จับตาวิกฤตทะเลแดงและผลกระทบต่อการค้าไทย-อิตาลี

จากสถานการณ์การโจมตีของฮูตีในทะเลแดงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีเรือขนส่งสินค้าจำนวนมากต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรืออ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเดินเรือเพิ่มมากขึ้นกว่า 10 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปยังพื้นที่ขัดแย้งในทะเลแดง โดยสถานการณ์ดังกล่าวยังคงมีท่าทีที่รุนแรงจนส่งผลให้ปัจจุบันเรือที่บรรทุกเชื้อเพลิงก็ได้เคลื่อนตัวออกจากพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวเช่นกัน นอกเหนือจาก เรือที่บรรทุก ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) น้ำมัน และเชื้อเพลิง แต่อย่างไรนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวยังไม่กระทบต่อราคาน้ำมัน และเชื้อเพลิงมากนัก ทั้งนี้ วิกฤตการณ์ในทะเลแดงได้เริ่มส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดหาพลังงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือขนส่งก๊าซเหลวจากกาตาร์อย่างน้อย 5 ลำ ซึ่งในจำนวนดังกล่าว เป็นเรือบรรทุก LNG 3 ลำที่มุ่งหน้าสู่ยุโรป ได้ถูกขัดขวางการเดินทาง และเรือบรรทุกน้ำมันหลายสิบลำที่บรรทุกน้ำมันและเชื้อเพลิง ก็ได้หยุดการเดินเรืออยู่กลางทะเลหรือกำลังพิจารณาเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ โดยในวันที่ 12 มกราคม 2567 พบว่ามีเรือขนส่งน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงประมาณ 20 ลำ ได้เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือหรือหยุดใกล้ทะเลแดง รวมถึงมีบริษัทเรือขนส่งของเหลวอย่างน้อย 3 บริษัท ได้แก่ Torm, Hafnia และ Stena Bulk ได้ประกาศระงับการขนส่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงดังกล่าวอย่างชัดเจน
ในส่วนของ QatarEnergy (บริษัทน้ำมันรัฐของกาตาร์) ยังไม่ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับการระงับการขนส่ง LNG แต่จากระบบติดตามการจราจรทางเรือดูเหมือนว่าสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง หากเส้นทางการเดินเรือที่สั้นที่สุดระหว่างเอเชียและยุโรปถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน พื้นที่เมดิเตอร์เรเนียนอาจจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากเรือบรรทุกก๊าซของโดฮาและ ซัพพลายเออร์รายอื่น ๆ ต้องผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซของอียิปต์ โดยกาตาร์ถือเป็นผู้ส่งออก LNG รายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยปี 2566 ส่งออกเชื้อเพลิงมากกว่า 75 ล้านตัน แม้ว่าส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังเอเชียก็ตาม
จากการเพิ่มระดับปฏิบัติการทางทหารในทะเลแดง ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในยุโรป โดย บริษัท Tesla จำกัด ได้ประกาศระงับการผลิตในโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งเดียวในยุโรปที่ Gigafactory ในกรุงเบอร์ลิน เป็นเวลาสองสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์ 2567 โดยการประกาศหยุดดังกล่าว มีเหตุผลสืบเนื่องจากระยะเวลาในการขนส่งส่วนประกอบจากเอเชียใช้ระยะเวลานานขึ้น โดย บริษัท Tesla วางแผนที่จะเปิดโรงงานอีกครั้งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 นอกจากนี้ โรงงานผลิตรถยนต์ Volvo Cars Ghent ในประเทศเบลเยียม จะประกาศหยุดการผลิตเป็นระยะเวลา 3 วัน สำหรับกลุ่มบริษัทสวีเดน (ควบคุมโดย Geely จีน) ประสบกับความล่าช้าในการส่งมอบกระปุกเกียร์จากจีน ในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ โดยเฉพาะโรงงานผลิตรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูและโฟล์คสวาเกน ของเยอรมนี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาด้านอุปทานที่อาจส่งผลต่อการผลิตในระยะสั้น และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลแดงมีแนวโน้มที่ค่อนข้างรุนแรง อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่ตั้งอยู่ในยุโรป ทั้งนี้ หากสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ อาจจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้น และอาจจะกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงมากที่สุด แม้ว่าบริษัทในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึง Ikea คาดว่าจะเกิดความล่าช้าในการส่งมอบและการขาดแคลนสินค้า/ผลิตภัณฑ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดโดย S&P Global Market Intelligence (หน่วยงานวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินและตลาด) เปิดเผยว่า รถยนต์ที่ซื้อขายในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ จะผ่านเส้นทางคลองสุเอซ มีปริมาณถึง 41.3% และชิ้นส่วนของยานพาหนะมีปริมาณถึง 20.8% นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงจากวิกฤตดังกล่าว ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน สารเคมี เหล็ก ของเล่น และสินค้าเกษตร เช่น น้ำมันปาล์ม ข้าว ชา เป็นต้น
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในทะเลแดงที่ยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยกลุ่มฮูตีต่อเรือที่แล่นผ่านเส้นทางดังกล่าว ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจราจรของเรือบรรทุกสินค้า รวมถึงปฏิกิริยาทางทหารที่รุนแรงของสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร จึงอาจส่งผลให้ราคาวัตถุดิบต่าง ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
1. ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ความขัดแย้งในทะเลแดงยังคงดำเนินอยู่ เริ่มส่งผลกระทบต่ออิตาลีในด้านการค้า อิตาลีถือเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากแหล่งภายนอก โดยสินค้าพลังงานถือเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของสินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกทั้งหมด โดยปี 2566 (มกราคม – พฤศจิกายน) อิตาลีนำเข้าพลังงาน (HS code 27) มีมูลค่า 85,987 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 15.34% ของสินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกทั้งหมด ซึ่งอิตาลีนำเข้าพลังงานจากประเทศกาตาร์ (อันดับ 10) มีมูลค่า 2,682 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-48.12%) หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.12% ของการนำเข้าพลังงานของอิตาลีจากทั่วโลก หากสถานการณ์ของการชะลอการส่งออกพลังงานของกาตาร์ อาจทำให้อิตาลีจะต้องเตรียมแผนรองรับ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการปรับขึ้นของราคาพลังงานและบรรเทาภาระที่จะเกิดแก่ประชาชนในประเทศ
2. ปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) อิตาลีนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-7.07%) โดยการนำเข้าสินค้าไทยส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางเรือผ่านเส้นทางทะเลแดงและคลองสุเอซ การที่เรือบรรทุกสินค้าได้มีการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือตั้งแต่เกิดเห็นการโจมตีดังกล่าวขึ้น ได้ส่งผลให้บริษัทให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือปรับเพิ่มขึ้นค่าระวางตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จากราคาเดิมกว่า 200-300% และระยะเวลาการส่งมอบสินค้าที่เกิดความล่าช้ากว่า 1 เดือน ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าไทยขาดตลาดสำหรับใช้ในด้านการผลิต และวางจำหน่ายในท้องตลาด มากไปกว่านั้น ผู้นำเข้าอิตาลีที่นำเข้าสินค้าจากไทย อาจพิจารณาปรับลดการนำเข้า หรือชะลอการนำเข้าสินค้าไทยในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 หรือจนกว่าสถานการณ์การโจมตีดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลาย โดยผู้นำเข้าอิตาลีอาจหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ต้องใช้เส้นทางเดินเรือข้ามคลองสุเอซ ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยมายังอิตาลีในช่วงไตรมาสแรก ของปี 2567 ปรับตัวลดลง
——————————————————————-
ที่มา: Fuga dal Mar Rosso: il Qatar ferma i trasporti di gas liquefatto per gli attacchi Houthi – Il Sole 24 ORE, La crisi nel Mar Rosso ferma fabbriche Tesla e Volvo, le petroliere fanno dietrofront – Il Sole 24 ORE, Global Trade Altas

thThai