ข้อมูลจากสำนักงานสถิติสิงคโปร์ (Department of Statistics) ระบุว่า ในปี 2566 สัดส่วนจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ต่อจำนวนประชากรอายุ 20-64 ปี ในสิงคโปร์ได้ปรับลดลงเรื่อยๆ จากในปี 2533 อัตราส่วนอยู่ที่ผู้สูงอายุหนึ่งคนต่อวัยทำงาน 10.5 คน ในขณะที่ในปี 2566  อัตราส่วนอยู่ที่ผู้สูงอายุหนึ่งคนต่อวัยทำงาน 3.7 คน และสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น 17.3% แสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้สูงอายุในสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบหนึ่งในสี่ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2573

ข้อมูลจาก Aging Asia ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพในเศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) ที่ใหญ่ที่สุดโดยประชากรผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์จะมีความสามารถในการใช้จ่าย หรือจะได้รับเงินสนับสนุนจากบุตรหลาน และคาดว่า เศรษฐกิจผู้สูงวัยในสิงคโปร์จะมีมูลค่าสูงถึง 72,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 ดังนั้น เมื่ออายุเฉลี่ยของประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงก่อให้เกิดโอกาสสำหรับธุรกิจในสิงคโปร์ด้านสินค้าและบริการสำหรับการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการรักษาผู้ป่วยสูงอายุ ธุรกิจสินค้ากลุ่มความงาม ที่พักอาศัย การเดินทาง การท่องเที่ยว และการวางแผนทางการเงินระยะยาว เป็นต้น

ผู้สูงอายุในสิงคโปร์เริ่มมีกรอบความคิดและทัศนคติต่อการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป เนื่องจากเป็นกลุ่มคนรุ่น Baby Boomer กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 60-75 ปี ที่ได้รับการศึกษาที่ดีกว่า มีเงินออมมากกว่า และมีความรู้ในการมองหาสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นสำหรับเศรษฐกิจผู้สูงวัย โดยกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากเป็นอันดับหนึ่ง เพราะมีแนวโน้มที่จะยังทำงานต่อ และยังคงมีส่วนร่วมกับชุมชนในวัยชรา จึงเป็นโอกาสในการเติบโตของสินค้าหรือบริษัทที่ดูแลและให้บริการด้านสุขภาพ

ผลิตภัณฑ์ดูแลผู้สูงอายุมีความหลายหลายมากขึ้น จากการที่ตลาดสินค้าเกี่ยวกับผู้สูงอายุเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเกิดการพัฒนาเชิงลึกในสาขาเฉพาะทางอีกด้วย บริษัทหลายแห่งออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ชวยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองง่ายขึ้น เช่น กรรไกรตัดเล็บพร้อมแว่นขยาย ตะขอซิป และช้อนที่งอได้ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถแต่งตัว และทานอาหารได้ด้วยตัวเอง สำหรับสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารควรจะตอบสนองผู้สูงอายุได้ด้วยผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปรับตกแต่งรสชาติ เนื้อสัมผัส คุณค่าทางโภชนาการ และสะดวกในการเตรียมอาหาร ตัวอย่าง เช่น บริษัทสตาร์ทอัพ SilverConnect ภายใต้แบรนด์ GentleFoods ได้พัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารบดปั่นในรูปทรงอาหาร สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืน เช่น ปลา ไก่ ผักบดพร้อมรับประทาน หรือขนมของชาวสิงคโปร์อย่าง ทาร์ตสัปปะรดบด และขนม Ang Ku Keuh เป็นต้น บริษัท Kosmode Health ได้ผลิตบะหมี่ไร้แป้ง สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยใช้โปรตีนและไฟเบอร์จากเมล็ดข้าวบาร์เลย์

การนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือผู้ป่วยสูงอายุ รายงานจาก Research and Markets คาดการณ์ว่า ตลาดเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุจะเติบโตสามเท่าในอีก 7 ปีข้างหน้า และภายในปี 2573 จะมีมูลค่าสูงถึง 82,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ระบุว่า ผู้สูงอายุประมาณ 100,000 คน จะต้องการความช่วยเหลืออย่างน้อย 1 กิจกรรมต่อวัน ดังนั้น หลาย ๆ บริษัทในสิงคโปร์ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์สมาร์ทโฮม เพื่อช่วยในเรื่องการดูแล/แก้ปัญหาด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น บริษัทเทคโนโลยีด้านสุขภาพ Jaga-Me และ Homage ได้ทำการจับคู่ผู้ป่วยสูงอายุกับคนดูแลผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ บริษัทสตาร์ทอัพอย่าง SmartPeep และ SoundEye ได้ใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับเมื่อผู้สูงอายุล้มลง และทำการแจ้งเตือนเพื่อขอความช่วยเหลือเมื่อผู้ป่วยตกอยู่ในอันตราย แบรนด์สิงคโปร์ Tetsuyu ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ให้ผู้ดูแลสามารถใช้ติดตามบาดแผลของผู้ป่วยสูงอายุ และสัญญาณชีพจากอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตใดก็ได้ เป็นต้น

ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ในปัจจุบัน ทางเลือกสำหรับกลุ่ม Assisted Living ยังมีค่อนข้างน้อยในสิงคโปร์ และส่วนมากจะเจาะกลุ่มไปยังลูกค้าระดับบน จึงยังมีโอกาสสำหรับธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการความดูแลช่วยเหลือ (Assisted Living) และบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุ

สิงคโปร์มีโครงการริเริ่ม HDB Smart Enabled Home โดยมีเป้าหมายในการยกระดับชีวิตประจำวันในที่พักอาศัยผ่านแนวความคิด Smart Living ในส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ Smart Nation ของสิงคโปร์ ซึ่งการนำนวัตกรรมมาใช้กับที่พักอาศัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อกับชุมชม และเพิ่มปริมาณบ้านพักคนชรา ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในโอกาสสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

       การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น ตั้งแต่กลุ่มอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุ อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย อุปกรณ์เสริมเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น อุปกรณ์ติดตั้งในห้องน้ำ/บ้าน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงบริการดูแลผู้สูงอายุ เทคโนโลยีสำหรับการดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ เป็นต้น

ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะขยายตลาดออกมาสู่สิงคโปร์ ควรศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมาย เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งศึกษากฎระเบียบ/ข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.cnbc.com/2023/10/30/as-singapores-aging-population-grows-businesses-court-older-spenders.html

https://sbr.com.sg/healthcare/in-focus/4-investment-opportunities-stemming-singapores-ageing-population

https://www.singstat.gov.sg/modules/infographics/old-age-support-ratio

https://www.enterprisesg.gov.sg/resources/Blog/blog/silver-economy-is-the-

 

 

 

 

thThai