จีนถือว่าเป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้ส่งออกยางล้อรายใหญ่ที่สุดของโลก และปัจจุบันอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของจีนมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง มีขณะที่อุปสงค์ตลาดในประเทศและต่างประเทศกำลังร้อนแรง จนถึงขั้นสินค้าขาดตลาด ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยางรถยนต์จีนในอนาคตระยะยาวมีแนวโน้มการพัฒนาคุณภาพและเทคโนโลยีที่มากขึ้น โดยบริษัทยางรถยนต์ของจีนจำนวนมากเลือกที่จะ “ไปต่างประเทศ” สู่อาเซียนในปีนี้

 

ในปี 2566 พบว่า จีนมีปริมาณการผลิตยางรถยนต์ประเภท ยางล้อเหล็ก (All steel tires – ใช้สำหรับรถเครื่องจักรก่อสร้าง) จำนวน 139 ล้านเส้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 และมีปริมาณการผลิตยางรถยนต์ประเภท ยางล้อกึ่งเหล็ก (Semi steel tires – ใช้ในรถนั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุก) จำนวน 591 ล้านเส้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 สอดคล้องกับการให้ข้อมูลของบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์สองแห่งในมณฑลซานตง ว่าการผลิตของยางรถยนต์ทั้งแบบยางล้อเหล็ก และยางล้อกึ่งเหล็ก ของบริษัทมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันแม้เร่งกำลังการผลิตแล้วยังใช้เวลาถึง 2 เดือน

 

อุปสงค์ของยางรถยนต์ในจีนเป็นที่นิยมทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะยางรถยนต์ประเภท ยางล้อกึ่งเหล็ก ที่มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ในส่วนความต้องการตลาดในประเทศจีน ในปี 2566 จีนมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์กว่า 30 ล้านคันซึ่งทำสถิติใหม่ จากราคารถยนต์ที่ลดลงและการเติบโตความต้องการใช้รถยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนอุปสงค์ยางรถยนต์ในประเทศ

 

สถิติการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ของจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (ข้อมูลล่าสุด)

การผลิตรถยนต์ 18.225 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 7.4%
การขายรถยนต์ 18.210 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 8.0%
การส่งออกรถยนต์ 2.941 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 61.9%
การผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ 5.434 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 36.9%
การขายรถยนต์พลังงานใหม่ 5.374 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 39.2%

หมายเหตุ: ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีน (China Association of Automobile Manufacturers : CAAM) / อัตราเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ส่วนตลาดต่างประเทศ สถิติที่มีการเปิดเผยของสำนักงานศุลกากรพบว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2566 จีนส่งออกยางรถยนต์ถึง 760,000 ตัน ขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 ขยายตัวสูงสุดในรอบปี โดยมีมูลค่าการส่งออกถึง 13,416 ล้านหยวน (67,080 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 และปริมาณการผลิตเพื่อการส่งออกยางรถยนต์ของจีนเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2566 ที่มีปริมาณการส่งออกยางล้อกึ่งเหล็ก จำนวน 287 ล้านเส้น ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีก่อน ทั้งนี้ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นตลาดสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทยางรถยนต์ของจีน ในปี 2565 ปริมาณการจำหน่ายยางรถยนต์ทั่วโลกมีจำนวน 1,750 ล้านเส้น โดยการจำหน่ายในยุโรป อเมริกาเหนือ และจีน มีจำนวน 1,140 ล้านเส้น หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของปริมาณการจำหน่ายยางรถยนต์ทั่วโลก นอกจากนี้ ความต้องการเปลี่ยนยางรถยนต์และอุปกรณ์เสริมในตลาดยางรถยนต์ทั่วโลกฟื้นตัว ภายใต้สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อสูงในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้ยางรถยนต์ของจีนที่มีข้อได้เปรียบในด้านราคาที่คุ้มค่า และยางที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นความนิยม ซึ่งปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติและความนิยมของผู้บริโภคในยุโรปและอเมริกาที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของจีนเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

 

สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มของอุตสาหกรรมยางรถยนต์จีน

 

มณฑลซานตงเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตยางรถยนต์ที่สำคัญของจีน โดยในปี 2548 จีนมีปริมาณการผลิตยางรถยนต์เป็นอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกา โดยยางรถยนต์กว่าครึ่งนั้นผลิตจากมณฑลซานตง ซึ่งเกือบครึ่งของยางรถยนต์ของมณฑลซานตงผลิตจากอำเภอกว่างเหลา ทำให้กว่างเหลาได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งยางรถยนต์ของจีน

 

จีนเป็นประเทศผู้ส่งออกและบริโภคยางรถยนต์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการผลิตยางรถยนต์ของจีน คิดเป็นร้อยละ 33.33 ของปริมาณการผลิตยางรถยนต์ทั่วโลก จากรายงานคาดการณ์การพัฒนาและวิเคราะห์ตลาดอุตสาหกรรมยางรถยนต์จีน เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมฯ มีแนวโน้มของรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 จีนมีบริษัทยางรถยนต์ 16 ราย ที่ติดอันดับ 75 บริษัทยางรถยนต์ที่แข็งแกร่งของโลก อย่างไรก็ดี รายได้รวมจากการจำหน่ายยางรถยนต์ของ 16 บริษัทของจีนนั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 4 ของรายได้จากการจำหน่ายของบริษัทยางรถยนต์ 75 แห่งทั่วโลก และในปี 2566 จีนมีบริษัทยางรถยนต์ 36 ราย ติดใน 75 อันดับของบริษัทยางรถยนต์ที่แข็งแกร่งของโลก มีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของรายได้จากการจำหน่ายของบริษัทยางรถยนต์ 75 แห่งทั่วโลก และในที่นี้ บริษัท ZC-rubber และบริษัท Cheng Shin Tire & Rubber (China) CO.,LTD มีรายได้จากการจำหน่ายติด 10 อันดับแรกของโลก

 

บริษัทยางรถยนต์ของจีนมีความกระจุกตัวไม่สูง หรือไม่ค่อยมีการผูกขาดโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยบริษัทจีนส่วนใหญ่เน้นผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์สำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่บริษัทยางรถยนต์ต่างชาติจะเน้นยางล้อสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่า สำหรับประเภทของยางรถยนต์ ยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ครองสัดส่วนตลาดสูงที่สุด ซึ่งเป็นผลจากนโยบายอุดหนุนรถยนต์พลังงานใหม่ ที่ทำให้มีการซื้อรถยนต์เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เกิดความต้องการด้านคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ที่สูงขึ้น  รองลงมาได้แก่ ยางล้อรถจักร และยางล้อรถบรรทุก

 

วัตถุดิบยางรถยนต์ส่วนใหญ่ผลิตจากยางพารา ยางสังเคราะห์ ลวดเหล็ก ผ้า คาร์บอนแบล็ค และสารอื่น ๆ ทั้งนี้ สัดส่วนของต้นทุนผลิตร้อยละ 35-50 คือ ยางพารา ซึ่งเป็นต้นทุนสูงที่สุด ภาวะความผันผวนของราคายางจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตยางรถยนต์ ขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของราคายางเป็นสัญญาณของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมฯ ในบริบทนี้ บริษัทยางรถยนต์จำเป็นต้องชดเชยผลกระทบของราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นโดยการเพิ่มประสิทธิภาพกลยุทธ์การจัดซื้อ การปรับราคาผลิตภัณฑ์ และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

 

ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา สืบเนื่องจากเศรษฐกิจจีนทยอยฟื้นตัว และอุปสงค์ตลาดต่างประเทศที่สูงขึ้น การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์จึงแข็งแกร่ง โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 บริษัทยางรถยนต์ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ 9 แห่ง มีรายได้และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ บริษัท Shandong Linglong Tyre Co., Ltd. บริษัท GITI บริษัท Jiangsu General Science Technology Co., Ltd. บริษัท Aeolus tyre Co.,Ltd บริษัท Triangle Tyre Co., Ltd และบริษัท Guizhou Tyre Co.,Ltd ที่มีกำไรสุทธิขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของจีนเปลี่ยนถ่ายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ตามข้อมูลจากหนังสือประจำปีของสมาคมอุตสาหกรรมยางจีน ที่ระบุว่าฐานการผลิตยางรถยนต์ทั่วโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากการกีดกันทางการค้าจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายจีนที่ต้องการขยายห่วงโซ่การผลิต โดยเพิ่มความร่วมมือและการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะแนวเส้นทาง Belt and Road Initiative และการผลักดันการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP จึงเป็นผลให้จีนขยายห่วงโซ่การผลิตยางรถยนต์โดยโอนถ่ายไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักของยาง ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโรงงานในต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทจีนได้เริ่มพิจารณาสร้างโรงงานในยุโรปตะวันออก เพื่อการขยายตลาดไปยังทวีปยุโรปด้วยเช่นกัน

 

ปัจจุบัน มีบริษัทยางรถยนต์มากกว่า 10 แห่งในจีน อาทิ Zhongce Rubber, Linglong Tyre, Sailun Tyre, Senqilin, General Motors, Shuangqian Tyre, Pulin Chengshan, Guizhou Tyre, Chaoyang Langma และ Double Star Tyre ที่มาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศกัมพูชา เวียดนาม และไทย เป็นจุดหมายสำคัญ เช่น กัมพูชา โรงงานผลิตยาง General Motor ประสบความสำเร็จในการผลิตและจัดส่งเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่เปิดดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยเร่งเพิ่มการผลิตเต็มกำลังในปี 2567 โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 350 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐและการบริโภคต่อปี และจะใช้ยางธรรมชาติประมาณ 30,000 ตัน โรงงาน Qingdao Doublestar ได้ประกาศว่าจะลงทุน 1.438 พันล้านหยวน (ราว 7.20 ล้านบาท) เพื่อสร้างโครงการยางเรเดียลประสิทธิภาพสูงในกัมพูชา โดยมีกำลังการผลิต 8.5 ล้านหน่วยต่อปี ไทย เช่น Zhongce Rubber, Linglong Tyre, Senqilin ทั้งนี้ GM มีไทยเป็นฐานการผลิตแห่งแรกในภูมิภาคตั้งแต่ปี 2563 กลายเป็นจุดเติบโตที่สำคัญสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท โดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 มียอดขายและคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นสองเท่า โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 196 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นมากกว่า 40%   และ เวียดนาม เช่น Sailun Tyre และ Guizhou Tyre

 

ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

 

  1. ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางรถยนต์รถยนต์ทั่วโลกได้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีการพัฒนาสูงและเข้าสู่ช่วงการพัฒนาที่มั่นคง การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์จีนถือเป็นข่าวดีของห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยางรถยนต์ และแนวโน้มการเปลี่ยนถ่ายห่วงโซ่อุปทานการผลิตยางรถยนต์มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะเป็นประโยชน์กับไทยที่เป็นแหล่งผลิตและส่งออกยางพาราที่มากที่สุดของโลก
  2. ยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตยางรถยนต์ โดยมณฑลซานตงของจีนเป็นแหล่งนำเข้าหลักของยางพาราโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของการนำเข้ายางธรรมชาติทั้งประเทศจีน และจีนมีการนำเข้ายางธรรมชาติจากไทยเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของการนำเข้ายางธรรมชาติจากทุกประเทศ อย่างไรก็ดี แม้อุตสาหกรรมรถยนต์และยางรถยนต์ของจีนจะฟื้นตัวแล้ว แต่แนวโน้มภาพรวมการนำเข้ายางพาราของจีนลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยที่มีแนวโน้มลดลงในทิศทางเดียวกัน (มีเพียงมณฑลหูหนานและเฮยหลงเจียงที่มีแนวโน้มเป็นบวก) อย่างไรก็ดี พบว่า จีนมีการนำเข้าจากสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ ทวีปแอฟริกา เพิ่มมากขึ้น (โกตดิวัวร์ เป็นประเทศที่จีนมีการนำเข้ายางพาราธรรมชาติมูลค่าสูงเป็นอันดับสองรองจากไทย) ทั้งนี้ การส่งออกยางพาราของไทยในปัจจุบันมีการพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก โดยปริมาณการส่งออกยางพาราไปยังจีนคิดเป็น ร้อยละ 38 ของการส่งออกยางพาราไทยไปยังทุกประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการยางพาราไทยจึงยังคงมีโอกาสในการส่งออกยางพารามายังจีนได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะตลาดจีนยังคงมีความต้องการอีกมาก จากอุปสงค์รถยนต์พลังงานใหม่ที่ขยายตัว และการคมนาคมขนส่งที่ฟื้นตัว
  3. ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งรองรับการขยายกำลังการผลิตยางของจีน เป็นตลาดที่สามารถเพิ่มโอกาสการส่งออกยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากเวียดนามและกัมพูชายังสามารถผลิตยางได้น้อยเมื่อเทียบกับไทย ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการส่งออกยางพาราของไทยไปกัมพูชาที่แม้จะมีปริมาณและมูลค่าไม่สูงมาก (ช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 ปริมาณราว 8.13 พันตัน มูลค่า 389 ล้านบาท) แต่พบว่ามีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

แหล่งที่มา

https://www.chinairn.com/hyzx/20240116/140829557.shtml

https://www.yicai.com/news/101867104.html

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

thThai