เป็นเรื่องที่น่าตกใจ…หากอุตสาหกรรมเคมีจะหายไปจากเยอรมนี

เศรษฐกิจของเยอรมนีที่ซบเซาและปัญหาราคาพลังงานที่ยังคงสูงอยู่ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเคมีของเยอรมันอย่างหนัก ภายใน 2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเยอรมนีได้เสียกำลังการผลิตไปแล้วกว่า  23% (โดยประมาณ) และจากการประเมินของ Handelsblatt คาดการณ์ว่า ในปี 2024 อุตสาหกรรมเคมีมีแนวโน้มจะทรงตัวดีอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลค่อนข้างมากในกลุ่มผู้บริหารชั้นนำของอุตสาหกรรมเคมีว่า จะสามารถกลับมาใช้กำลังการผลิตได้เท่ากับปี 2021 ได้หรือไม่ ด้านนาย Markus Steilemann ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเคมี (VCI – Verband der chemischen Industrie) และผู้บริหารบริษัท Covestro กล่าวว่า “เรายืนอยู่ในจุดที่เรียกว่า กลางหุบเขาที่ทั้งลึกและยาว ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า เมื่อไหร่อุตสาหกรรมเคมีของเยอรมนีจะกลับดีขึ้นอย่างชัดเจนอีกครั้งหรือไม่ แม้ว่าจะมีแสงแห่งความหวังเล็ก ๆ น้อยๆ อยู่บ้างก็ตาม”

 

ตามรายงานของ BASF ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำของโลกและ Brenntag ผู้ค้าปลีกเคมีภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของโลก เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2023 เป็นต้นมา ตัวเลขการสต๊อกเก็บสินค้าในคลังสินค้าดูเหมือนจะหยุดลดลงแล้ว และก็ไม่มีผู้ผลิตเคมีรายใดออกมากล่าวถึงเรื่องผลที่ลดลง ตามที่ตลาดหุ้นได้เคยมีความกังวล แต่นั่นไม่เพียงพอที่จะทำให้ทั้งภาคอุตสาหกรรมกลับมามองการสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจในทิศทางบวกได้ 100% เนื่องจากยังขาดการเติบโตที่แท้จริง โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 บริษัทต่าง ๆ ได้ตั้งความหวังว่าธุรกิจจะกลับมาขยายตัวขึ้นช้า ๆ ด้านผู้เชี่ยวชาญ อย่างนาย Baader Bank นักวิเคราะห์ธุรกิจเคมีคาดว่า ธุรกิจเคมีไม่น่าจะฟื้นตัวรวดเร็ว โดยอย่างเร็วที่สุดก็คงหลังช่วงสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ อย่างน้อย 1 ใน 3 ภูมิภาคเศรษฐกิจหลักของโลกจะต้องกลับมาขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งยุโรปก็ไม่มีแนวโน้มจะกลับมาเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจหลักของโลกในเวลานี้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ส่งสัญญาณที่ไม่ชัดเจนมากนัก ดังนั้น ความหวังที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเคมีในขณะนี้ ก็คือ จีนเท่านั้น เพราะยังคงเป็นประเทศที่มีความต้องการสารเคมีทั่วโลกเกือบครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว แต่เศรษฐกิจของจีนยังไม่ได้สวยหรูแต่อย่างไร

 

บริษัทเคมีภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาและเอเชียได้เปรียบอุตสาหกรรมเคมีของเยอรมนีเพราะราคาพลังงานถูกกว่า จึงอาจกระทบต่อการศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมธุรกิจเคมีของเยอรมนีอย่างแน่นอน ดังนั้น บริษัทเคมีภัณฑ์ของเยอรมนีต่างก็ระมัดระวังการลงทุนใหม่ ๆ เป็นอย่างมากและจากการสำรวจของบริษัทสมาชิกของ VCI ทราบว่า ปัจจุบันกว่า 40% ของบริษัทเคมีฯ ต้องการที่จะลดการลงทุนในเยอรมนีในช่วงปี 2023 – 2024 แต่หันไปเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศแทน จากการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า โรงงานอื่น ๆ ในเยอรมนีอาจถูกปิดตัวลงหรืออาจจะลดจำนวนพนักงานลง โดยนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในด้านการลงทุนแล้ว ยังมีสัญญาณของการลดลง (Deindustrialization) ของภาคอุตสาหกรรมเคมีอีกด้วย นาย Matthias Zachert ผู้บริหารของ Lanxess ในเมืองโคโลญจน์ เริ่มเห็นสัญญาณแนวโน้มการหดตัวมาสักระยะแล้ว จึงเริ่มจะขยายการลงทุนในสหรัฐอเมริกา ดังนั้น อุตสาหกรรมเคมีของเยอรมันและยุโรปในปัจจุบันมีสถานการณ์อยู่บนปากเหว นับตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้น

 

ด้านนาย Anthony Schiavo ผู้อำนวยการอาวุโสของบริษัทที่ปรึกษา Lux Research กล่าวว่า “ศูนย์กลางด้านเคมีภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากที่สุดในโลกเมื่อสองทศวรรษที่แล้วอย่างเยอรมนี ได้เสียความสามารถในการแข่งขัน (ด้านกำลังการผลิต) ให้กับสหรัฐอเมริกาและยังเสียความเป็นผู้นำด้านความต้องการสินค้าจากจีนด้วย” โดยนาย Schiavo ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีมองว่า วิกฤตพลังงานในปี 2022/23 เป็นจุดสูงสุดแห่งการเสียเปรียบแบบระยะยาวของเยอรมนี ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลางมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน เพราะสหรัฐอเมริกามีทรัพยากรน้ำมันเป็นของตัวเอง ซึ่งนาย Schiavo กล่าวว่า “ภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมเคมีจะเปลี่ยนไปสู่การผลิตสินค้าที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น (สารเคมีชนิดพิเศษ) เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้สอดคล้องกับจุดแข็งที่มีอยู่ของบริษัทเคมีภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในสหภาพยุโรปและสอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของพวกเขา” ภาคเอกชนจำเป็นจะต้องแสดงทักษะในกระบวนการเคมีใหม่ให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เช่น การหมัก เครื่องจักรกล และ การรีไซเคิลทางเคมี เป็นต้น ซึ่งภาคเอกชนจะต้องปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการเทคโอเวอร์และการควบรวมกิจการในปี 2024/25 มากขึ้น นาย Bernd Schneider หัวหน้าร่วมฝ่ายเคมีภัณฑ์ระดับโลกของธนาคารเพื่อการลงทุน Stifel จากสหรัฐอเมริกา เห็นว่า แนวโน้มที่ภาคเอกชนจะทำธุรกรรมโดยเฉพาะการแยกสินทรัพย์ออกมายังบริษัทใหม่ที่เรียกว่า Carve-outs มากขึ้นเช่นกัน

 

สำหรับ 4 บริษัทเคมีภัณฑ์ ที่น่าจับตาในปี 2024 ได้แก่

 

  1. บริษัท Covestro : อาจตัดสินใจในฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ว่า ผู้ผลิตพลาสติกชั้นนำจาก Leverkusen จะถูกเปลี่ยนเจ้าของจากเยอรมันไปเป็นชาวอาหรับหรือไม่ และในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าจะมีการเริ่มต้นการเจรจาที่สำคัญกับบริษัทน้ำมัน Adnoc ของเอมิเรตส์ ซึ่งตามข้อมูลล่าสุดปรากฏว่า Adnoc มีความพร้อมที่จะเข้าบริษัท Covestro ในมูลค่า 11 พันล้านยูโร (โดยประมาณ) โดยฝ่ายบริหารของบริษัท Covestro เน้นย้ำว่า การหารือกับ Adnoc ยังไม่ได้สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ข่าวจากวงในคาดการณ์ว่า Covestro น่าจะถูกขายออกไปแน่นอน บริษัท Adnoc ไม่เพียงมีข้อเสนอให้ Covestro สามารถเข้าถึงวัตถุดิบและพลังงานสีเขียวในอนาคตเท่านั้น แต่ยังรับประกันการจ้างงานและข้อผูกพันในการลงทุนที่สูงอีกด้วย นอกจากนี้ Adnoc เน้นย้ำให้บริษัท Covestro ยังคงรักษาความเป็นอิสระไว้อีกด้วย
  2. Bayer : เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2567 นาย Bill Anderson ซีอีโอคนใหม่ของ Bayer ได้นำเสนอแผนอนาคตของบริษัทฯ ให้นักลงทุนจำนวนมาก ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่า เขาจะแยกกลุ่มธุรกิจเคมีการเกษตรและเภสัชกรรมที่มีฐานการผลิตอยู่ใน Leverkusen ออกจากกัน ซึ่งอาจขยายธุรกิจด้านเวชภัณฑ์ยาที่สามารถจำหน่ายโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ เช่น ยาแอสไพริน ออกไปก็ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเป็นไปได้ที่ขั้นตอนดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในระยะสั้น โดยชั้นแรกนี้นาย Anderson ต้องการปรับโครงสร้าง ทั้ง3 แผนกก่อน และทำให้แผนกเหล่านี้ประสบความสำเร็จมากขึ้นก่อน อย่างไรก็ตาม ซีอีโอก็ยังคงมีตัวเลือกในการแยกแต่ละแผนกและธุรกิจออกจากกันอยู่ ดังนั้นจึงอาจเกิดเรื่องประหลาดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
  3. Syensqo : Solvay บริษัทเคมีภัณฑ์สัญชาติเบลเยียมได้ผ่านการแยกบริษัทมาเรียบร้อยแล้ว โดยธุรกิจสารเคมีขั้นพื้นฐานและเคมีภัณฑ์แบบ Mass ยังคงใช้ชื่อบริษัทเดิม แต่สำหรับธุรกิจเคมีที่เน้นนวัตกรรม และมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีทั้งหมดได้ถูกถ่ายโอนไปยังกลุ่ม Syensqo ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่แทน นาย Ilham Kadri ผู้บริหารของ Solvay ได้เข้ารับดำรงตำแหน่งผู้บริหารของ Syensqo ซึ่งบริษัทนี้ จะมีบทบาทสำคัญในแบตเตอรี่สำหรับรถ EV พลาสติกน้ำหนักเบา และไฮโดรเจนสีเขียว นอกจากนี้ Syensqo ยังต้องการมุ่งเน้นพัฒนาส่วนผสมเชิงชีวภาพและวิธีแก้ปัญหาผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน บริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นเมื่อปลายปี 2023 และในปี 2024 นาย Kadri จะต้องพิสูจน์ตัวเองว่า การแบ่งแยกกลุ่มธุรกิจนี้จะนำความสำเร็จทางธุรกิจที่คาดหวัง และการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้หรือไม่
  4. BASF : เมื่อไม่นานมานี้ (ก่อนวันคริสต์มาส 2023) บุคลากรระดับแนวหน้าในสาขาเคมีของเยอรมันเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารบริษัท และปลายเดือนเมษายน 2024 นาย Markus Kamieth สมาชิกคณะกรรมการของ BASF จะเข้ามารับตำแหน่งประธานบริษัท BASF ที่มีศูนย์กลางตั้งอยู่ที่เมือง Ludwigshafen ในเวลานี้บริษัท BASF กำลังตกอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญของประวัติศาสตร์ของบริษัท โดยในอนาคตบริษัทจะต้องพิสูจน์ศักยภาพการผลิตสารเคมีแบบครบวงจร (Integrated Chemical Production) และเปลี่ยนโรงงานงานขนาดใหญ่โดยใช้แหล่งพลังงานสีเขียวเป็นหลัก

 

จาก Handelsblatt 22 มกราคม 2567

thThai