การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 รัฐ 22 รัฐ/38 เมืองในสหรัฐฯ ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ส่งผลให้ลูกจ้างประมาณ 9.9 ล้านคนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นรวม 6,955 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนี้ ทำให้ลูกจ้างมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำในเมืองหรือรัฐดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลส่วนกลางกำหนด ทั้งนี้ ทางรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นได้ผลักดันการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำผ่านกระบวนการทางกฎหมาย การลงประชามติ และการปรับตามอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากรัฐบาลส่วนกลางยังไม่มีนโยบายเพื่อปรับปรุงอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

มาตรการค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายที่สำคัญในการสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ จากการวิเคราะห์ของ Economic Policy Institute ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและวิเคราะห์นโยบายสาธารณะไม่แสวงหากำไรพบว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2567 การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

(1) ลูกจ้างเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 57.9 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดจะมีรายได้เพิ่มขึ้น (2) ลูกจ้างผิวสีคิดเป็นร้อยละ 9 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดและลูกจ้าง Hispanic คิดเป็นร้อยละ 38 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดจะมีรายได้เพิ่มขึ้น (3) การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยผู้ปกครองที่หาเลี้ยงครอบครัวจำนวน 2.5 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 25.8 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดจะมีรายได้เพิ่มขึ้น (4) ลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนคิดเป็นร้อยละ 19.7 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดและลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 เท่าของเส้นความยากจนคิดเป็นร้อยละ 47.7 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และ (5) ลูกจ้างที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำในรัฐที่มีค่าครองชีพสูง อาทิ รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐฮาวาย และรัฐนิวยอร์ก คิดเป็นร้อยละ 51 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

 

ตารางที่ 1 การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำในรัฐ 23 รัฐ

การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐอเมริกา

 

ตารางที่ 2 สัดส่วนของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ

การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐอเมริกา

 

จากตารางที่ 1 แต่ละรัฐได้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในอัตราที่แตกต่างกัน โดยรัฐฮาวายเป็นรัฐที่มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 ดอลลาร์สหรัฐ หรืออยู่ที่ 14 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้รายได้ต่อปีเฉลี่ยของลูกจ้างเต็มเวลาเพิ่มอีกเฉลี่ย 1,380 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ในขณะที่รัฐมิชิแกนมีการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.23 ดอลลาร์สหรัฐ หรืออยู่ที่ 10.33 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อปีของลูกจ้างเต็มเวลาเพิ่มขึ้น 216 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน

 

เดือนมกราคม 2567 นี้จะเป็นครั้งแรกที่รัฐแมริแลนด์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ และตอนเหนือของรัฐนิวยอร์กมีค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีรัฐอีก 7 รัฐที่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำผ่านการออกกฎหมายหรือการลงประชามติ ได้แก่ รัฐเดลาแวร์ รัฐฟลอริดา รัฐฮาวาย รัฐอิลลินอยส์ รัฐเนแบรสกา รัฐโรดไอแลนด์ และรัฐเวอร์จิเนีย ส่วนรัฐที่มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำโดยอึงจากการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อ คือ รัฐวอชิงตัน โดยมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 16.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงในปี 2567 จาก 15.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงในปี 2566

 

แม้ว่ารัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ จะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ยังคงมีลูกจ้าง 17.6 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ซึ่งพบว่าร้อยละ 47.8 ของจำนวนลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำกว่า 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงอาศัยอยู่ในรัฐ 20 รัฐที่ใช้ค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกลางกำหนด โดยค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกลางกำหนดอยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ซึ่งอยู่คงที่ตั้งแต่ปี 2552

 

ลูกจ้างบางกลุ่มอาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำเพียงเล็กน้อย เนื่องจากตลาดแรงงานหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 มีภาวะตึงตัวหรืออัตราการว่างงานต่ำ ทำให้นายจ้างต้องจ้างด้วยค่าจ้างที่สูงเพื่อดึงดูดและรักษาลูกจ้างให้ทำงานในองค์กร อย่างไรก็ดี การเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำนอกจากจะมีความสำคัญต่อลูกจ้างที่ได้ค่าแรงขึ้นต่ำแล้ว ยังครอบคลุมถึงลูกจ้างในกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากสถานะการเข้าเมือง ความทุพพลภาพ และความเป็นอยู่สถานประกอบการด้วย

 

แม้ว่าในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างมากแต่ราคาสินค้าได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ทำให้อำนาจการซื้อของลูกจ้างค่าแรงต่ำลดน้อยลง ประกอบกับรัฐ 21 รัฐไม่ได้มีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำด้วย สำนักงานสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Labor) ได้แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) พบว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐของปี 2566 สามารถซื้อสินค้าในปี 2552 ได้เพียงร้อยละ 70 ดังนั้น หลายรัฐจึงได้ออกนโยบายการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำเพื่อแก้ปัญหาอำนาจการซื้อที่ลดลงผ่านการจัดทำดัชนี เพื่อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า

 

ผู้ร่างกฎหมายในเรื่องของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำตระหนักว่า อัตราเงินเฟ้อได้ลดมูลค่าของค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ โดยฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐแมริแลนด์ได้เลื่อนให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงมีผลเร็วขึ้น 1 ปี จากเดือนมกราคม 2568 เป็นเดือนมกราคม 2567 ส่วนรัฐนิวยอร์กได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำในนครนิวยอร์ก ลองไอส์แลนด์ และเวสต์เชสเตอร์อยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง และส่วนพื้นที่อื่นๆ ในรัฐนิวยอร์กอยู่ที่ 16 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงภายในปี 2569

 

นอกจากนี้ รัฐชิคาโกได้ผ่านกฎหมายเพื่อยกเลิกค่าจ้างสำหรับลูกจ้างที่มีรายได้หลักจากทิป (Subminimum Wage) ภายในปี 2569 โดย Subminimum Wage นั้นเป็นรายได้ขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่จะได้รายได้ส่วนใหญ่จากทิป เช่น บริกรในร้านอาหาร เป็นต้น โดยอยู่ที่ 2.13 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างและมีมูลค่าต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกลางกำหนด

 

เขตโบลเดอร์ รัฐโคโลราโดได้ผ่านกฎหมายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงภายในปี 2573 นักนโยบายกำหนดค่าเป้าหมายของค่าแรงขั้นต่ำจากการศึกษามาตรฐานในการพึ่งพาตัวเอง (Self-sufficiency Standard) โดยได้ประมาณการรายได้ของครัวเรือนที่จำเป็นสำหรับความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น ในครัวเรือนที่มีผู้ใหญ่ 2 คนและเด็ก 2 คนในเขตโบลเดอร์จะต้องการเงิน 108,881 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งหมายความว่าหากผู้ใหญ่ 2 คนทำงานเต็มเวลาจะต้องมีรายได้ประมาณ 26 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเป็นการยากมากที่ลูกจ้างค่าแรงต่ำจะสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันน้อยกว่าประมาณการค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องการอย่างมาก ดังนั้น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำจึงมีความสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจให้มีการเติบโตอย่างเท่าเทียม

 

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการติดตามความเป็นอยู่ให้มีความเหมาะสมทั่วทั้งสหรัฐฯ ทางรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นจึงได้ดำเนินการเชิงรุกในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำตามอัตราเงินเฟ้อเพื่อรักษากำลังซื้อของลูกจ้างค่าแรงต่ำในช่วงภาวะเงินเฟ้อปี 2565 อย่างไรก็ดี วุฒิสภาพรรคแดโมแครตได้ยกร่างกฎหมาย Wage Act ในเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลกลางอยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2571

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

การเพิ่มขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำของรัฐ 22 รัฐผ่านกระบวนการทางกฎหมาย การลงประชามติ หรือการปรับตามอัตราเงินเฟ้อจะช่วยให้ลูกจ้างมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกับภาวะเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ซึ่งส่งผลให้ครัวเรือนมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและมีคุณภาพชีวิตในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น ดังนั้น ลูกจ้างค่าแรงต่ำจะมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งนโยบายนี้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างชาวอเมริกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลูกจ้างสัญชาติอื่นที่มีรายได้ในสหรัฐฯ อีกด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในสหรัฐฯ และผู้ส่งออกไทยในการขยายสินค้าและการบริการไปยังลูกค้ากลุ่มดังกล่าว เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากขึ้น

 

ข้อมูลอ้างอิง: Economic Policy Institute, NPR

thThai