สภาค่าจ้างแห่งชาติเวียดนามได้อนุมัติแผนการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำระดับภูมิภาคในปี 2567 และจะนำส่งให้รัฐบาลอนุมัติ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567

ในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 สภาค่าจ้างแห่งชาติเวียดนามได้ประชุมครั้งที่ 2 เพื่อหารือและอนุมัติแผนเสนอแนะรัฐบาลเกี่ยวกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในภูมิภาคที่มีผลตั้งแต่ปี 2567 ด้วยการเพิ่มขึ้นดังกล่าว ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยเฉพาะ ในภูมิภาคระดับที่หนึ่ง ได้แก่ พื้นที่เขตเมืองของกรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ จังหวัดบิ่นห์เยือง นครไฮฟอง นครด่งนาย จังหวัดบาเรีย – วุ๊งเต่า และจังหวัดกว๋างนินห์ กำหนดเพิ่มเป็นจาก 4.68 ล้านเวียดนามด่งต่อเดือน (ประมาณ 6,624 บาท) เป็น 4.96 ล้านเวียดนามด่งต่อเดือน (ประมาณ 7,021 บาท) เพิ่มขึ้น 280,000 เวียดนามด่ง (ประมาณ 397 บาท)   ขณะที่ในภูมิภาคระดับที่สอง ได้แก่ พื้นที่ชนบทของกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ และพื้นที่เขตเมืองสำคัญในเวียดนาม อาทิ นครเกิ่นเทอ นครดานัง กำหนดเพิ่มขึ้นจาก 4.16 ล้านเวียดนามด่งต่อเดือน (ประมาณ 5,888 บาท) เป็น 4.41 ล้านเวียดนามด่งต่อเดือน (ประมาณ 6,242 บาท) เพิ่มขึ้น 250,000 เวียดนามด่ง (ประมาณ 354 บาท)

ส่วนค่าแรงขั้นต่ำสำหรับกลุ่มแรงงานในภูมิภาคระดับที่สาม ได้แก่ เมืองและเขตต่างๆ ของจังหวัดบั๊กนินห์ บั๊กยาง และห๋ายเยืองทางตอนเหนือ กำหนดเพิ่มขึ้นจาก 3.64 ล้านเวียดนามด่งต่อเดือน (ประมาณ 5,152 บาท) เป็น 3.86 ล้านเวียดนามด่งต่อเดือน (ประมาณ 5,463บาท) เพิ่มขึ้น 220,000 เวียดนามด่ง (ประมาณ 311 บาท) และในภูมิภาคระดับที่สี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่เหลือของเวียดนาม กำหนดเพิ่มขึ้นจาก 3.25 ล้านเวียดนามด่งต่อเดือน (ประมาณ 4,600 บาท) เป็น 3.45 ล้านเวียดนามด่งต่อเดือน (ประมาณ 4,883 บาท) เพิ่มขึ้น 200,000 เวียดนามด่ง (ประมาณ 283 บาท)

ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำระดับภูมิภาครายชั่วโมง ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยเฉพาะ ในภูมิภาคระดับที่หนึ่ง เพิ่มขึ้นเป็น 23,800 เวียดนามด่งต่อชั่วโมง (ประมาณ 33.69 บาท) ในภูมิภาคระดับที่สอง เพิ่มขึ้นเป็น 21,200 เวียดนามด่งต่อชั่วโมง (ประมาณ 30.01 บาท) ในภูมิภาคระดับที่สาม เพิ่มขึ้น เป็น 18,600 เวียดนามด่งต่อชั่วโมง (ประมาณ 26.33 บาท) และภูมิภาคระดับที่สี่ เพิ่มขึ้นเป็น 16,600 เวียดนามด่งต่อชั่วโมง (ประมาณ 23.50 บาท)

นาย Le Van Thanh รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงแรงงาน ผู้ทุพพลภาพและกิจการสังคม และประธานสภาค่าจ้างแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่า สมาชิกสภาเห็นด้วยกับแผนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในภูมิภาค ในปี 2567 ที่ร้อยละ 6 และจะนำส่งให้รัฐบาลอนุมัติ แผนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้รับการประเมินตามปัญหาทางเศรษฐกิจ ความผันผวนของโลก อุปสรรคทางการค้าที่ซับซ้อน และสถานการณ์ชีวิตที่ยากลําบากของพนักงานในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากความผันผวนของราคา และธุรกิจขาดคําสั่งซื้อ

ครั้งสุดท้ายที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในภูมิภาคคือ 1 กรกฎาคม 2566 โดยมีการเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 6 ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำในภูมิภาคในปี 2567 เป็นการตัดสินใจที่ยาก เนื่องจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ยากลําบาก ธุรกิจขาดคําสั่งซื้อ สถานการณ์แรงงานว่างงานอาจยังคงเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันชีวิตของคนงานก็ไม่ง่าย เนื่องจากรายได้ลดลงจากการขาดงาน หากไม่มีการขึ้นค่าแรงจะเป็นการยากที่จะตอบสนองชีวิตในบริบทของอัตราเงินเฟ้อ และฐานเงินเดือนของภาครัฐและเงินบํานาญเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ในรายงานล่าสุด องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ประเมินว่าตั้งแต่ปี 2558 เวียดนามได้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 119 เหรียญสหรัฐต่อเดือน เป็น 168 เหรียญสหรัฐต่อเดือน  ในช่วงปี 2558-2565 ค่าแรงขั้นต่ำในเวียดนามเพิ่มขึ้นทั้งหมดร้อยละ 19.8

(แหล่งที่มา https://www.vietnamplus.vn/ ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม 2566)

วิเคราะห์ผลกระทบ

เวียดนามจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในภาคธุรกิจอีกร้อยละ 6 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ตามที่ตกลงกันระหว่างตัวแทนแรงงานและธุรกิจในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 หลังจากที่ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2566 ไม่มีข้อตกลง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 6 ที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากรัฐบาล โดยมีการประเมินแผนปรับเพิ่มค่าแรง ตามสภาพเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

ถึงแม้ว่า เวียดนามจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่พบว่า การจ้างงานในเมืองใหญ่ และแรงงานมีฝีมือ บริษัทจะต้องจ้างค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเพื่อจูงใจให้แรงงานอยู่กับบริษัท เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI  ที่เพิ่มสูงขึ้นในเวียดนามส่งผลให้มีความต้องการแรงงานในเวียดนามเพิ่มขึ้น แรงงานเวียดนามมีทางเลือกในการเปลี่ยนงานที่มีระดับค่าจ้างสูงขึ้น ดังนั้น การเข้ามาลงทุนในเวียดนาม นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยจะต้องพิจารณาต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสวัสดิการแรงงานตามกฎหมายเวียดนามด้วย

 

thThai