เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา สถาบันภาพยนตร์และอะนิเมชั่นแห่งชาติของฝรั่งเศส (Centre National du Cinéma et de l’image animée – CNC) ร่วมกับหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาการส่งออกสื่อโสตทัศน์ของฝรั่งเศส (Unifrance) ได้เปิดเผยผลการศึกษาการส่งออกสื่อโสตทัศน์ของฝรั่งเศสประจำปี 2565 โดยพบว่า ในปีดังกล่าว ฝรั่งเศสทำมูลการส่งออกรายการโสตทัศน์ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นมูลค่าสูงถึง 214.8 ล้านยูโร คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 15.4 เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายในปี 2564 (ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายสูงสุดที่ทำได้ครั้งก่อนหน้านี้ ในปี 2560)
มูลค่าส่งออกรวมที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์นี้เป็นผลมาจากความน่าสนใจและแรงดึงดูดของสื่อฝรั่งเศสที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวทีตลาดโลก ประกอบกับบริบทด้านเศรษฐกิจการค้าในภาพรวม และตลาดซื้อขายสื่อโสตทัศน์ที่กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่หลังจากวิกฤตโควิด 19 เม็ดเงินที่มาจากการกระจายรายการโสตทัศน์ของฝรั่งเศสบนแพล็ทฟอร์มสื่อโสตทัศน์ในต่างประเทศสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากเดิมคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.6 ในปี 2556 ร้อยละ 33.5 ในปี 2564 กลายมาเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 43.1 ของยอดการส่งออกทั้งหมดในปี 2565 โดยยังคงมีผู้ซื้อรายหลักเป็นสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ที่ซื้อสิทธิในการกระจายรายการโสตทัศน์ของฝรั่งเศสในต่างประเทศ
ประเภทรายการที่ได้รับความนิยม คือ ละคร/ซีรี่ย์ ที่ทำยอดขายได้สูงถึง 80.7 ล้านยูโร นับเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 40.9 เมื่อเปรียบเทียบกับในปีก่อนหน้า โดยมีซีรีย์ที่แปลกใหม่แหวกแนว หลากหลายประเภท อาทิ ซีรีย์อิงประวัติศาสตร์ ซีรีย์สำหรับวัยรุ่นและเยาวชน หรือซีรี่ย์ที่มีตัวละครหลักเป็นผู้หญิง อาทิ HPI Marie-Antionette Chair tendre หรือ Vortex ตลอดจนถึงซีรีย์สืบสวนสอบสวน อาทิ Tandem Tropiques criminels Astrid et Raphaëlle
นอกจากนี้ รายการประเภทสารคดีก็สามารถขยายตัวได้มากเช่นเดียวกัน โดยทำยอดส่งออกได้เป็นมูลค่าสูงถึง 48.6 ล้านยูโร โดยมีเนื้อหายอดนิยมที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การสืบสวนสอบสวน และธรรมชาติและสัตว์ ดังจะเห็นได้จากสารคดียอดฮิตที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในระดับโลก อาทิ La Story Zelensky Constructions animales และ Planète archéologie
รายการประเภทอะนิเมชั่นกลับได้รับความนิยมลดลง ยอดขายหดตัวต่อเนื่องเป็นเวลาสองปีติดต่อกัน คิดเป็นมูลค่า 57.6 ล้านยูโร ลดลงจากในปี 2564 ร้อยละ 5.3 ด้วยบริบทของการซื้อขายสิทธิการกระจายภาพของสื่อโสตทัศน์ในกลุ่มนี้ในตลาดโลกอยู่ในช่วงที่เริ่มซบเซาลง แม้ว่ารายการอะนิเมชั่นฝรั่งเศสจะนับว่ายังคงขายได้ดีในตลาดโลก เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรายการที่จะกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนก็ตาม
ลูกค้าที่สำคัญของรายการโสตทัศน์ฝรั่งเศส
สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอันดับแรกของฝรั่งเศส มูลค่ารวม 19.2 ล้านยูโร เยอรมนีเป็นตลาดอันดับที่ 2 มูลค่า 14.2 ล้านยูโร และสหราชอาณาจักร เป็นอันดับที่ 3 มูลค่า 14.1 ล้านยูโร
สำหรับการสั่งซื้อล่วงหน้ามีมูลค่าการขายลดลงกว่าร้อยละ 50.3 คิดเป็นเงินจำนวน 50.5 ล้านยูโร โดยส่วนใหญ่เป็นรายการประเภทละคร/ซีรี่ย์ มีมูลค่าการขายจำนวน 19.6 ล้านยูโร คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 38.8 การสั่งซื้อรายการประเภทอะนิเมชั่นลดลงร้อยละ 56.2 เหลือมูลค่า 20.6 ล้านยูโร
เงินทุนจากต่างชาติสำหรับการผลิตร่วมกับบริษัทฝรั่งเศสก็ลดลงเช่นกัน เหลือเพียง 54.4 ล้านยูโรในภาพรวม โดยเป็นการร่วมทุนผลิตอะนิเมชั่น จำนวน 23.6 ล้านยูโร จำนวน 15.6 ล้านยูโร ในกลุ่มรายการสารคดี และจำนวน 13.4 ล้านยูโร ในกลุ่มละคร/ซีรี่ย์
ความคิดเห็น สคต.
ฝรั่งเศสเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมบันเทิงสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เกมส์ สื่อโสตทัศน์ และดิจิทัลคอนเทนต์ในตลาดโลก โดยภาคธุรกิจดังกล่าวเป็นหนึ่งในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ศักยภาพที่รัฐบาลไทยมีเป้าหมายผลักดันให้เกิดกับขับเคลื่อนในฐานะ Soft Power เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ การดำเนินการเพื่อส่งเสริมตลาดและขยายลู่ทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในสาขาต่างๆ ในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมดังกล่าว ตั้งแต่ในขั้นตอนการพัฒนา ไปจนถึงขั้นตอนก่อนและหลังการผลิต โดยเน้นเจาะกลุ่มตลาดผู้ผลิตดิจิทัลคอนเทนท์รายใหญ่อย่างฝรั่งเศส ผ่านการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจบันเทิงไทยในช่วงระหว่างการจัดงานหรือเทศกาลต่างๆที่เกี่ยวข้อง หรือการจัดประชุม/สัมมนาระหว่างผู้ประกอบการศักยภาพจากทั้งสองประเทศ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยและฝรั่งเศสได้ทำความรู้จักกัน สามารถหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือและการเจรจาการค้า ลู่ทางในการผลักดันให้อุตสาหกรรมธุรกิจ บันเทิงและคอนเทนต์ไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวางมากขึ้น