แคนาดาสั่งปรับลดจำนวนรับนักเรียนต่างชาติเข้าประเทศ มีผลทันที

รัฐบาลแคนาดาประกาศลดจำนวนการรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อในแคนาดาเป็นการชั่วคราว กำหนดระยะเวลา 2 ปี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อต้องการควบคุมสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐาน รวมไปถึงเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนที่พักอาศัยในประเทศ หลังจากที่เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ค่าเช่าที่พักทั่วประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 จากปีก่อนหน้า

แคนาดาสั่งปรับลดจำนวนรับนักเรียนต่างชาติเข้าประเทศ มีผลทันที
ตาราง แสดงจำนวนนักศึกษาต่างชาติเข้าแคนาดาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

วันที่ 22 มกราคม 2567 ได้มีรายงานจากนายมาร์ก มิลเลอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง แคนาดาว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายสั่งการคณะทำงานดำเนินการบรรเทาปัญหาราคาที่พักอาศัยในประเทศสูงเกินไป จนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ เนื่องจากมีจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวแคนาดา โดยมีการอ้างถึงสาเหตุหลักมาจากจำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานและนักศึกษาต่างชาติเข้ามาในประเทศมากเกินไป นั้น

 

ล่าสุด กระทรวงตรวจคนเข้าเมือง แคนาดาได้ออกประกาศนโยบายการรับนักศึกษาต่างชาติใหม่ที่เข้มงวดขึ้น โดยมีการปรับเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องใน 2 ประเด็นหลักๆ คือ ลดจำนวนการออกวีซ่านักเรียนต่างชาติ (student permit) และเพิ่มความเข้มงวดการออกวีซ่าทำงาน (work permit) ให้นักศึกษาต่างชาติและคู่สมรส โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้จำนวนผู้อพยพกลับเข้าสู่ภาวะปกติแบบยั่งยืน เนื่องจากระบบขณะนี้ค่อนข้างเสียหาย ขณะเดียวกัน ทางการยังต้องการเข้าปราบปรามสถาบันการศึกษาในประเทศที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่มีการเรียกเก็บค่าเล่าเรียนจากนักเรียนต่างชาติที่สูงมาก

 

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ กระทรวงตรวจคนเข้าเมืองได้สั่งปรับลดจำนวนการออกวีซ่านักเรียนต่างชาติทั่วประเทศ (student permit) เป็นการชั่วคราว 2 ปีข้างหน้า โดยปี 2567 กำหนดจำนวนไว้ที่ 364,000 ราย ลดลงร้อยละ 35 จากปีก่อนหน้า และสำหรับปี 2568 จะมีการประเมินตัวเลขในปลายปีนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการออกวีซ่าให้กับนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก รวมไปถึงนักเรียนระดับขั้นประถมและมัธยมศึกษา

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั่วประเทศ รัฐบาลกลางจะทำการประเมินสัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่แต่ละรัฐ (province) สามารถรับได้ ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของแต่ละรัฐ จากนั้นถือเป็นหน้าที่แต่ละรัฐที่จะจัดสรรจำนวนนักศึกษาต่างชาติให้กับแต่ละสถาบันภายในรัฐ ซึ่งวิธีดังกล่าว จะส่งผลให้รัฐออนทาริโอซึ่งปัจุบันมีจำนวนนักศึกษาต่างชาติอาศัยอยู่มากสุดถึงร้อยละ 51 และรัฐบริติชโคลัมเบีย มีจำนวนร้อยละ 20 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติลดลงมากที่สุด อาจถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

นอกจากนั้น นโยบายดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงการจำกัดการได้ใบอนุญาตทำงาน (work permit) สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากผู้ให้บริการด้านการศึกษาบางแห่ง โดยเฉพาะผู้ที่ลงศึกษาในโปรแกรมประเภท public-private กล่าวคือ โปรแกรมที่ทางสถาบันการศึกษาเอกชนร่วมกับสถาบันรัฐในการจัดการสอนผ่านระบบดาวเทียม หรือมีการซื้อหลักสูตรจากสถาบันภาครัฐมาดำเนินการสอนเองภายในอาคารชุดย่านการค้าต่างๆ ซึ่งได้กลายเป็นธุรกิจที่ดึงดูดนักศึกษาต่างชาติเข้ามาในแคนาดามาก เนื่องจากผู้ที่สำเร็จการศึกษาโปรแกรมดังกล่าวสามารถที่จะขอใบอนุญาตทำงานได้นานถึง 3 ปี และสมัครเป็นผู้พำนักถิ่นถาวรในแคนาดาต่อไปได้

 

โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 ผู้ที่จบการศึกษาโปรแกรมประเภท public-private จะไม่สามารถสมัครใบอนุญาตทำงานในแคนาดาได้อีกต่อไป นอกจากนั้น ทางการจะอนุญาตให้คู่สมรสนักศึกษาต่างชาติบางสาขาสามารถขอใบอนุญาตทำงานประเภท open work permit ได้ ประกอบด้วย หลักสูตรปริญญาโทและเอก และหลักสูตรแพทย์ศาสตร์และนิติศาสตร์ สำหรับคู่สมรสของนักศึกษาโปรแกรมอื่นๆ จะไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานอีกต่อไป

 

ถึงอย่างนั้นก็ตาม รัฐบาลแคนาดากล่าวว่าการใช้มาตรการใหม่นี้ เพื่อเป็นการจัดระบบการศึกษาแคนาดาให้เข้ารูปเข้ารอย และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น โดยทางการยังคงให้ความสำคัญกับภาคการศึกษาในการสร้างมาตรฐานการศึกษาให้มีคุณภาพ พร้อมกับอำนวยความพร้อม อาทิ ที่พักอาศัย สวัสดิการให้เพียงพอต่อนักศึกษาต่างชาติ เพื่อได้รับประสบการณ์การศึกษาในแคนาดาที่ดี ซึ่งไม่นานมานี้ ทางรัฐบาลได้มีการกำหนดให้ผู้ยื่นขอวีซ่านักเรียนมาแคนาดาต้องมีเงินในบัญชีเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวจากเดิม 10,000 ดอลลาร์แคนาดาหรือราว 270,000 บาท เป็น 20,635 ดอลลาร์แคนาดาหรือราว 557,145 บาท เพื่อให้นักศึกษาตระหนักก่อนการเดินทางและมีเพียงพอสำหรับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นสูงมากทุกวันนี้

 

 

แคนาดาสั่งปรับลดจำนวนรับนักเรียนต่างชาติเข้าประเทศ มีผลทันที

ปัจจุบันนักศึกษาต่างชาตินำเงินเข้าประเทศสร้างเม็ดเงินปีละราว 22,000 ล้านดอล์ลาร์แคนาดา (5.94 แสนล้านบาท) และมาเป็นกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมบริการ อาทิ ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกทั่วประเทศมากกว่า 200,00 ตำแหน่ง ซึ่งได้มีกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ร้านอาหารเผยกับสำนักข่าวในประเทศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ร้านอาหารทั่วแคนาดากำลังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน โดยมีตำแหน่งว่างเกือบ 100,000 ตำแหน่ง และนักเรียนต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนแรงงานในอุตสาหกรรมบริการอาหารในปี 2566 ราวร้อยละ 4.6 ซึ่งธุรกิจบางแห่งได้ออกมาเตือนการจำกัดจำนวนนักเรียนต่างชาติว่า อาจทำให้เกิดความขาดแคลนแรงงานชั่วคราวได้

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลตรวจคนเข้าเมืองในปี 2565 ระบุสัดส่วนนักศึกษาต่างชาติประมาณร้อยละ 40 มาจากอินเดีย รองลงมาเป็นจีน มีสัดส่วนร้อยละ 12 ตามลำดับ

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ  แคนาดาถือว่าเป็นจุดหมายน่าดึงดูดใจสำหรับนักเรียนและนักศึกษาต่างชาติมากแห่งหนึ่งของโลก ด้วยเหตุผลที่ง่ายต่อการได้รับใบอนุญาตทำงานหลังจากจบการศึกษา และยังมีโอกาสในการสมัครเป็นผู้พำนักอาศัยถาวร (permanent resident) ได้อีก แต่การเข้ามาเป็นจำนวนมากของชาวต่างถิ่น กลับยิ่งสร้างปัญหาให้เกิดภาวะราคาที่พักอาศัยแพงขึ้น ซึ่งการออกมาตรการจำกัดการเข้าเมืองสำหรับนักศึกษาต่างชาติของรัฐบาลครั้งนี้ สามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมได้เร็วและชัดเจน สำหรับผลกระทบต่อภาคการค้าไทยและแคนาดานั้น สคต.เห็นว่า ไม่น่าจะมีนัยสำคัญ เนื่องจากแคนาดายังเปิดรับผู้อยพพย้ายถิ่นเข้ามา แต่เงื่อนไขของประเภทวีซ่าอาจเปลี่ยนไป เพื่อให้ผู้สมัครที่ได้รับการอนุมัติมีคุณสมบัติตรงตามทักษะที่จำเป็นอย่างแท้จริง ซึ่งธุรกิจต้องติดตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวการค้าตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับตัวให้ทันสถานการณ์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ที่มาของบทความ https://www.thestar.com/news/canada/an-indictment-of-what-the-program-became-canada-sets-new-limits-on-work-permits-for/article_0206b92a-b929-11ee-a3d7-c33ab63f9e70.html

 

โดย…สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา

thThai