ปี 2022 ภาคเอกชนของเยอรมันใช้เงินในการค้นคว้าและวิจัยเพิ่มขึ้น 8% หรือคิดเป็นมูลค่า 82 พันล้านยูโร (โดยประมาณ) ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก แม้ว่าเยอรมนีในตอนนี้จะมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก แต่กลับสามารถเพิ่มบุคลากรด้านนี้ได้ถึง 6% และเป็นครั้งแรกที่มีการจ้างบุคลากรด้านการค้นคว้าและวิจัยมากกว่าครึ่งล้านตำแหน่ง ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (Eurostat) โดยสำนักงานฯ เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเชิงสถิติจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด และเป็นผู้รายงานข้อมูลของเยอรมันให้กับสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป
จากข้อมูลข้างต้น พบว่า บริษัทเยอรมันลงทุนด้านค้นคว้าและวิจัยเพิ่มขึ้น สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของยุโรป ซึ่งอยู่ที่ 6.8% และนอกจากเยอรมนีแล้ว สเปนและเนเธอร์แลนด์ก็นับเป็นอีก 2 ประเทศที่มีการลงทุนในด้านนี้สูงพอ ๆ กัน ในขณะที่ฝรั่งเศสการลงทุนด้านการค้นคว้าและวิจัยกลับคงที่ แต่ในอิตาลีกลับลดค่าใช้จ่ายด้านดังกล่าวลง นาย Uwe Cantner ประธานคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและนวัตกรรม (EFI – Expertenkommission für Forschung und Innovation) ออกมาชื่นชมกับสถิติดังกล่าวเยอรมนีว่า “เรากำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง” โดย EFI มีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลเยอรมันด้านนวัตกรรม และเรื่องที่น่ายินดีเป็นพิเศษสำหรับเยอรมนีก็คือ การค้นคว้าและวิจัยด้านไอทีของประเทศขยายตัวขึ้น 15% ด้านนาย Michael Kaschke ประธาน EFI กล่าวว่า “อุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนในด้านค้นคว้าและวิจัย” อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ชัดเจนว่า ภาคเอกชนได้ขับเคลื่อนและลงทุนกับนวัตกรรมที่ “ถูกต้องหรือไม่” โดยนาย Cantner ชี้ให้เห็นว่า สถิติไม่ได้แสดงข้อมูลว่า การลงทุนไหลเข้าสู่เทคโนโลยีที่ภาคการเมืองต้องการขนาดไหน อาทิ ด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืน และการปรับเปลี่ยนตัวตนเข้าสู่ระบบดิจิตอล เป็นต้น
การลงทุนด้านนวัตกรรมนับเป็นเรื่องสำคัญขั้นพื้นฐาน เพื่อที่จะสามารถรักษาตำแหน่งในฐานะผู้เล่นชั้นนำของโลกด้านเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว คณะรัฐบาลจึงต้องการที่จะผลักดันเพิ่มการลงทุนของเยอรมนีในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D – Research and Development) เป็น 3.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่อัตราดังกล่าวกลับนิ่งอยู่ที่ 3% หลายปีติดต่อกัน ในระดับสากล สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ นำหน้าด้าน R&D เป็นพิเศษ โดยมีสัดส่วนการลงทุนด้าน R&D เมื่อเทียบกับ GDP ถือว่าสูงขึ้นมากหลายปีติดต่อกัน ซึ่งในเวลานี้ยังไม่มีตัวเลขของปี 2022 ของประเทศเหล่านี้ออกมาให้ทราบ โดยการเติบโตด้าน R&D ถึง 8% ของเยอรมนีนั้นส่วนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 7.9% ในปี 2021 อย่างไรก็ตามนาย Christian Rammer นักเศรษฐศาสตร์ประจำศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW – Zentrum für Europäische Wirtschaftsforschung) กล่าวว่า “โดยหลักการแล้ว ผลกระทบด้านอัตราเงินเฟ้อกับ R&D ควรจะต่ำกว่านี้ ด้วยตัวขับเคลื่อนอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอย่าง พลังงาน และเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) แทบจะไม่มีผลกับ R&D แต่อย่างใด”
ค่าใช้จ่ายด้าน R&D จะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2023 ได้อีกหรือไม่ จากการสำรวจของ 2 สถาบัน แสดงให้เห็นภาพที่หลากหลายออกไป ในด้านหนึ่ง จากการสำรวจของ Eurostat แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ต้นฤดูร้อนที่ผ่านมาบริษัทต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนในด้าน R&D 5% เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นาย Gero Stenke หัวหน้าฝ่ายสถิติของ Eurostat กล่าวว่า“ท้ายที่สุดแล้วการลงทุนด้าน R&D น่าจะอยู่ที่ 3.5% โดยประมาณ” อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของสภาหอการค้าพาณิชย์และอุตสาหกรรมเยอรมนี (DIHK – Der Deutsche Industrie- und Handelskammertag) ถึงการลงทุนด้าน R&D ในช่วงฤดูร้อน พบว่า ดูไม่ค่อยดีนัก โดยข้อมูลของ DIHK แสดงให้เห็นว่า บริษัทประมาณ 2,300 แห่ง เห็นว่า “มีความตั้งใจที่จะลงทุนด้าน R&D ลดลงจนน่าใจหาย” ในปี 2020 บริษัทครึ่งหนึ่งมีความประสงค์ที่จะลงทุนด้านนวัตกรรมมากขึ้น แต่ขณะนี้มีเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของบริษัทเท่านั้นที่มีความประสงค์ดังกล่าว บริษัท 1 ใน 7 ต้องการประหยัดการลงทุนด้านดังกล่าวเสียอีกโดยสาเหตุหลักก็คือ ขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ ในเวลาเดียวกัน ระบบราชการที่ซับซ้อน ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ถูกแจ้งว่าเป็นสาเหตุหลักของปัญหา โดยมีแนวโนมที่บริษัทเยอรมันจำนวนมากมีความประสงค์ที่จะย้ายศูนย์ R&D ไปไว้ในต่างประเทศ จากข้อมูลของ DIHK แจ้งว่า 1 ใน 4 ของบริษัทมีความประสงค์ที่จะดำเนินการดังกล่าว โดย DIHK ออกมาเตือนว่า “การย้ายที่ตั้งของศูนย์วิจัยไปไว้ต่างประเทศนั้นส่งผลเสียต่อเยอรมนีในฐานะศูนย์กลางความสำคัญด้าน R&D” โดยบริษัทสำคัญที่เป็นตัวชี้ค่าดัชนีตลาดหุ้นประเทศเยอรมัน (DAX) ต่างก็วางแผนที่จะย้าย R&D ไปไว้ต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน จากข้อมูลของ ZEW เกี่ยวกับบริษัท DAX จำนวน 34 บริษัทพบว่า พวกเขาเพิ่มการลงทุนด้าน R&D ทั่วโลกมากกว่า 14% ในปี 2022 ส่วนหนึ่งมาจากการฮวบซื้อกิจการในต่างประเทศ ในทางกลับกันการลงทุนด้านดังกล่าวในเยอรมนีมีของบริษัท DAX มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเพียงไม่ถึง 11% ด้วยซ้ำ จากสถิติที่น่าใจหายนี้ DIHK จึงออกมาร้องขอให้ในเยอรมนีมี “เสรีภาพด้านความคิดสร้างสรรค์สำหรับบริษัทมากขึ้น” โดยในสัญญาเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล (Koalitionsvertrag) ชุดปัจจุบันก็ได้มีการระบุถึง “ห้องปฏิบัติการที่ทำการทดลองกับสภาวะจริง” ไว้ด้วย โดยควรมีการอนุญาตให้ทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในภูมิภาคที่จัดสรร อย่างเช่นการ การทดลองด้านขับขี่อัตโนมัติ หรือการทดลองแนวคิดด้านการจัดหาพลังงานแบบอัจฉริยะ เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้กระทรวงเศรษฐกิจฯ กำลังเร่งทำงานสร้างกรอบกฎหมายดังกล่าวอย่างหนัก
หากแยกดูภาคส่วนต่าง ๆ นอกเหนือจากผู้ประกอบธุรกิจไอทีแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์เองก็ก็ทำได้ดีในการลงทุนด้าน R&D เช่นกัน ในปี 2022 ผู้ผลิตรถยนต์การลงทุนด้าน R&D ขึ้นอีก 10% ซึ่งแรงกดดันส่วนหนึ่งในการต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ระบบการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า e-Mobility เร็วขึ้นนั้นเอง แต่ในเวลานี้ เทรนด์การลงทุนด้าน R&D ในธุรกิจ e-Mobility กลับมีแนวโน้มที่จะลดตัวลงอีกครั้ง จากข้อมูลของ ZEW แสดงให้เห็นว่า ผู้นำในการลงทุนด้าน R&D คือบริษัท Volkswagen บริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Wolfsburg เพิ่งลงทุนเกือบ 19 พันล้านยูโรในด้าน R&D โดยการเปลี่ยนแปลงตนเข้าสู่ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้านี้ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในด้าน R&D สูงถึง 8.1% หรือสูงสุดในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นั้นหมายความว่า ทุก ๆ ยอดจำหน่าย 100 ยูโรของบริษัทจะมีต้นทุนด้าน R&D สูงถึง 8.10 ยูโร โดยรวมแล้วจนถึงปี 2027 กลุ่มบริษัท Volkswagen จะลงทุนรวมกันมากถึง 1.8 แสนล้านยูโร โดย 2 ใน 3 จะเป็นการลงทุนด้านการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและการปรับตนเข้าสู่ระบบสู่ดิจิทัล ในเวลานี้ค่าใช้จ่ายที่ Volkswagen ต้องรับผิดชอบสูงเป็นพิเศษก็คือ การสร้างโรงงานแบตเตอรี่เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม Volkswagen ต้องการลดต้นทุนโดยรวมในอนาคตให้มีความชัดเจนกว่าในปัจจุบัน นาย Arno Antlitz ผู้บริหารด้านการเงินของ Volkswagen กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “ประสิทธิภาพการลงทุน (Investment Performance) ควรจะถึงจุดสูงสุดในปี 2025 และจะทยอยลดลงต่อไปหลังจากนั้น” ฝ่ายบริหารของ VW กำลังเจรจากับสหภาพแรงงานด้านโครงการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและการออมอยู่ สำหรับบริษัท Mercedes แล้วนาย Ola Källenius ผู้บริหารหลักของ Mercedes ต้องการที่จะขยายการลงทุนด้าน R&D ในธุรกิจ e-mobility เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 4 หมื่นล้านยูโร และเร่งใช้จ่ายล่วงหน้าในด้านที่จำเป็นเลย โดยเมื่อเทียบกับปี 2019 บริษัท Mercedes น่าจะลดรายจ่ายด้านการลงทุนในทรัพย์สินประเภททุน (Capital investments) และการลงทุนด้าน R&D ลง 1 ใน 5 ส่วนภายในกลางทศวรรษนี้ แม้แต่บริษัท Bosch ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกเองยังเพิ่มการลงทุนด้าน R&D โดยในปี 2022 อย่างมหาศาลจาก 1.1 พันล้านยูโรเป็น 7.2 พันล้านยูโร หรือขยายตัง 18% นาย Markus Forschner, CFO กล่าวว่า ในปี 2023 บริษัท Bosch มีความประสงค์ที่จะใช้จ่ายด้าน R&D “เท่าเดิมเป็นอย่างต่ำ” เป็นไปได้ที่บริษัทจะเพิ่มจำนวนนักพัฒนาพัฒนาซอฟต์แวร์จาก 40,000 คนเป็น 50,000 คนในอีก 2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามยอดขายรถ EV ที่กำลังซบเซาเป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรมรถยนต์ ต้นทุนด้าน R&D จะกลับมาเป็นกำไรได้ช้ากว่าที่คาดหมายไว้มาก โดยล่าสุดมีการประกาศว่า ภายในปี 2024 บริษัทBosch วางแผนที่จะลดจำนวนพนักงานในด้านการขับเคลื่อนลงถึง 1,500 คน ซึ่งรวมถึงพนักงานด้าน R&D ส่วนหนึ่งด้วย แต่ในปี 2022 ธุรกิจวิศวกรรมเครื่องกลและอุตสาหกรรมเคมีมีการลงทุนด้าน R&D ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ย โดยธุรกิจวิศวกรรมเครื่องกลเพิ่มค่าใช้จ่ายด้าน R&D ขึ้นเพียง 4.5% อุตสาหกรรมเคมีเพิ่มค่าใช้ใช้จ่ายด้านดังกล่าวขึ้นเพียง 2.5% เท่านั้น ในทางกลับกันอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ยาก็เหมือนกับผู้ผลิตรถยนต์ ที่เพิ่มการลงทุนด้าน R&D ขึ้นถึง 10% เลยทีเดียว
จาก Handelsblatt 5 มกราคม 2567