สมาคมธุรกิจบริการโลจิสติกส์เวียดนาม (Vietnam Logistics Service Business Association: VLA) กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital Transformation) เป็นการพัฒนาที่จะช่วยส่งเสริมกระบวนการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและความทันสมัยของเวียดนามรวมถึงภาคโลจิสติกส์ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสีเขียว (Green Transition) ภาคโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม จึงจำเป็นต้องแสวงหาสถาบัน กลไก และนโยบายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของภาคส่วนนี้ ปัจจุบัน ต้นทุนทางโลจิสติกส์โดยเฉลี่ยในเวียดนามอยู่ที่ ร้อยละ 16.8 – 17 ซึ่งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 10.6 ด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นขีดความสามารถด้าน โลจิสติกส์ที่จำกัด โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี และขาดการเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งรูปแบบต่างๆ
จากดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index: LPI) ของธนาคารโลก (World Bank: WB) เวียดนามลดลงจากเดิม 4 ลำดับ จากลำดับที่ 39 ในปี 2561 เป็นลำดับที่ 43 ปี 2566
รายงานของ World Bank ยังแสดงให้เห็นว่า นอกเหนือจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน พิธีการศุลกากร และปัจจัยการขนส่งระหว่างประเทศแล้ว อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของเวียดนามยังคงมีข้อจำกัดมากมายทั้งในแง่ของศักยาภาพ และความสามารถการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของธุรกิจโลจิสติกส์ส่วนใหญ่
นางสาว Phan Thi Thang รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade: MOIT) กล่าวว่า เวียดนามอยู่ใน 10 อันดับแรกของตลาดโลจิสติกส์ใหม่ในทั่วโลก โดยมีอัตราการเติบโตที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ในช่วงปี 2565-2570 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกของประเทศอยู่ที่ 558,330 ล้านเหรียญสหรัฐฯโดยเกินดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 24,590 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนั้นมีการเน้นยำถึงความจำเป็นในการขจัดอุปสรรค เพิ่มประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลให้กับอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเวียดนามเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพและมี อุปสงค์ด้านโลจิสติกส์สูงแต่ยังมีโครงสร้างพื้นฐานและขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ไม่มากนัก
นาย Le Quang Trung รองประธานสมาคมธุรกิจบริการโลจิสติกส์เวียดนามกล่าวว่า ข้อจำกัดสำคัญที่ยับยั้งการเติบโตของ เวียดนามคือต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของต้นทุนการผลิต ภูมิภาคนี้มีผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ 1,461 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.39 ของจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ให้บริการให้ภาคเกษตรกรรม โดยนาย Le Quang Trung เน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับคนในท้องถิ่นและภูมิภาคในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์รวมถึงคลังสินค้าระบบการขนส่งพัฒนาบริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและการขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีคลังสินค้าอัจฉริยะไปด้วย
(จาก https://en.vietnamplus.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมบริการที่สำคัญ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงและมีบทบาทสำคัญในการค้าของเวียดนามและ มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจของเวียดนาม ในช่วงที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนามอยู่ที่ประมาณร้อยละ 14 – 16 ขนาดของอุตสาหกรรมมีมูลค่าประมาณ 40,000 – 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ของเวียดนามมีประสบการณ์มากขึ้นหลังจากผ่านปีที่ยากที่สุดของการระบาดโควิด 19 ดังนั้นช่วงเวลาต่อไปจะเป็นช่วงเวลาที่ โลจิสติกส์จะพัฒนาขึ้นอย่างแข็งแกร่ง การพัฒนาที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเป็นแรงสนับสนุนและกิจกรรมอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ภาคการขนส่งและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของเวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต แม้จะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ดี แต่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เวียดนามยังมีข้อจำกัดมากมาย เช่น ต้นทุนบริการด้านโลจิสติกส์ในเวียดนามยังค่อนข้างสูง นอกจากนั้น บริษัทโลจิสติกส์ภายในประเทศ ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กด้วยคลังสินค้าแบบดั้งเดิมขาดโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และเงินทุน โดยรัฐบาลเวียดนามมองว่าการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital Transformation) และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศเป็นกลไกสำคัญในการเติบโตทางโลจิสติกส์ การที่เวียดนามขยายและส่งเสริมการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลจะส่งผลทางบวกในการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไทยมากขึ้น นอกจากนี้เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการลงทุนทางด้านดิจิทัลในภาคโลจิสติกส์ในตลาดเวียดนาม