ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ได้ออกคำสั่งบริหารขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีนำเข้าข้าว และสินค้าโภคภัณฑ์หลักอื่นๆ จนถึงสิ้นปี 2567 โดยอ้างถึงความจำเป็นในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบจากเอลนีโญ
ทำเนียบประธานาธิบดีเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ได้ลงนามคำสั่งผู้บริหาร ฉบับที่ 50 (Executive Order No.50) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ให้ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไป (MFN) สินค้าเนื้อสุกรไว้ที่ร้อยละ 15 สำหรับการนำเข้าในโควตาภายใต้ปริมาณนำเข้าขั้นต่ำ (MAV) และนอกโควตาในอัตราร้อยละ 25 สำหรับสินค้าข้าวอยู่ที่ร้อยละ 35 โดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มาหรือปริมาณ และสินค้าข้าวโพดอยู่ที่ร้อยละ 5 สำหรับการนำเข้าในโควตาภายใต้ MAV และร้อยละ 25 สำหรับการนำเข้านอกโควตา โดยคำสั่งดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 จากเดิมที่มีกำหนดครบอายุการบังคับใช้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และให้มีการทบทวนอัตราภาษีสำหรับเนื้อสุกร ข้าวโพด และข้าว ทุกๆ 6 เดือน ทั้งนี้ ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ ระบุว่าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีสินค้าข้าว ข้าวโพด และเนื้อสุกร (สด แช่เย็น หรือแช่แข็ง) อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาราคาที่เหมาะสม สร้างความมั่นคงทางอาหาร และจัดการกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อซึ่งการขยายเวลาจะช่วยกระจายแหล่งตลาดสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวและทำให้ราคาอาหารมีเสถียรภาพ ก่อนที่ภาวะภัยแล้งอาจเกิดขึ้นในปี 2567 และในขณะที่ตลาดสุกรยังคงฟื้นตัวจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS)
นาย เรนาโต ยู. โซลิดัม จูเนียร์ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2566 ถึงมกราคม 2567 และผลกระทบจะเกิดขึ้นจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดของปรากฏการณ์เอลนีโญในเดือนเมษายน 2567 โดยพื้นที่ประมาณ 63 จังหวัดจะได้รับผลกระทบในรูปแบบของภัยแล้ง (Droughts) หรือ ฝนทิ้งช่วง (Dry Spells) โดยหน่วยงานสภาพอากาศของรัฐบาล หรือที่รู้จักในชื่อ PAGASA (Philippine Atmospheric, Geophysical and Astronomical Services Administration) ให้คำจำกัดความแห้งแล้งว่าหมายถึงปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าปกติติดต่อกัน 3 เดือน หรือปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญเป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกัน และฤดูแล้งหมายถึงปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าปกติติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฯ ได้สั่งให้กระทรวงเกษตรศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อราคาสินค้าเกษตร เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถเตรียมมาตรการรับมือได้ โดยข้อมูลจะถูกใส่ไว้ในฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานทางออนไลน์เพื่อช่วยในความพยายามของรัฐบาลในการจัดการกับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังได้สั่งให้คณะทำงานเฉพาะกิจของประเทศในเรื่องปรากฏการณ์เอลนีโญจัดทำมาตรการเพื่อจัดการพลังงานและอาหารอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World
บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น
-ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่สุดในเอเชียเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารหลักพื้นฐานของประเทศ รวมถึงข้าวและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่มีความท้าทายในด้านอุปทาน ที่สามารถผลิตได้ไม่เพียงต่อการบริโภคในประเทศ เนื่องจากปัจจัยหลายประการทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุไต้ฝุ่น ที่ส่งผลต่อความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร การขยายตัวของจำนวนประชากรในอัตราสูงทุกปี โครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และเทคโนโลยีการเกษตรที่ยังล้าหลัง นอกจากนี้ ปัจจุบันฟิลิปปินส์ยังคงเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารที่อยู่ในระดับสูงและกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งหามาตรการต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีอุปทานและ สต็อกอาหารเพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว ทั้งนี้ การออกคำสั่งขยายการปรับลดอัตราภาษีนำเข้า MFN ชั่วคราวออกไปอีก 1 ปี สำหรับสินค้าเนื้อสุกร ข้าวโพด และข้าว ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานที่สำคัญของฟิลิปปินส์เป็นความพยายามของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่จะสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารและลดความเสี่ยงด้านอุปทาน เพื่อรับมือกับผลกระทบเชิงลบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ
-การขยายระยะเวลาปรับลดภาษีนำเข้า MFN สินค้าเนื้อสุกรคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากฟิลิปปินส์ไม่ใช่แหล่งส่งออกหลัก ขณะที่การขยายระยะเวลาการปรับลดภาษีนำเข้า MFN สินค้าข้าว และข้าวโพดเป็นการขยายแหล่งนำเข้าให้กว้างมากขึ้นซึ่งอาจทำให้สินค้าจากประเทศนอกอาเซียนเข้ามาแข่งขันในตลาดฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น และอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยโดยเฉพาะข้าว ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดสำคัญและมีศักยภาพ เนื่องจากเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2566 (เดือนมกราคม-กันยายน) ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าว (HS 1006) ปริมาณรวม 2.71 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 11.51จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนำเข้าจากเวียดนามมากเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 2.41 ล้านตัน (ร้อยละ 88.90) รองลงมาได้แก่ ไทย ปริมาณ 1.18 แสนตัน (ร้อยละ 4.37) และเมียนมา ปริมาณ 1.16 แสนตัน (ร้อยละ 4.28) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา การนำเข้าข้าวจากนอกอาเซียนไม่พบการเพิ่มขึ้นอย่าง มีนัยสำคัญ เนื่องจากปากีสถานและอินเดียซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกต่างเผชิญกับความท้าทายของผลผลิตข้าวภายในประเทศลดลง ทำให้ส่งออกลดลง โดยเฉพาะอินเดียได้ออกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 แต่คาดการณ์ว่าจากความต้องการนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มีความพยายามนำเข้าข้าวจากแหล่งนำเข้าต่างๆ ทั้งในและนอกอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับอินเดียได้ผ่อนปรนให้โควตาส่งออกข้าวแก่ฟิลิปปินส์ปริมาณ 295,000 ตัน เพื่อหลักมนุษยธรรมซึ่งฟิลิปปินส์สามารถนำเข้าข้าวดังกล่าวโดยใช้ประโยชน์จากการขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีนำเข้า MFN ได้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณดังกล่าวยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการทั้งหมด ดังนั้น ข้าวไทยจึงยังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นหากราคาข้าวไทยอยู่ในระดับแข่งขันได้และมีพันธุ์ข้าวที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
——————————————————
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
มกราคม 2567