เทรนด์อาหารที่จะมาแรงในปี 2567

การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง International Food Information Council (IFIC) หรือ สภาข้อมูลอาหารนานาชาติ ได้นำเสนอการคาดการณ์แนวโน้มอาหารในปี 2567 โดยรวบรวมข้อมูลจากทีมผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร โภชนาการและสุขภาพ ผนวกกับข้อมูลเชิงลึกจากการสำรวจจากผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ พบว่าแนวโน้มความนิยมด้านอาหารในปี 2567 มี 7 ด้านสำคัญ ดังนี้

  1. อาหารที่มีผลต่อจิตใจผู้บริโภค

Wendy Reinhardt Kapsak ประธานและผู้บริหารของ IFIC กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความเชื่อมากขึ้นว่า อาหารที่รับประทานไม่เพียงส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย แต่ยังมีผลต่ออารมณ์และจิตใจของผู้บริโภคด้วย พบว่าในปัจจุบัน ผู้บริโภคไม่เพียงแต่ต้องการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเท่านั้น แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เมื่อเลือกรับประทานอาหารตามประโยชน์ที่ร่างกายต้องการมากขึ้น ส่งผลให้ผู้รับประทานรู้สึกดีต่อตัวเองอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่มีธัญพืชมากขึ้น เพราะต้องการแร่ธาตุและวิตามิน ผู้บริโภคเลือกดื่มเครื่องดื่มมัทฉะเพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือเลือกรับประทานอาหารที่ทำมาจาก Plant-based มากขึ้น เพราะผู้บริโภคเห็นว่าดีและมีประโยชน์ต่อทั้งร่างกาย จิตใจและสภาพแวดล้อม ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการรับประทานอาหารที่ช่วยส่งเสริมด้านสุขภาพและอารมณ์มากขึ้น และวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ อาทิ พืชสมุนไพร ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล มักจะพบได้บ่อยในเครื่องดื่มประเภทชา น้ำหมักและอาหารในบางชนิด

2.อาหารที่ช่วยในเรื่องของการปรับสมดุลในร่างกายพร้อมทั้งให้ความสดชื่น

อาหารที่ช่วยในเรื่องของการปรับสมดุลในร่างกายและเพิ่มความสดชื่น ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา เทรนด์เครื่องดื่มสปาร์คกลิ้งรสผลไม้เกิดขึ้นมากมาย โดย #WaterTok ได้รับการกล่าวถึงมากกว่า 960 ล้านครั้งบน TikTok อีกทั้งแบรนด์น้ำดื่มได้มีการเปิดตัวน้ำดื่มแบบพรีเมียมมากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ

IFIC คาดการณ์ได้ว่าในปี 2567 เครื่องดื่มที่ช่วยปรับสมดุลและเพิ่มความสดชื่นในร่างกายจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไป ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มที่ไม่มีคาเฟอีน ที่ช่วยในเรื่องของการนอนหลับได้ดีขึ้น  และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของพรีไบโอติกและโปรไบโอติกเพื่อสุขภาพของลำไส้มากขึ้น

IFIC ได้สำรวจข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโปรไบโอติกที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันพร้อมปรับสมดุลลำไส้ พบว่า 1 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เคยบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโปรไบโอติก เพราะต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ

3.โปรตีนจากพืชที่มาในรูปแบบของขนมทานเล่น

โปรตีนจากพืชไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การนำโปรตีนจากพืชมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสารอาหาร (protein-fortified products) และโปรตีนสแน็ค หรือของว่างที่เน้นโปรตีนถือเป็นเทรนด์ใหม่ ปัจจุบันผู้บริโภคคุ้นเคยกับการบริโภคอาหารที่ทำจากพืชมากขึ้น และจะมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่ทำจากพืชมากขึ้น รวมทั้งอาหารทะเล ที่มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต

 

 

 

 

 

 

IFIC ได้สำรวจพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกัน พบว่า 18% เลือกรับประทานอาหารอย่างมีสติ 17% เลือกรับประทานอาหารจากการนับแคลอรี่ 12% เลือกรับประทานอาหารจากความสะอาด และ 12% รับประทานอาหารในรูปแบบ Intermittent Fasting (IF) คือ การจำกัดเวลาในการรับประทานอาหาร

Alyssa Pike ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารด้านโภชนาการของ IFIC กล่าวว่า ผู้บริโภคมีความสนใจเรื่องอาหารที่มีโปรตีนเพิ่มมากขึ้น และหาโอกาสในการรับประทานได้ทุกช่วงเวลา

 

4.อาหารที่ประกอบด้วยส่วนผสมจากแหล่งวัฒนธรรมที่สาม (third-culture cuisine)

Third-culture cuisine คืออาหารที่ประกอบด้วยส่วนผสมจากแหล่งวัฒนธรรมที่สาม หรืออาหารที่มีวัตถุดิบและส่วนผสมที่หลากหลาย และอาหารที่เรียกว่า ฟิวชั่น จะมีความใส่ใจถึงรสชาติ เอกลักษณ์ทางวัฒธรรมทางอาหารมากขึ้น ที่ผสมผสานวัตถุดิบ วิธีการทำอาหาร หรือเทคนิคจากต่างสัญชาติหรือวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ในปี 2567 คาดการณ์ว่าผู้บริโภคได้เห็นอาหารจากวัฒนธรรมที่สามเพิ่มมากขึ้น (third-culture cuisine) ชาวอเมริกันได้ลิ้มลองอาหารที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่รับประทานภายในร้านอาหารไปจนถึงศึกษาการทำอาหารเองที่บ้านจากตำราอาหาร

5.ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีฉลากชัดเจนส่งต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

ในปี 2567 คาดว่าผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร จะมีการเน้นย้ำเรื่องการติดฉลากอาหารที่โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้รับข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่พวกเขาบริโภค ฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีการให้ข้อมูลความรู้ทางโภชนาการอย่างชัดเจน ช่วยให้ผู้บริโภคได้เปรียบเทียบสินค้าเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อ และบริโภคอาหารตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายและสุขภาพ

กฎระเบียบข้อบังคับฉบับใหม่เกี่ยวกับฉลากบนผลิตภัณฑ์อาหารของ FDA กำลังทำให้ชาวอเมริกันรับรู้ถึงการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น จากการสำรวจของ IFIC ผู้บริโภคนิยามอาหารเพื่อสุขภาพ ดังนี้ 37 % ของผู้บริโภคจากแบบสำรวจกล่าวว่าอาหารเพื่อสุขภาพอยู่ที่ความสด 32% มีส่วนประกอบของน้ำตาลต่ำ และ 29 % ต้องเป็นอาหารที่มีแหล่งรวมของโปรตีน

ข้อมูลอ้างอิง https://www.fda.gov/food/food-labeling-nutrition/changes-nutrition-facts-label

6.AI มีบทบาทต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหาร

ผู้บริโภคอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น พวกเขาสามารถเข้าถึงและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ โภชนาการและศึกษาว่าอาหารที่รับประทานนั้นปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่ ได้ง่ายกว่าในอดีต  ในยุคปัจจุบัน AI เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ChatGPT หนึ่งในรูปแบบของโปรแกรมแชตบอต AI ที่สามารถใช้งานและตอบโจทย์ได้ทุกคำถามหรือข้อสงสัยจากผู้ใช้ได้ โดย ChatGPT สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ ช่วยในเรื่องของการวางแผนมื้ออาหาร และ

ปรับปรุงนิสัยการกินของผู้ใช้โปรแกรมได้

7.เทรนด์อาหารบนโซเซียลมีเดีย

เทรนด์อาหารว่างและการทำอาหารตามโซเชียลมีเดียยังคงอยู่ในปี 2567 จากข้อมูลการสำรวจของ IFIC เกี่ยวกับอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่มีต่อผู้บริโภคชาวอเมริกัน พบว่า 51% มีการทดลองสูตรอาหารใหม่ 42% ได้ลองแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ 29% ได้ลองร้านอาหารใหม่ 28% กลับมาทบกวนอีกครั้งถึงอาหารที่พวกเขารับประทานไป และ 6 ใน 10 กล่าวว่าพวกเขาตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นโดยเป็นผลมาจากข้อมูลที่พวกเขาเห็นบนโซเชียลมีเดีย

ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก

ชาวอเมริกันกำลังตื่นตัวกับอาหารที่นอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลที่ดีต่ออารมณ์ของพวกเขาอีกด้วย ความหลากหลายของการบริโภคอาหารของชาวอเมริกันส่งผลให้โอกาสในการเติบโตของผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อการส่งออกยังคงมีช่องทางในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาและผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค อาทิเช่น ขนมท่านเล่นที่ทำมาจากโปรตีนจากพืช เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสมุนไพรที่ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ น้ำดื่มรสผลไม้ที่ช่วยเพิ่มความสดชื่น และอาหารไทยแช่แข็งในรูปแบบฟิวชั่น เพื่อหาช่องทางการเจาะตลาดในสหรัฐฯ มากขึ้น

ข้อมูลอ้างอิงจาก:

https://foodinsight.org/food-trends-2024/

สคต. นิวยอร์ก เดือนมกราคม 2567

 

thThai