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นในฟิลิปปินส์ อาจต้องพิจารณารายได้ของกลุ่มเป้าหมายด้วย

             9.5 การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ควรพิจารณาใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลักในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากเป็นวิธีที่ได้ผลค่อนข้างดีในประเทศฟิลิปปินส์ โดยอาจใช้สื่อ/บล็อกที่เกี่ยวข้องกับ การดูแลสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในการใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ได้ โดยข้อความที่ควรเน้นในการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายต้องชี้ให้เห็นถึงข้อดีและความสำคัญในการส่งผู้สูงอายุมารับการดูแลในสถานบริการผู้สูงอายุ เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ยังคงมีทัศนคติที่ไม่ดีและยังไม่เปิดรับการส่งผู้สูงอายุไปอยู่ในสถานบริการดูแลผู้สูงอายุมากนัก

           9.6 ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีในสถานบริการดูแลผู้สูงอายุเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกใช้บริการสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์ ดังนั้น สถานบริการดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับมาตรฐานและมีความปลอดภัยของสถานที่ที่ดี มีบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ไว้วางใจได้และมีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ ผ่านการฝึกอบรมมีจิตใจในการให้บริการ ชอบช่วยเหลือและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการดูแลผู้สูงอายุให้ได้มาตรฐานด้วย

                        รายงานตลาดเชิงลึกธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในฟิลิปปินส์

———————————————-

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

ธันวาคม 2566

แหล่งที่มา

https://www.austrade.gov.au/australian/export/export-markets/countries/philippines/industries/healthcare

https://pra.gov.ph/srrv/

https://pra.gov.ph/retirement-facilities/

http://www.ieomsociety.org/singapore2021/papers/888.pdf

https://www.eria.org/uploads/media/Books/2019-Dec-Ageing-and-Health-Philippines/09-Ageing-and-Health-Philippines-Chapter-3-new.pdf

https://previous.iiasa.ac.at/web/home/research/researchPrograms/WorldPopulation/Meetings/EGM_26_Feb_2019_Plenee_Grace_J._Castillo.pdf

https://www.ianfulgar.com/project-ideas/assisted-living-in-the-philippines-the-next-opportunity/

https://alhservices.net/assisted-living-in-the-philippines/

https://businessmirror.com.ph/2022/07/26/nursing-homes-in-the-philippines/

https://www.academia.edu/38384978/Compliance_with_Standards_of_Geriatric_Nursing_Home_Facilities_in_the_Philippines_An_Evaluation

https://www.eria.org/uploads/media/Books/2019-Dec-ERIA-Ageing-And-Health-In-The-Philippines.pdf

https://www.wellnessrehabcentre.com/nursinghome%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3

https://homehealthcare.com.ph/pages/senior-residential-facilities

https://www.saintjudecarefacility.com/

https://www.nursing-home-philippines.com/

https://www.eria.org/uploads/media/Books/2019-Dec-ERIA-Ageing-And-Health-In-The-Philippines.pdf

 

 

thThai